เรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับสามศรีพี่น้อง อารมณ์ อาภรณ์ และอาภา

ครั้งหนึ่งอารมณ์ไปหาหมอดูซึ่งว่ากันว่าทำนายอนาคตได้แม่นยำมาก หมอดูอ่านไพ่สักพักก็บอกว่า "คุณจะมีสุขภาพไม่ค่อยดี เงินทองจะฝืดเคือง ชีวิตครอบครัวจะไม่ราบรื่น หมอว่า คุณจะลำบากไป ๕ ปี" "หลังจากนั้นฉันจะสบายใช่ไหม หมอ ?" อารมณ์ถาม "เปล่า หลังจากนั้นคุณก็จะชินไปเอง" หมอตอบ

เรื่องต่อมาเป็นประสบการณ์ของอาภรณ์ราว ๆ ๓๐ ปีก่อน

ตอนนั้นเธอไปงานทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านเพื่อน หลวงปู่บุดดารับอาราธนามางานนี้ด้วยตนเอง หลังจากฉันเสร็จเจ้าภาพได้นิมนต์หลวงปู่ซึ่งชรามากแล้ว ให้เอนกายพักผ่อนก่อนที่จะเดินทางกลับจังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างนั้นข้างห้องซึ่งเป็นร้านขายของ มีคนเดินใส่เกี๊ยะขึ้นบันไดส่งเสียงดัง อาภรณ์จึงบ่นกับเพื่อน ๆ ซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลจากหลวงพ่อมากนักว่า "แหมเดินเสียงดังเชียว"

หลวงปู่บุดดานั้นแม้นอนหลับตาอยู่

แต่ก็รับรู้ตลอดจึงพูดเตือนเบา ๆ ว่า "เขาเดินของเขาอยูดี ๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง"


เรื่องที่ ๓ นั้นถอยหลังไปไกลอีก ๒๐ ปีสมัย

ที่ทั้ง ๓ คนยังเด็ก คราวหนึ่งแม่กำลังทำครัวอยู่ จึงให้อารมณ์ไปซื้อน้ำปลามา ๑ ขวด อารมณ์รีบวิ่งไปซื้อทันที ขากลับเดินสะดุดหลุมหกล้ม ขวดน้ำปลาหลุดมือ อารมณ์หยิบขวดน้ำปลาเดินกลับบ้าน สีหน้าเศร้าสร้อย บอกแม่ว่า "แย่จัง หนูทำน้ำปลาหกไปตั้งครึ่งขวด"

อาทิตย์ต่อมาแม่ให้อาภรณ์ไปซื้อน้ำมันมา ๑ ขวด

อาภรณ์ซื้อเสร็จ ขากลับเดินสะดุดหิน น้ำมันหกไปครึ่งขวด แต่เธอกลับไปเล่าให้แม่ฟังอย่างยิ้มแย้มว่า "เมื่อกี้หนูหกล้ม แต่ยังดีที่คว้าเอาไว้ได้ทัน มีน้ำมันเหลือตั้งครึ่งขวดแน่ะ"
๒-๓ อาทิตย์ต่อมา ถึงเวรของอาภาบ้าง


เธอไปซื้อน้ำส้มสายชูกลับมาก็บอกแม่ว่า "เมื่อกี้หนูหกล้ม แต่ยังดีที่คว้าเอาไว้ได้ทัน มีน้ำส้มเหลือตั้งครึ่งขวด แต่หนูรับปากว่าต่อไปจะไม่เผลออีก" ว่าแล้วเธอก็กลับไปขุดเอาหินที่โผล่ตามทางเดินออกจนหมด รวมทั้งกลบหลุมที่อาจทำให้ใครต่อใครเดินสะดุดด้วย

ทั้ง ๓ เรื่องนี้แม้จะต่างกัน

แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือเป็นเรื่องของการประสบกับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ปัญหาหรือสิ่งไม่น่าพอใจเมื่อเกิดกับใคร ก็มักจะทำให้ทุกข์ แต่วิธีที่จะทำให้ไม่ทุกข์ ก็มีอยู่ วิธีแรกคืออดทน ไม่ตีโพยตีพาย ไม่นานก็จะปรับตัวได้ พูดง่าย ๆ คือชินไปเอง

อย่างเรื่องแรก

คนเราไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน จิตใจก็มักจะปรับตัวให้คุ้นชินได้เสมอ หากมีเวลาพอ หรือไม่คิดสั้นเสียก่อน มีคาถาหนึ่งที่จะช่วยให้เราทนได้มากขึ้นก็คือ เมื่อหายใจเข้า ให้พูดกับตนเอง "ทนได้" เมื่อหายใจออก ให้พูดในใจว่า "สบายมาก"

วิธีที่ ๒ คือการใช้ตา หู รวมไปถึงจมูก ลิ้น และกาย

ให้เป็น เรื่องนี้โยงไปถึงจิตใจ ความทุกข์นั้นบ่อยครั้งเกิดขึ้นก็เพราะใจเราไม่อยู่สุข ชอบสั่งตาหรือหูให้ไปรับเอาสิ่งไม่ดีมาสร้างปัญหาแก่จิตใจ เสียงนั้นแม้จะดัง แต่ถ้าไม่ฟัง ปัญหาก็ไม่เกิด ใครเขาจะบ่น จะว่า ถ้าไม่สนใจเสียอย่าง จะทุกข์ได้อย่างไร ข้อสำคัญคือต้องรักษาใจให้ดี อย่าปล่อยใจให้เพ่นพ่านออกไปนอกตัวมากนัก จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้มีสมาธิจดจ่าอยู่กับอะไรสักอย่างที่ดี ๆ เช่น เสียงเพลงที่ไพเราะ หรือจดจ่าอยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้

วิธีที่ ๓ ก็คือ มองแง่ดี

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ลองมองให้เห็นแง่ดีของมันบ้าง ไม่มีอะไรที่ไม่มีแง่ดีเลย เจ็บป่วยก็มีแง่ดี คือได้พักผ่อน ได้มีเวลาทำสิ่งที่ชอบ อยู่กับครอบครัว หรือเข้าหาธรรมะ อย่างน้อย ๆ แง่ดีอย่างหนึ่งที่ต้องมีแน่ ๆ ก็คือ ดีที่ไม่หนักกว่านั้น เงินหาย ๑,๐๐๐ บาท ก็ยังนับว่าดีที่ไม่หาย ๑๐,๐๐๐ บาท เวลาถูกคนนินทา ก็ยังดีที่เขาไม่ทำร้ายเรามากกว่านั้น


อย่างไรก็ตามมองแง่ดีอย่างเดียว

คงไม่พอ ต้องลงมือจัดการกับปัญหาหรือป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก การมองแง่ดีทำให้อาภาไม่เป็นทุกข์กับการสะดุดหกล้ม แต่เธอไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หากยังออกไปขุดหินและกลบหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากอีก มองแง่ดีทำให้เราไม่ทุกข์เวลาเจ็บป่วย แต่ก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยอีก เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารให้สมดุลกว่าเดิม เป็นต้น

ความทุกข์นั้น

เราสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นความไม่ทุกข์ หรือเปลี่ยนให้กลายเป็นความสุขได้ สิ่งเลวร้ายไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นกับเรา ใช่ว่าจะทำให้เราทุกข์ไปเสียหมด ก็หาไม่ ทุกข์หรือไม่ทุกข์อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา


ปีใหม่ ใคร ๆ

ก็อยากให้ตนเองประสบสิ่งดี ๆ แต่จะดีกว่านั้นถ้าฝึกตนให้มีความอดทน มีสติ สมาธิ และมองแง่ดี รับรองว่า ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม ก็ยากจะทำให้เราทุกข์ได้ นี้คือหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง