"วัยทอง" มีความหมายถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้หญิงครั้งใหญ่อีกหนึ่งครั้ง หลังจากเปลี่ยนผ่านมาแล้วในวัยแรกรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายนี้ การรู้จักปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ รวมทั้งสามารถที่จะดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
วัยทองคืออะไร
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี โดยเฉลี่ยอายุ 50 ปี เมื่อถึงวัยนี้ รังไข่จะหยุดทำงาน และไม่มีการตกไข่อีกต่อไป ทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีก ฮอร์โมนเพศหญิงที่ขาดหายไปนี้มีชื่อว่าเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จึงทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมา อาการของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นรู้จักกันโดยทั่วไปว่า เลือดจะไปลมจะมา

อาการของวัยทอง
ประจำเดือนมาน้อยวันและไม่สม่ำเสมอ
ร้อนวูบวาบตามร่างกายโดยเฉพาะส่วนบนของร่างกาย เหนื่อยง่าย ใจสั่นมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน บางคนมีอาการหนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ
ผิวหนังจะบางลง แห้งและเกิดเป็นแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง และผิวหนังเกิดผื่นแพ้ง่าย
เส้นผมจะหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงได้ง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางาม
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อและกระดูก
มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า
นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ
ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น น้ำหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
กระดูกจะบางและเปราะง่าย เวลาหกล้มกระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น

จะดูแลตนเองอย่างไรในวัยทอง
อาหาร สตรีวัยทองควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานพร้อมก้าง ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับประทานจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิค เป็นต้น

ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน

ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density) รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง

ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน
ในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่างๆ มาก หรือตรวจพบความผิดปกติ เช่น กระดูกบาง หรือกระดูกพรุน และมีความจำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมนเพิ่มเติม แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์อย่างไร
การให้ฮอร์โมนทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) ที่มีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นอาจให้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ

ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทน
ลดการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ
ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและชุ่มชื้น ลดอาการผิวหนังอักเสบ ผมจะหนาและดกดำขึ้น
ช่วยเพิ่มระดับของความจำ มีสมาธิมากขึ้น
เพิ่มความหนาแน่นของกระดูกเมื่อได้รับร่วมกับแคลเซียมและมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมกัน ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปในสตรีวัยทองแต่ละคนซึ่งมีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน

ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองแบ่งตามลักษณะการใช้
ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยทอง มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนัง ชนิดแผ่นแปะ

ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนธรรมชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งเป็น
ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen): เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วันหลังจะมีโปรเจสเตอโรนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนหรือวัยหมดประจำเดือนช่วงต้น
ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen): เป็นการให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีประจำเดือน ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนมานานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยทองได้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำหน้าที่หลักควบคุมอวัยวะในระบบเจริญพันธุ์ ทำให้เด็กหญิงเติบโตเป็นสาว มีประจำเดือน และมีบุตร นอกจากนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ คือ กระดูก เส้นโลหิต หัวใจ และสมอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายส่วนใหญ่สร้างมาจากรังไข่ ส่วนน้อยสร้างจากไขมันที่ผิวหนัง รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนตั้งแต่เริ่มเข้าวัยสาวรุ่น ในวัยเจริญพันธุ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับสูง รังไข่จะผลิตฮอร์โมนลดลงเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป และหยุดผลิตเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อายุเฉลี่ยของวัยหมดประจำเดือนในหญิงไทยคือ 45-51 ปี ถ้ารังไข่ทั้งสองข้างได้รับการผ่าตัดออกตั้งแต่ยังไม่เข้าวัยหมดประจำเดือนก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่นเดียวกับการหมดประจำเดือนตามปกติ แต่อาการจะรุนแรงกว่าเพราะฮอร์โมนเพศหญิงหมดไปจากร่างกายทันที เอสโตรเจนที่ใช้ในฮอร์โมนทดแทนมีหลายชนิด ส่วนใหญ่นิยมใช้ชนิดที่ได้มาจากธรรมชาติหรือ Bio-Identical Hormone การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนนั้นอาจใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น รับประทาน เจล แผ่นแปะ หรือสอดช่องคลอด ซึ่งแต่ละรูปแบบแพทย์จะพิจารณาการใช้ตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวและมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมีกลไกสำคัญ คือ โปรเจสเตอโรนสามารถยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ลดการแบ่งตัวของเซลล์ และลดจำนวนตัวรับต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เซลล์เป้าหมาย ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนธรรมชาติมีหลายชนิด ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในผู้ที่ได้รับเอสโตรเจนนั้น ขนาดและระยะเวลาของการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นสิ่งสำคัญ และจะได้รับตามความจำเป็นและเหมาะสม

อาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน
เลือดออกทางช่องคลอด พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่พบได้ในช่วง 3-6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง
อาการเจ็บเต้านม อาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น หลังจากนั้นจะลดลงและหายไป
อาการปวดศีรษะไมเกรน
น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สตรีวัยทองส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายอยู่แล้ว ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุของการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอาหาร การออกกำลังกาย และอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนทดแทนจะให้ในปริมาณต่ำเท่ากับระดับปกติเท่านั้น ไม่มีการให้เกินขนาด ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงมีน้อย


แหล่งที่มา http://www.bumrungrad.com