*กล้วยรุ่งอรุณ สีสันสดใส...แค่เรื่องกล้วยๆ*


กล้วยรุ่งอรุณ

กล้วยรุ่งอรุณ สีสันสดใส...แค่เรื่องกล้วยๆ

ขอนำเสนอเรื่องกล้วยชนิดหนึ่งที่แปลก และมีความสวยงาม แต่หาไม่ยาก เพราะบ้านเราก็มีให้ เห็นกัน กล้วยชนิดนี้เรียกกันว่า “กล้วยรุ่งอรุณ” หรือ “กล้วยประดับ” หรือ “กล้วยขนแดง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Musa velutina Wendi. &Drude” อยู่ในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย

ต้นกล้วยรุ่งอรุณ เป็นต้นกล้วยขนาดเล็ก แตกเป็นกอ สูงประมาณ 1.5-2 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. กาบลำต้นมีสีเขียวอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานเรียวยาว กาบใบมีความยาว 1-1.5 เมตร ด้านใต้ใบจะมีสีเขียวเข้มกว่าด้านบน เส้นกลางใบจะมีสีเขียวอมชมพู จะออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ซึ่งก็คือ “ปลี” นั่นเอง ปลีกล้วยมีสีชมพูอมม่วง ตั้งตรง ส่วนก้านช่อดอกและช่อดอก มีสีชมพูสด หรือชมพูอมแดง



กล้วยรุ่งอรุณ

กล้วยรุ่งอรุณ

กล้วยรุ่งอรุณ

กล้วยรุ่งอรุณ

ส่วนผลของกล้วยรุ่งอรุณนั้นมีสีชมพูสด มีความยาวประมาณ 7 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. รูปร่างอวบป้อม ออกเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ปลายมน และมีขนอ่อนสั้นๆ สี ชมพูปกคลุม ดูเหมือนกำมะหยี่ เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อผลแก่จัดเปลือกจะแตกออกเองโดยอัตโนมัติเผยให้เห็นเนื้อสีขาว ผลของกล้วยรุ่งอรุณนี้รับประทานได้ แต่ไม่ค่อยมีคนนิยมรับประทาน เนื่องจากมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีสีดำและมีปุ่มอยู่ตรงกลาง การขยายพันธุ์นั้นทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและปลูกด้วยหน่อ

ด้วยสีสันอันสดใสของกล้วยรุ่งอรุณ และขนาดที่ไม่ใหญ่โตนัก ประกอบกับเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในร่มและกลางแจ้ง จึงทำให้ผู้คนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ โดยปลูกในกระถาง ตั้งไว้ภายในบ้าน หรือหากตัดแต่ดอกมาปักแจกันก็จะสามารถอยู่ได้นาน 10-15 วันทีเดียว


กล้วยรุ่งอรุณ

กล้วยรุ่งอรุณ


ชื่นชมกับความแปลกและความงามของ “กล้วยรุ่งอรุณ” กันแล้ว ก็ขอฝากธรรมะเกี่ยวกับกล้วยไว้ให้คิดกันต่อ

ในการสอนธรรมหรือปรารภธรรมแก่ภิกษุนั้น พระพุทธองค์จะทรงยกเรื่องราวต่างๆ มาอุปมาอุปไมยให้เห็นภาพและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ดังเช่นครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงปรารภกับภิกษุถึงเรื่องของพระเทวทัต โดยทรงกล่าวว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นกล้วยเผล็ดผล เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันใด ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันนั้นเหมือนกันฯ”


กล้วยรุ่งอรุณ


สำหรับการสอนเรื่องขันธ์ ๕ ได้ทรงอุปมาว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่งพิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล”



กล้วยรุ่งอรุณ


เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้ามหา.คอม