พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระประธานในอุโบสถ
วัดน้ำผุดเหนือ บ้านน้ำผุด ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง


"วัดน้ำผุดเหนือ" ตั้งอยู่ริมถนนสายตรัง-น้ำผุด หมู่ที่ 1 บ้านน้ำผุด ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง หรืออยู่ห่างจากตัวจังหวัดตรัง ประมาณ 15 กิโล เมตร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน ตามหลักฐานการครอบครองกรรมสิทธิ์ ส.ค.1 เลขที่ 232

อาณาเขต ทิศเหนือ ยาว 4 เส้น 10 วา ติดต่อกับคลองลำภูรา ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ทิศใต้ ยาว 4 เส้น 10 วา โดยมีการก่อสร้างคูน้ำเป็นเขตกั้น ทิศตะวันออก ยาว 5 เส้น โดยมีการก่อสร้างคูน้ำเป็นเขตกั้นเช่นเดียวกัน ทิศตะวันตก ยาว 5 เส้น ติดต่อกับที่ดินของชาวบ้าน

"วัดน้ำผุดเหนือ" สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2346 โดยมี "นายด้วง-นางนวน" เป็นผู้บริจาคที่ดินและสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2465 เขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 20 เมตร และได้ผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.2470

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในอำเภอ เมือง จังหวัดตรัง มีวัดที่ชื่อว่า น้ำผุด อยู่จำนวน 2 วัด ดังนั้น จึงเรียกได้วัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาตาล่วง ว่า "วัดน้ำผุดใต้" และเรียกวัดที่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำผุด แห่งนี้ว่า "วัดน้ำผุดเหนือ" เพื่อมิให้พุทธศาสนิกชนชาวตรังเกิดความสับสน

ทั้งนี้ พื้นที่ตั้งวัดดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนสภาพแวดล้อมก็มีคูคลองโดยรอบ สำหรับอาคารเสนาสนะต่างๆ ที่สำคัญก็มีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดยมีลักษณะโครงสร้างเป็นเสาคอนกรีต ส่วนเครื่องบนเป็นไม้

นอกจากนี้ ยังมีหอสวดมนต์ ขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 20.50 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2480 โดยมีลักษณะโครง สร้างเป็นเสาคอนกรีต ส่วนเครื่องบนเป็นไม้ รวมทั้งยังมีกุฏิสงฆ์หลังใหญ่ จำนวน 1 หลัง ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 ซึ่งนับว่ามีความเก่าแก่อย่างมาก จนได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร โดยมีลักษณะโครงสร้างเป็นอาคารไม้เสาคอนกรีต ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร

สำหรับปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดน้ำผุดใต้ คือ พระพุทธรูปประธาน ในอุโบสถ ปางสมาธิ ขนาดพระเพลากว้าง 1 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2473 หรือมีอายุยาว นานมาถึง 81 ปีแล้ว พร้อมกับพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ อีกจำนวน 10 องค์ ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนตำบลน้ำผุดและใกล้เคียง

โดยวันสงกรานต์ของทุกๆ ปี พุทธศาสนิกชนจำนวนมากมาย จะร่วมเดินทางมารวมตัวกันที่วัด เพื่อประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปประธาน ส่วนวันปกติทั่วไปก็จะมีผู้คนที่ให้ความเคารพ เดินทางมากราบไหว้ขอพรเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขอยู่เป็นประจำมิได้ขาด อันเนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปนั่นเอง

นอกจากนี้ ใกล้กับพระพุทธรูปประธาน ยังมีการสร้างรูปเหมือนองค์จำลองของ พระครูปาน หรือ "หลวงพ่อปาน" เจ้าอาวาสรูปที่ 7 ไว้เคียงข้างด้านซ้ายมือ ซึ่งถือเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวจังหวัดตรัง ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากผู้ใดที่ต้องการสมปรารถนา ให้บนบานสานกล่าวด้วยประทัด ก็มักจะสมหวังตามคำอธิษฐานที่ตั้งใจเอาไว้ ถือเป็นวัดดีอีกแห่งหนึ่งที่ควรรำลึกถึง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)


พระพุทธสิหิงค์มิ่งมงคลตรัง พระพุทธรูปประจำจังหวัดตรัง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

"พระพุทธสิหิงค์มิ่งมงคลตรัง" เป็นพระ พุทธรูปประจำจังหวัดตรัง ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรแบบขนมต้ม ประดิษฐานบนฐาน 5 ชั้น หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.84 เมตร

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 โดยจำลองแบบมาจากภาพถ่ายของพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมที่สูญหายไป มีขนาดใหญ่กว่าองค์เดิม

ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาพระพุทธสิหิงค์ สวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์

กล่าวกันว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อหุ้มทอง ปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งได้สร้างขึ้นไว้ ต่อมาเจ้านครศรีธรรมราช ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุง ศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมือง ขึ้น

จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชร และที่เชียงราย

เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่เชียงใหม่ พร้อม กับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ ได้เมื่อ พ.ศ.2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310 ชาวเชียงใหม่ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ข้างพม่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่

ครั้น มณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตน โกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท จึงได้โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่ บ้านคู่เมืองของไทย มี อยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม� นครศรีธรรมราช ฯลฯ แต่ละองค์มีตำนานแตกต่างกันที่ตรงกัน คือ มีที่มาจากลังกา

สังเกตได้ว่าเมืองที่มีพระพุทธสิหิงค์ส่วนใหญ่ เคยเป็นเมือง ที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง เมืองตรังนั้นเป็นเมืองท่า เป็นหนึ่งในเส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาสู่อาณาจักรไทย จากตรังแล้วต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุง ก่อน ขยายไปสู่เมืองอื่น

พระพุทธสิหิงค์ตรังองค์ต้นแบบ มีขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหัวถนน จ.ตรัง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ได้สูญหายไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2526 เหลือไว้เพียงตำนานเล่าขาน เป็นสิ่งเตือนใจ ชาวเมืองตรังให้ตระหนักถึงการดูแลรักษาและหวงแหนมรดกอันล้ำค่าของแผ่นดินมิให้สูญหาย







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อแสนทอง
พระประธานในพระอุโบสถ วัดมณีบรรพตวรวิหาร
(วัดเขาแก้ว) ต.หนองหลวง อ.เมือง จ.ตาก


“หลวงพ่อแสนทอง” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเมืองตาก
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน สิงห์สาม
ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดมณีบรรพตวรวิหาร
หรือวัดเขาแก้ว ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก

พระครูเมธีวรคุณ (พระมหาฉลวย กาญจโน)
เจ้าอาวาสวัดมณีบรรพตวรวิหาร เล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๗๘ ปีก่อน
สมัยที่ พระครูรัตนวาสพิพัฒน์ (หลวงพ่อห้อน อินทสโร)
ขณะเจริญกรรมฐานภายในวัด ได้มีนิมิตถึงองค์พระพุทธรูป
ตั้งอยู่ในวิหารร้างเมืองโบราณแห่งหนึ่งชื่อว่า “เมืองตื่น”
อยู่ในป่าทางเหนือของเขื่อนภูมิพลในปัจจุบัน
มีพญาเสือ ๒ ตัว คอยปกป้องดูแลพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ไม่ไกล

จากนั้นพระพุทธรูปได้เปล่งแสงลอยข้ามฟ้าจากป่าเมืองร้าง
มาลอยวนเหนือตัวเมืองตาก และมาหยุดสถิตอยู่เหนือเขาแก้ว
ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดมณีบรรพตวรวิหาร (วัดเขาแก้ว)
เป็นเช่นนิมิตหมายว่าจะเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองตากสืบไป

หลวงพ่อห้อน พระเกจิดังเมืองตาก จึงสืบหาเมืองร้างดังกล่าวว่ามีอยู่จริง
รวบรวมสานุศิษย์ประมาณ ๑๕ คน เดินทางด้วยเท้า เข้าป่าเหนือลำแม่น้ำปิง
และต้องถ่อแพไปตามลำห้วยแม่ตื่น ลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง เข้าป่าลึก
หานานกว่า ๒๐ วัน จึงค้นพบ “เมืองตื่น” เมืองโบราณที่ถูกทิ้งร้าง
มาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีวิหารร้างสภาพปรักหักพัง

ภายในมีพระพุทธรูปทองสำริด ลักษณะดังเช่นที่หลวงพ่อนิมิตถึง

จากนั้นคณะจึงได้อัญเชิญ และล่องแพมาตามลำน้ำแม่ตื่น เกิดแพแตก
ทำให้องค์พระพุทธรูปจมน้ำและต้องดำน้ำงมขึ้นมาใหม่ถึง ๓ ครั้ง
ใช้เวลาเดินทางล่องมาตามลำน้ำแม่ปิงถึง ๗ วัน ๗ คืน ผ่านอุปสรรคนานานัปการ

กระทั่งมาถึงท่าโพธิ์ ชุมชนตัวเมืองตาก (ปัจจุบันท่าโพธิ์ได้ถูกถม
สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อขยายตัวเมือง สภาพเป็นถนนร้านค้า
ช่วงบริเวณหน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาตาก) ซึ่งเป็นเวลารุ่งเช้า
แสงอาทิตย์จับต้องที่องค์พระสะท้อนแสงสีทองงดงาม

คณะอัญเชิญและชาวเมืองตากที่รอรับ ได้พร้อมใจตั้งชื่อ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากเมืองตื่น เมืองโบราณ ว่า
“หลวงพ่อแสงทอง” ต่อมา เรียกเพี้ยนเป็น “หลวงพ่อแสนทอง”

พระครูเมธีวรคุณ เล่าอีกว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแสนทองนั้น
สมัยก่อนมีขโมยลักลอบเข้ามาจะตัดเศียรพระ ด้วยระบบป้องกันการโจรกรรมยังไม่ดี
และพระอุโบสถยังมิได้มีการล็อกกุญแจประตูแต่อย่างใด

พวกหัวขโมยได้เข้าไปภายในโบสถ์ เตรียมลักพระพุทธรูปหลวงพ่อแสนทอง
แต่ปรากฏว่าเกิดปาฏิหาริย์ มองไม่เห็นหลวงพ่อแสนทอง
ลักได้ไปแต่พระพุทธรูปใหม่ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน
เป็นเช่นนี้หลายครั้ง จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการติดตั้งสัญญาณกันขโมยอย่างดี
รวมทั้งมีพระเณรเฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง

และเมื่อกว่า ๒๐ ปี เกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้งในเขตตัวเมืองตาก
คนเฒ่าคนแก่ที่มาปฏิบัติธรรมได้นิมิตถึงหลวงพ่อแสนทอง ว่าจะต้องนำ
องค์ท่านแห่รอบเมืองเพื่อให้ชาวตากสรงน้ำเพื่อสักการะและปัดเป่าเภทภัย
ดังนั้น ทุกวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี จะมีการอัญเชิญหลวงพ่อแสนทอง
ออกไปแห่รอบเมือง
ให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลสืบมา

สำหรับ วัดมณีบรรพตวรวิหาร เดิมเรียกว่า วัดเขาแก้ว
ตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัดที่เป็นภูเขา
และมีหินลักษณะแก้วสีขาว หรือหินเขี้ยวหนุมานเป็นจำนวนมาก


สันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ดังมีความปรากฏตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ว่า
ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธรูปที่วัดดอยเขาแก้วและได้ตรัสกับภิกษุที่วัด
ว่า พระองค์ได้เคยกระทำสัตยาธิษฐานเสี่ยงพระบารมีที่วัดแห่งนี้

มีความเข้าใจตรงกันว่าวัดเขาแก้วคงเป็นวัดร้างในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๕ หลวงพ่อเณร หรือชาวบ้านเรียกว่า
ขรัวเณร หรือขรัวตาเณร เป็นผู้ริเริ่มปฏิสังขรณ์วัดและปกครองเป็นรูปแรก
โดยมีฆราวาสที่สร้างวัดและบูรณะตั้งแต่ต้นคือ ท่านเผือก
เศรษฐีเจ้าของตลาดในจังหวัดสุโขทัย ได้ทำการก่อสร้าง
พระอุโบสถและศาลาการเปรียญขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๕

วัดมณีบรรพตวรวิหารได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖
และได้รับสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕










หลวงพ่อทันใจ พระประธานในวิหารหลวงพ่อทันใจ
วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อทันใจ
พระประธานในวิหารหลวงพ่อทันใจ
วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก


“ตะกุตะกะ จายาริโย เอวัง วันตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา”
บทสวดนมัสการ “หลวงพ่อทันใจ” วัดพระบรมธาตุบ้านตาก
ที่สาธุชนผู้เลื่อมใสศรัทธา มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อทันใจ
ว่าหากอธิษฐานขอพรสิ่งใด ล้วนแต่ได้สมดังใจปรารถนาทุกประการ

“วัดพระบรมธาตุบ้านตาก” ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เดิมวัดแห่งนี้เป็นเมืองตากเก่า
ก่อนที่จะมีการย้ายตัวเมืองไปอยู่ที่ ต.ระแหง ตัวเมืองตากในปัจจุบัน
ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
อันมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี
ล่องเรือเสด็จไปเมืองลำพูน หยุดพักบริเวณแห่งนี้ พบว่าเป็นเมืองร้าง
จึงได้สั่งให้มีการฟื้นฟูบูรณะเมืองแห่งนี้ จนกลายเป็นชุมชนเมืองตาก

วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ยังปรากฏในศิลาจารึของพ่อขุนรามคำแหง
ที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะศึกเจ้าเมืองฉอด
บนเนินเขาใกล้กับพระบรมธาตุ ประมาณ ๕๐๐ เมตร


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเขียนเป็นภาษาเหนือ กล่าวไว้ว่า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์ล่องมาตามลำน้ำปิง
พระองค์ได้เสด็จมายัง ดอยมะหิยังกะ ในเขตตัวเมืองตาก
ตรัสกับพระอานนท์ว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่สำราญ ร่มรื่น
หากเราตถาคตปรินิพพานแล้วให้นำอัฐิและเกศากลับมายังดอยมะหิยังกะ


ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน
พระอรหันต์ทั้ง ๔ ได้นำพระบรมสาริกธาตุของพระองค์
พร้อมด้วยเกศาอีก ๔ องค์ มาประดิษฐานยังดอยมะหิยังกะ
แล้วก่อเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมแล้ว นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์
เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

ต่อมา พระครูพิทักษ์พระบรมธาตุ (ทองอยู่) ได้ไปนมัสการพระธาตุชเวดากอง
ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ท่านจึงได้จำมาก่อสร้างองค์พระเจดีย์
เหมือนเจดีย์ชเวดากองล้อมคลุมองค์เก่าไว้ ปิดทองสวยงาม

พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (พาน) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุบ้านตาก
กล่าวถึงประวัติของหลวงพ่อทันใจ วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ว่า
ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นพระลูกวัด พระครูบาตา อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน
ได้ปรึกษากับศรัทธาญาติโยมว่า มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นสัก ๑ องค์
และศรัทธาญาติโยมได้พร้อมใจร่วมกันนุ่งขาว ห่มขาว
เริ่มก่อพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตัก ๓๒ นิ้ว
และลงรักปิดทองคำเปลว ก่อนประกอบพิธีพุทธาภิเษก ๑ วัน กับ ๑ คืน เสร็จพอดี


โดยคณะศรัทธาได้ตั้งชื่อว่า “พระเจ้าทันใจ” เพราะทำเสร็จเร็วทันใจ
ต่อมามีญาติโยมได้มาตั้งจิตอธิษฐาน ขออะไรก็ได้สมความปรารถนา
ทุกสิ่งทุกประการ นับเวลาจนปัจจุบันประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ นายทิพย์ หิงคานนท์ อดีตข้าราชการครู
หลังเกษียณอายุราชการ ได้ล้มป่วยลงอาการหนักมาโดยตลอด
จึงได้มาสักการะพระบรมธาตุ และอธิษฐานต่อองค์หลวงพ่อทันใจ
ขอให้หายป่วย มีสุขภาพดีแข็งแรง จะกลับมาทอดกฐินที่วัดแห่งนี้ ๑๕ ปี

ปรากฏว่า เป็นจริงดั่งคำอธิษฐาน อาการเจ็บป่วยของนายทิพย์ทุเลาลงตามลำดับ
และในปี พ.ศ.๒๕๒๐ จึงมาทอดกฐินพร้อมคณะญาติชาวจังหวัดชลบุรี
ต่อเนื่องจนครบ ๑๕ ปี และต่อมาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งนายทิพย์ได้ถึงแก่กรรมในวัย ๘๙ ปี
แต่ความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทันใจยังคงแพร่ขยายไปทั่วสารทิศ
เช่น นักฟุตบอลทีมชาติไทย เคยยกทีมมาไหว้แก้บนเมื่อหลายปีก่อน,
บรรดานักการเมืองระดับชาติ, นักธุรกิจใหญ่
ต่างเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อทันใจ เดินทางมาแก้บนตามที่ได้อธิษฐานไว้


หลวงพ่อทันใจ ไม่เพียงแต่ดลบันดาลในเรื่องหน้าที่การงาน
ธุรกิจ การค้าขาย สำเร็จไปด้วยดีเท่านั้น
ยังรวมไปในเรื่องของความรัก คู่ครอง และขอบุตร-ธิดา

โดยเครื่องบูชาหลวงพ่อทันใจ จะเป็นกล้วย ส้ม ผลไม้ตามฤดูกาล
ส่วนของไหว้ประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด ห้ามนำเข้ามาถวาย
และห้ามนำเข้าเขตพัทธสีมาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นไข่ต้มสุกอย่างเดียว

ส่วนการเสี่ยงทายความสำเร็จ มีช้างเสี่ยงทาย ใช้นิ้วก้อยยกสำหรับผู้ชาย
และนิ้วนางสำหรับผู้หญิง ทำนายดวงชะตา หากสำเร็จครั้งแรกขอให้ยกขึ้นทันที
และอธิษฐานยกใหม่อีกครั้ง ขอให้ยกไม่ขึ้น
หากคำทำนายดีสำเร็จดังหมาย ซึ่งก็สมปรารถนาดังใจทุกประการ








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อปากแดง
วัดพราหมณี ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก

“นครนายก” เดิมมีชื่อว่า “บ้านนา” เล่ากันว่า
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน
ทำนาหรือเพาะปลูกอะไร ไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม
ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนที่นี่กลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมา พระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือดร้อนของชาวเมือง
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกภาษีนาเพื่อจูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิม
ทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่
และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า “เมืองนายก”

นครนายกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ
ประมาณ ๑๐๗ กิโลเมตร ตามถนนเลียบคลองรังสิต
สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี
มีหลักฐานแนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร

แต่ชื่อนครนายกนั้น ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ว่าเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล
นครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทน

“วัดพราหมณี” ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดนครนายก
ตั้งอยู่ที่ ถ.สาริกา-นางรอง หลักกิโลเมตรที่ ๔ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ปัจจุบันนี้มีอายุ ๑๐๐ กว่าปีแล้ว

วัดพราหมณี มีพระประธานศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง
มีชื่อว่า “หลวงพ่อปากแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์
หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว สูง ๑ เมตร เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง จีวรเป็นลายดอกพิกุล
พระโอษฐ์แย้มทาสีแดงเห็นชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อปากแดง”

สิ่งที่เด่นสะดุดตาของพระประธานในอุโบสถ “หลวงพ่อปากแดง”
คือ ที่ปากของหลวงพ่อมีสีแดงสด เหมือนมีผู้นำลิปสติกไปทาไว้
ผู้เฒ่าผู้แก่ย่านนั้นยืนยัน ว่าเห็นปากท่านแดงแบบนี้มาตั้งแต่เกิด
แม้แต่ปู่ย่าตายายของผู้เฒ่าเหล่านี้ก็บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

พระสุธีพรหมคุณ หรือ “หลวงพ่อตึ๋ง สุภาจาโร” เจ้าอาวาสวัดพราหมณี
เล่าว่าตามตำนานเล่าขานเชื่อกันว่า หลวงพ่อปากแดง เป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ
หลวงพ่อพระสุก และหลวงพ่อพระใส
ที่ประดิษฐานอยู่ที่ จ.หนองคาย ในปัจจุบัน
ที่ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ครั้นพอมาถึงประเทศไทย
ชาวบ้านได้แยกย้ายไปตามวัดต่างๆ ส่วน “หลวงพ่อปากแดง” นั้น
ถูกชาวบ้านอัญเชิญและนำมาหยุดยังพื้นที่ว่างบริเวณที่เป็นวัดพราหมณีปัจจุบันนี้
จากนั้นก็ลงมือสร้างวัดแล้วก็อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นเป็น พระประธานในอุโบสถ

ซึ่งต่อมา “หลวงพ่อปากแดง” ก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ของชาวจังหวัดนครนายกจนถึงทุกวันนี้ โดยความเชื่อของประชาชนนั้น
ประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวน้ำตกสาริกา จะต้องแวะกราบสักการบูชา
พร้อมกับบนบานด้วยกล้วยน้ำว้า ๙ หวี, หมากพลู ๙ ชุด,
พวงมาลัย ๙ พวง และน้ำแดง ๑ ขวด กันอย่างล้นหลาม

พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานให้สมความปรารถนาของตัวเอง

วัดพราหมณี ยังคงมีเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
คือ เมื่อครั้งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒
กองทัพญี่ปุ่นได้เลือกบริเวณที่ตั้งของวัดพราหมณีเป็นจุดพักทัพ
ของกองพันทหารที่ ๓๗ ซึ่งมีจุดหมายจะไปรวมพลกันที่บริเวณเขาชะโงก
(ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก)

จึงมีทหารญี่ปุ่นล้มตายอยู่ในเขต จ.นครนายก หลายแห่งด้วยกัน
ปรากฏว่ามีการค้นพบกระดูกของทหารญี่ปุ่นใกล้วัดพราหมณี
ดังนั้น สมาคมทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ ๓๗
จึงได้สร้าง อนุสรณ์สถานไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ณ วัดพราหมณี

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม สร้างเป็นศาลาจตุรมุขเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปปางประทานพร ด้านหน้าพระพุทธรูปเป็นแท่นหินจารึกอักษรญี่ปุ่น
ด้านซ้ายพระพุทธรูปเป็นแท่นหินอ่อน โดยมีการจารึก
ข้อความไว้อาลัย สดุดีความกล้าหาญ และระลึกถึงไว้ที่ฐานพระพุทธรูป

ป้ายจารึกด้านซ้ายของพระพุทธรูป และแท่นหินบูชาหน้าพระพุทธรูป
ดังข้อความโดยสรุปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังนี้

“อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ จัดสร้างโดยสมาคมทหารสหายสงคราม
กองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ เมื่อปี ๒๕๓๒ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณ
ของบรรดาทหารซึ่งสังกัดกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ จำนวน ๗,๙๒๙ นาย
ที่สูญเสียชีวิตในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อปี ๒๔๘๒-๒๔๘๘”


นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวภายในวัด ประกอบด้วย วิหารเจ้าแม่กวนอิม
ซึ่งจัดสร้างโดยกลุ่มนักธุรกิจจากไต้หวัน, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช,
อุทยานการศึกษา มีรูปปั้นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่รอบบริเวณวัด
อาทิเช่น ช้างพันธุ์แอฟริกา, กวาง, ควายป่า เป็นต้น
สวนพักจิตร (สวนต้นไทร) ใช้เป็นที่พักผ่อนทำสมาธิหรือทำกิจกรรมยามว่าง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)
หลวงพ่อปากแดง’ วัดพราหมณี จ.นครนายก

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)
ประตูทางเข้าอุโบสถ วัดพราหมณี จ.นครนายก

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๓)








เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19121
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35
http://www.lanchangimage.org/