กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)

  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชในพระวิหารหลวง

    ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

    พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชในพระวิหารหลวง
    • พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง •
    จังหวัดนครศรีธรรมราช


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    วัดพระมหาธาตุ ว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

    ถือเป็นหนึ่งในข่าวดีของเมืองไทยที่ล่าสุด “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือ “วัดพระมหาธาตุ” จ.นครศรีธรรมราช ได้รับการลงมติรับรองให้วัดพระมหาธาตุ ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่จัดประชุมขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่าแฟ้มข้อมูล (Nomination File) ส่งไปยังศูนย์มรดกโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อผลักดันให้เข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    พระบรมธาตุเมืองนคร สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

    วัดพระมหาธาตุเมืองนคร ตั้งอยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มี “พระบรมธาตุเมืองนคร” หรือ “องค์พระบรมธาตุเจดีย์” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย (หลายคนเชื่อว่ามีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)

    ในปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์ใหม่ทรงศาญจิครอบพระบรมธาตุองค์เดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 1770 มีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์พระบรมธาตุให้เป็นแบบทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำดังที่เห็นในปัจจุบัน


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    วัดพระมหาธาตุยามค่ำคืน มองเห็นองค์พระบรมธาตุเจดีย์เด่นตระหง่าน

    พระบรมธาตุเมืองนคร(ทรงลังกา) มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเขียนขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง

    นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว วัดพระมหาธาตุยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย โดยในหนังสือ “ตามรอยธรรมที่เมืองนคร” ได้คัด 12 สิ่งน่าสนใจในวัดพระมหาธาตุมานำเสนอในหัวข้อ “12 สิ่งควรรู้ ที่พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร และใน 3 พระวิหารที่ไม่ควรพลาด” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราชในพระวิหารหลวง

    พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช : เป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และงดงามด้วยศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตัก 3 วา 1 ศอก 12 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชี พร้อมด้วยพระอัครสาวก ซึ่งเป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานต่างๆ จากที่อื่นๆ เพราะตั้งไว้ค่อนข้างกลางพระวิหาร

    พระเหมชาลาและธนกุมาร : ตั้งอยู่หน้าพระวิหารตรงหน้าซุ้มประตูเยาวราช ตามตำนานระบุว่าพระธนกุมารเป็นเจ้าชายอินเดีย พระนางเหมชาลาเป็นพี่สาวพระธนกุมาร ทั้งคู่เป็นผู้อัญเชิญพระทันตธาตุมายังดินแดนนี้ ก่อนจะอัญเชิญต่อไปยังลังกา โดยได้แบ่งบางส่วนกลับมาประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเมืองนคร


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    ทางเดินในพระวิหารคด

    ซุ้มพระเจดีย์-พระวิหารคด : เป็นซุ้มเจดีย์หน้าทางเข้าวิหารคด ศิลปะศรีวิชัยมีหลายเรือนยอด(แบบเดียวกับพระธาตุไชยา) เชื่อว่าอาจจะเป็นแบบดั้งเดิมขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ส่วนพระวิหารคดนั้นน่ายลไปด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากที่ประดิษฐานอยู่เรียงราย และมีบาตรพระให้ทำบุญกันตามศรัทธา

    http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2707017
    ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ

    ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ : ในวิหารพระม้าที่เป็นบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวา มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวขัตตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    เชื่อว่าการได้ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต

    ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุ : ชาวใต้ต่างเชื่อกันว่าการได้ห่มผ้าพระบฏบูชาพระบรมธาตุถือว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต โดยที่วัดพระมหาธาตุได้มีการจัดงานใหญ่ “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา อย่างไรก็ดีชาวพุทธสามารถมาทำบุญห่มผ้าพระบฏบนลานประทักษิณบูชาองค์พระธาตุในช่วงวาระไหนก็ได้

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    งานปูนปั้นนูนสูงภาพพระม้าในวิหารพระม้า

    ภาพพระม้า : อยู่ในวิหารพระม้าบริเวณฐานข้างบันไดทั้งสองข้าง ภาพพระม้าเป็นขนาดใหญ่ สร้างทำอย่างประณีตสวยงามในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเรื่องราวการละโลกออกแสวงหาทางธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    เส้นทางพระเจ้าตากฯในวิหารทับเกษตร

    เส้นทางพระเจ้าตาก : อยู่ที่วิหารทับเกษตร เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยมาเดินปฏิบัติธรรมที่นี่ ภายในมีพระพุทธรูปยืน-นั่ง ประดิษฐานอยู่มากมาย รวมไปถึงภาพจิตรกรรม รูปเคารพเกจิ ซึ่งหากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามีพระพุทธรูปองค์หนึ่งนิ้วมือข้างหนึ่งมี 6 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าชู้ที่ถูกหลักเสียบไว้พร้อมกับมือที่ถูกตัด เนื่องจากไปแอบลักลอบมีชู้กับภรรยาผู้อื่น

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    พระพุทธรูปปางไสยาสน์ในพิพิธภัณฑ์วิหารโพธิ์ลังกา (ภาพ : ททท.)

    วิหารโพธิ์ลังกา : เป็นวิหารสัญลักษณ์แห่งการตื่นตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มากไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย

    พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุ : ถือเป็นแหล่งรวมของดี ของหายาก(มาก)ประมาณค่าไม่ได้ จัดแสดงไว้ใน 3 วิหารใหญ่ คือ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารคด(ต่อเติม)


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    ขอพรพระมหากัจจายนะ

    พระมหากัจจายนะ : ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระมหากัจจายนะ(วิหารพระแอด) มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “พระแอดเมืองนคร” มีองค์สีทองอร่าม เชื่อกันว่าท่านสามารถดลบันดาลความสำเร็จสารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปเด็กๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวมากมาย

    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    มณฑปพระพุทธบาท

    มณฑปพระพุทธบาท : เป็นมณฑปตั้งอยู่บนเนิน ภายในประดิษฐาน รอยจำลองพระพุทธบาท ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว ตรงบันไดทางขึ้นมีพระบุญมากพระพุทธรูปหินทรายที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านนิยมไปบนบานขอบุตรและโชคลาภ นอกจากนี้บนมณฑปยังเป็นจุดชมองค์พระธาตุในมุมสูงอีกด้วย


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)
    เจดีย์พระปัญญา(ภาพ : ททท.)

    เจดีย์ศิลาในดงหว้า-พระปัญญา : เจดีย์ศิลาในดงต้นหว้าทั้ง 6 ตั้งอยู่ที่ข้างพระวิหารธรรมศาลาด้านหน้า สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวเนื่องกับผู้ทรงศักดิ์ระดับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เชื่อกันว่าอาจจะหนีราชภัยมายัง จ.นครศรีธรรมราช จึงกลายเป็นสถานบูชาถึงพระองค์ท่านมาจนถึงบัดนี้ ส่วนเจดีย์พระปัญญาตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์พระวิหารเขียน มีเรื่องเล่าว่าได้มีการผูกแทงลายห้ามไว้ว่า “ถอยหลังเข้าไปเหล็กในแทงตา หันหน้าออมากาขี้ใส่หัว” แต่มีผู้มีปัญญามาแก้ เพราะเห็นว่าเป็นคำห้ามที่ขาดเหตุผล จึงลองเดินถอยหลังเข้าไปแล้วหันหน้าออกมา จึงได้เห็นกรุสมบัติซ่อนอยู่ในหลืบเฝ้าทางเดิน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดสอยปริศนาธรรมเรื่องกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเชื่อด้วยเหตุประการต่างๆ นอกจากลงมือทำเองแล้วเท่านั้น

    นั่นก็คือ 12 สิ่งน่าสนใจของวัดพระมหาธาตุเมืองนคร ที่มีทั้งสิ่งที่เป็นไฮไลต์หลายคนรู้จักกันดี สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้จัก และสิ่งที่เป็นอันซีนอันน่าสนใจ ซึ่งนี่ถือเป็น 12 สิ่งไม่ควรพลาดสำหรับผู้มีโอกาสได้เดินทางไปกราบไว้สักการะองค์พระบรมธาตุเมืองนคร ที่วันนี้ถือเป็นว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของบ้านเรา


    พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๗)

    ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

    พระพุทธศรีสวรรค์ หรือ “หลวงพ่อศรีสวรรค์”
    พระประธานในพระอุโบสถ วัดนครสวรรค์หรือวัดหัวเมือง
    (พระอารามหลวง) ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

    “พระพุทธศรีสวรรค์” หรือ “หลวงพ่อศรีสวรรค์”
    พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอันเก่าแก่มาแต่โบราณ
    ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าของวัดนครสวรรค์
    (พระอารามหลวง) จ.นครสวรรค์ เชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๗๒

    พระพุทธศรีสวรรค์ เป็นพระพุทธรูปปางสุโขทัย
    กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาหลายร้อยปี ทำให้พระอุโบสถชำรุดทรุดโทรม
    สิ่งปลูกสร้างเครื่องบนหลังคาพระอุโบสถหักพังลงมาทับ
    ทำให้พระพุทธศรีสวรรค์ชำรุดเสียหายมาก
    จึงได้มีการซ่อมแซมพระอุโบสถและบูรณะพระพุทธศรีสวรรค์

    ต่อมาเมื่อปีใดไม่ปรากฏ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถครั้งใหญ่
    และมีพิธีหล่อพระประธานใหม่ โดยเอาโลหะทองเหลือง
    จากองค์พระพุทธศรีสวรรค์องค์เก่ามาเททองหล่อขึ้น
    โดยมีประชาชนจำนวนมากนำเครื่องโลหะทองคำ
    มาร่วมเททองหล่อพระพุทธศรีสวรรค์ ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาเป็นเวลานาน

    ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมมาก
    จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลอง
    ณ วัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมเมืองนครสวรรค์
    และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหลวงพ่อครุฑ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    ซึ่งเดิมอยู่ที่วัดจอมคีรีนาคพรต ให้มาอยู่ที่วัดหัวเมืองหรือวัดนครสวรรค์
    วัดหัวเมืองอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
    พายุพัดอย่างแรงจนทำให้ผนังและหลังคาพระอุโบสถ
    ที่สร้างมานานแล้วพังทับพระประธานจนชำรุดเสียหายมาก

    ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๗๐ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถ
    และพระพุทธศรีสวรรค์ครั้งใหญ่ที่สุด
    โดยมีประชาชนร่วมกันบริจาคทองเหลือง โลหะต่างๆ
    รวมทั้งทองคำนำมาหลอมหล่อเป็นองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    ให้องค์พระมีขนาดใหญ่กว่าเดิม เป็นขนาดหน้าตัก ๒.๕๐ เมตร

    ขณะที่เททองหล่อนั้นช่วงเย็นใกล้ค่ำ
    เกิดมีแสงพุ่งออกมาจากองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    มีลำแสงเป็นสีต่างกันถึง ๖ สี คือ
    ๑. นีล หรือสีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
    ๒. ปีต หรือสีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
    ๓. โลหิต หรือสีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อนๆ
    ๔. โอทาต หรือสีขาวเหมือนแผ่นเงิน
    ๕. มัญเชฐ หรือสีหงสบาทเหมือนดอกเซ่ง หรือหงอนไก่
    ๖. ประภัสสร หรือสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
    สีทั้งหมดเรียกกันว่าฉัพพรรณรังสี แปลว่ารัศมี ๖ ประการ
    อันเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
    นอกจากนี้ ในยามวิกาลดึกสงัดประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้วัด
    จะได้ยินเสียงพิณพาทย์ ปี่ กลองดังออกมาจากพระอุโบสถบ่อยครั้ง
    และ พระราชสิทธิเวที อดีตเจ้าอาวาส อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
    เคยเห็นแสงฉัพพรรณรังสีจากองค์พระพุทธศรีสวรรค์

    จากอภินิหารดังกล่าวและความเชื่อถือศรัทธาในองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    ที่ประดิษฐานอยู่คู่เมืองนครสวรรค์มาช้านานตั้งแต่โบราณมา
    และมักจะมีผู้คนพากันมากราบไหว้บนบาน ขอพร
    ขอโชคลาภจากองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    หรือผู้ที่มีความทุกข์เดือดร้อนก็จะนำเครื่องสักการะมาถวาย
    รวมทั้งบนบานศาลกล่าวขอให้พ้นจากเภทภัย
    พ้นจากความทุกข์ร้อน มักจะประสบความสำเร็จสมปรารถนา

    ทำให้มีการแก้บนด้วยการถวายไข่ต้มบ้าง พวงมาลัยบ้าง
    และที่ขาดไม่ได้คือการแก้บนด้วยละครรำ
    จนทางวัดต้องจัดทำโรงละครไว้ที่หน้าพระอุโบสถ
    เพื่อไว้ให้คณะละครได้แสดงแก้บน
    สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ย้ายมาประจำอยู่ที่เมืองสี่แคว
    ต่างก็ต้องมากราบไหว้บูชาพระพุทธศรีสวรรค์เป็นอันดับแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล

    เรื่องราวปาฏิหาริย์องค์พระพุทธศรีสวรรค์ มีมากมายหลายเรื่องด้วยกัน
    โดยในครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้มีการบูรณะองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    ช่างจากกรมศิลปากรได้ทำการลอกผิวทองและรักที่ปิดองค์พระออก
    ซึ่งจะต้องมีการบวงสรวงขออนุญาต วัดได้เก็บทองและรักที่ลอกออกมาไว้
    และได้นำเอารักทองที่ลอกออกมาไปปิดที่ภาพองค์พระพุทธศรีสวรรค์ขนาดบูชา
    เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปได้เช่าไว้บูชาประจำบ้าน

    มีประชาชนมาขอเช่าบูชาภาพไปจนหมดจากวัดในเวลาอันรวดเร็ว
    เนื่องจากมีนักเลงพระรายหนึ่งได้นำเอารักทองที่ลอกออกมา
    ไปทดลองยิงหลายครั้งปรากฏว่ายิงไม่ออก
    แต่พอหันปากกระบอกปืนไปทางอื่นกลับยิงออก

    อีกปาฏิหาริย์หนึ่ง คือ หลวงพ่อบุญนำ ชิตมาโร
    หลานของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ซึ่งมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดนครสวรรค์
    ได้ขอเศษรักทองที่ลอกออกมาจากองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    แล้วนำไปบดผสมกับผงมวลสารหลายชนิดที่ท่านได้สะสม
    และปลุกเสกสร้างเป็นพระผงพุทธศรีสวรรค์ แบบหยดน้ำใหญ่
    แล้วปลุกเสกเดี่ยวแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาทำบุญที่วัดนครสวรรค์
    ประชาชนผู้ที่ได้รับแจกไปต่างประสบปาฏิหาริย์ต่างกัน
    บ้างก็มีโชคลาภ บ้างก็แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

    ต่อมาหลวงพ่อบุญนำได้สร้างพระผงขึ้นใหม่อีกครั้ง
    ในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๕ รอบ แต่ครั้งนี้เป็นแบบหยดน้ำเล็ก
    ส่วนผสมหลักก็ยังเป็นผงรักทองจากองค์พระพุทธศรีสวรรค์
    ก็ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปจำนวนมาก


    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย lungyai1123; 16-08-2013 at 15:43. เหตุผล: เพิ่มสระอะ

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •