กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย

  1. #1
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30

    อ่านข่าวออนไลน์ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย

    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย


    “มหาตมะมาแล้วก็ไป แต่จัณฑาลถึงอย่างไรก็เป็นจัณฑาลอยู่วันยังค่ำ”

    ในทศวรรษ ๑๙๓๐ จอห์น สติลล์ นักเขียนพเนจรชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตในหนังสือชื่อ The Jungle Tide ว่า “ความทรงจำของมนุษย์นั้นเป็นด้ายที่เปราะบางเกินกว่าจะแขวนประวัติศาสตร์ได้”

    แต่บางครั้ง วีรกรรมของใครบางคนก็ได้รับการถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ถักทอด้ายความจำของปัจเจกจนกลายเป็นผืนผ้าแห่งความทรงจำร่วมกันของสังคมที่แน่นหนา และสะท้อนความจริงอย่างซื่อสัตย์กว่าประวัติศาสตร์ที่จารึกในหน้าหนังสือหรืออนุสาวรีย์ใดๆ

    มหาตมะคานธีอาจเป็นชาวอินเดียที่คนทั่วโลกรู้จักดีที่สุดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่อินเดียคงไม่มีวันทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เลยหากปราศจากชายชื่อ บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ (ค.ศ. ๑๘๙๑-๑๙๕๖) ผู้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่ชาวอินเดียนับล้านคนที่ถูกเพื่อนร่วมชาติหมิ่นแคลนสืบมานานนับพันปี

    ดร. บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ในตระกูลคนอธิศูทร (ชื่อเรียกคนวรรณะจัณฑาล) ที่ยากไร้ตระกูลหนึ่งในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย เป็นบุตรชายคนที่ ๑๔ และคนสุดท้องของนายรามจิกับนางพิมมาไบ สักปาล บิดามารดาตั้งชื่อเขาว่า “พิม”

    แม้จะยากจน นายรามจิกับนางพิมมาไบก็สู้อดมื้อกินมื้อ ทำงานแบกหามสารพัดเพื่อส่งเสียให้เด็กชายพิมได้เรียนจนจบชั้นมัธยม แต่กว่าจะเรียนจบเด็กชายพิมก็ต้องกัดฟันทนพฤติกรรมหยามเหยียดของครูและเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่า ครูและนักเรียนรังเกียจกระทั่งไม่ยอมให้เขา
    นั่งเก้าอี้ พิมต้องไปปูกระสอบนั่งเรียนกับพื้นอยู่มุมห้องทุกวัน ทุกครั้งที่ครูสั่งให้พิมออกมาทำแบบทดสอบหน้าห้อง เพื่อนนักเรียนจะวิ่งไปเอาปิ่นโตและห่ออาหารที่วางไว้บนรางชอล์กกระดานดำออกมา เพราะกลัวว่าเสนียดของพิมจะไปติดอาหารของพวกเขา เวลาที่พิมกระหายน้ำเขาก็ดื่มน้ำจากแก้วตรงๆ ไม่ได้ ต้องวิงวอนขอความเห็นใจจากเพื่อนให้คอยเทน้ำลงในปากของเขา

    โชคดีที่โลกวัยเยาว์ของพิมไม่ได้มีแต่คนใจไม้ไส้ระกำ ครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาต่อพิม คอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้เขารับประทาน ครูผู้นี้เล็งเห็นว่าสาเหตุข้อหนึ่งที่พิมถูกรังเกียจคือ “สักปาล” นามสกุลของเขาซึ่งบ่งบอกความเป็นอธิศูทร จึงไปแก้ทะเบียนที่โรงเรียน เปลี่ยนให้พิมใช้นามสกุลของตนคือ “อัมเบดการ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา นามสกุลใหม่นี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าพิมเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่เขาต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี

    พิมบากบั่นเล่าเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ด้วยผลการเรียนดีเด่น จนมีนักสังคมสงเคราะห์พาเขาเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรดา มหาราชาผู้ประสงค์จะสนับสนุนการศึกษาให้แก่คนอธิศูทร พระองค์พระราชทานเงินทุนจนพิมเรียนจบปริญญาตรี และหลังจากนั้นก็ส่งเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา



    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย




    ดร.อัมเบดการ์ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ค.ศ.๑๙๑๓-๑๙๑๖ -

    ชีวิตนักศึกษาที่อเมริกาเปิดประตูให้พิมได้ลิ้มรสชาติของความเท่าเทียมทางสังคมเป็นครั้งแรก เพราะที่นั่นไม่มีใครแสดงอาการรังเกียจความเป็นอธิศูทรของเขาเหมือนอย่างในอินเดีย พิมเดินทางกลับอินเดียด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อคนในวรรณะเดียวกัน สร้างสังคมอินเดียที่เสมอภาคให้จงได้

    พิมเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยซิดนาห์ม บอมเบย์ (มุมไบปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ต่อมาย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของมหาราชาชาหุที่ ๑ ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของคนอธิศูทร มหาราชาพระองค์นี้นอกจากจะรับพิมเข้าทำงานแล้วยังออกทุนให้เขาเขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก (ผู้นำพลังเงียบ) ในบอมเบย์ตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ พิมใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ ต่อมาเขากลับไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) ในอังกฤษ ด้วยเงินที่ยืมจากมหาราชาและเพื่อน ใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้น มุมานะจนเรียนจบปริญญาโทที่นั่น และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ทั้งยังสอบผ่านเนติบัณฑิต วุฒิการศึกษาสูงลิ่วจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่พิมซึ่งตอนนี้เป็น ดร. อัมเบดการ์ ได้มาด้วยความยากลำบาก ทำให้ในที่สุดเขาก็กลับมาทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์ได้สำเร็จ



    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย

    ข้อเขียนที่วิพากษ์นักการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิของคนจัณฑาลอย่างต่อเนื่องทำให้ ดร. อัมเบดการ์ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวอินเดียร่วมวรรณะมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๑๙๓๒ เขาได้รับเชิญไปร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับอนาคตของอินเดียที่กรุงลอนดอน ในห้วงเวลาที่จักรวรรดิอังกฤษเริ่มเปิดพื้นที่ให้คนอินเดียมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ

    ดร. อัมเบดการ์เชื่อมั่นว่า ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตของคนวรรณะจัณฑาลทั้งมวลจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามี “อัตลักษณ์” ต่างหากจากทั้งสภาคองเกรสแห่งชาติ (ซึ่งมีมหาตมะคานธีเป็นผู้นำ) และอังกฤษเจ้าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียกร้องว่าชาวจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนต่างหาก คานธีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ ดร. อัมเบดการ์ (ทั้งที่เห็นว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาทิชาวมุสลิม และซิกข์ควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน) เนื่องจากเกรงว่าการกันผู้แทนให้แก่จัณฑาลโดยเฉพาะจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดูรุ่นหลัง (เพราะมองว่าจัณฑาลยังเป็นฮินดู ไม่ใช่คนต่างศาสนาอย่างมุสลิมหรือซิกข์)



    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย

    ระหว่างที่รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับ ดร. อัมเบดการ์ว่าจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน คานธีก็เริ่มอดอาหารประท้วงข้อเสนอดังกล่าวระหว่างที่ถูกคุมขังในคุกเมืองปูเน เรียกร้องว่าชาวฮินดูทั้งมวลจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประกาศว่าจะอดอาหารจนถึงแก่ชีวิต การประท้วงของคานธีได้รับการสนับสนุนมหาศาลจากมวลชนทั่วทั้งอินเดีย ผู้นำหัวอนุรักษนิยมชาวฮินดูและนักกิจกรรมชั้นแนวหน้าขอนั่งโต๊ะเจรจากับ ดร. อัมเบดการ์และผู้สนับสนุนเขา พยายามกดดันให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนของจัณฑาล แรงกดดันประกอบกับความหวั่นเกรงว่าคนในวรรณะจัณฑาลจะตกเป็นเป้าความโกรธแค้นของชาวฮินดูหมู่มากถ้าหากคานธีสิ้นชีวิตจริงๆ ทำให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมละทิ้งจุดยืนที่เคยยึดมั่น

    ดร. อัมเบดการ์มองว่าการประท้วงอดอาหารของคานธีเป็นอุบายอันแยบยลที่จะกีดกันไม่ให้จัณฑาลมีสิทธิทางการเมือง และเขาก็มองว่าสภาคองเกรสแห่งชาติภายใต้การนำของคานธีอย่างดีที่สุดก็จะทำให้ชาวฮินดูรู้สึกสมเพชเวทนาจัณฑาล แต่ยังปฏิเสธว่าพวกเขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม

    อย่างไรก็ตาม คานธีก็หาได้ผูกใจเจ็บ ดร. อัมเบดการ์ไม่ หากมองว่าเขาเป็นเสาหลักที่สำคัญต่ออนาคตของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ คานธีหว่านล้อม เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก ให้แต่งตั้ง ดร. อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และเชิญเขาให้มามีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย


    ร่างรัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เขียนขึ้นนั้นชัดเจนว่ามุ่งสร้าง “การปฏิวัติทางสังคม” ในอินเดียเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยการประกันและคุ้มครองสิทธิพลเมืองนานัปการ ตั้งแต่เสรีภาพในการนับถือศาสนา การยกเลิกวรรณะจัณฑาล และประกาศให้การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ดร. อัมเบดการ์ยังเสนอให้ใช้โควตาในระบบราชการ โรงเรียน และวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เป็นหัวหอกผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๙

    หลังจากที่ผลักดันรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก้าวต่อไปของดร. อัมเบดการ์ คือการเขียนกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดูซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่า ดร. อัมเบดการ์จะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเนห์รู ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา ความขัดแย้งส่งผลให้ ดร. อัมเบดการ์ตัดสินใจลาออกจากคณะรัฐมนตรีในปี ๑๙๕๑ ปีต่อมาเขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่แพ้การเลือกตั้ง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต



    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย



    ค.ศ.๑๙๒๗ ดร.อัมเบดการ์นำพิธีสัตยาเคราะห์ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์ ที่เมืองมหัท(Mahad)ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ “ศตวรรษแห่งความเสมอภาค”




    โปสเตอร์ ดร.อัมเบดการ์ชวนเพื่อนร่วมวรรณะมานับถือพุทธในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐

    ดร. อัมเบดการ์เป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” ที่คนนอกอินเดียรู้จักน้อยที่สุด ต่างจากรัฐบุรุษร่วมสมัยที่ได้รับสมญานามนี้อีก ๒ คน คือเนห์รูกับคานธี แต่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจำนวนมากรู้จักเขาในฐานะผู้นำคนอธิศูทรกว่า ๕ แสนคน เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันในงานฉลองพุทธชยันตี เมืองนาคปุระ ในปี ค.ศ. ๑๙๕๖ เหตุผลที่ ดร. อัมเบดการ์ประกาศตนเป็นชาวพุทธและชักชวนเพื่อนร่วมวรรณะให้เป็นพุทธด้วยนั้นชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายให้มากความ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะเหมือนศาสนาฮินดูซึ่ง ดร. อัมเบดการ์เคยตั้งข้อสังเกตในวารสารของเขาว่า

    “สังคมฮินดูมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่าพระเจ้ามีอยู่ในทุกหนแห่ง ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าเขากำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่” พิธีปฏิญาณตนของ ดร. อัมเบดการ์และชาวอธิศูทรในวันนั้นเป็นที่โจษขานกันสืบมาว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ นอกจากคำปฏิญาณตน ๒๒ ข้อจะรวมหลักธรรมะเช่น

    “ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า” และ “ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา” แล้ว ยังมีข้อที่สะท้อนเจตนารมณ์ของ ดร. อัมเบดการ์ เช่น “ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน” ดร. อัมเบดการ์เลือกเมืองนาคปุระเป็นสถานที่ในการประกอบพิธี แทนที่จะเลือกเมืองใหญ่อย่างเดลีหรือบอมเบย์ ด้วยเหตุผลว่าเมืองนี้เป็นเมืองแห่งนาค ซึ่งตามพุทธประวัตินาคเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกชาวอารยันย่ำยีข่มเหง คล้ายกับที่คนวรรณะต่ำถูกกดขี่จากคนวรรณะสูงกว่า ชนเผ่านาคเลื่อมใสในศาสนาพุทธหลังจากได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ร่วมกันเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วทั้งอินเดีย จวบจนปัจจุบันศูนย์กลางพุทธศาสนาก็ยังอยู่ที่เมืองนาคปุระ

    แม้หลังจากที่ถูกชาวฮินดูขับไล่กดขี่จนถูกปรามาสว่าเป็นชนชั้นจัณฑาล (เหตุนี้ชาวจัณฑาลส่วนใหญ่จึงสืบเชื้อสายมาจากชาวพุทธ เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ ดร. อัมเบดการ์ใช้จูงใจให้คนอธิศูทรเปลี่ยนศาสนา) ดร. อัมเบดการ์ถึงแก่กรรมก่อนกาลในวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ด้วยโรคร้าย เพียง ๓ เดือนหลังจบพิธีพุทธชยันตี ท่ามกลางความตกใจและเศร้าโศกเสียใจของชาวอินเดียนับล้านคน นายกรัฐมนตรีเนห์รูกล่าวคำสดุดีเขาตอนหนึ่งว่า “เพชรของรัฐบาลได้จากไปเสียแล้ว…ชื่อของอัมเบดการ์จะต้องถูกจดจำชั่วกาลนาน ในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู”




    ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย



    ถึงแม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ มรดกทางความคิดและอิทธิพลของ
    ดร. อัมเบดการ์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่ายิ่งใหญ่เพียงใด ถ้าหากมหาตมะคานธีเป็นมโนธรรมของโลกแล้วไซร้ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ก็เป็นมโนธรรมของอินเดียอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าหากคานธีเป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติทางศีลธรรม ดร. อัมเบดการ์ก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังทางการเมืองและการปฏิวัติสังคม และถ้าหากคุณูปการของคานธีคือการปลุกเร้ามโนธรรมของชนชั้นสูงให้มองเห็นการกดขี่ข่มเหงคนวรรณะต่ำ คุณูปการของ ดร. อัมเบดการ์ก็ยั่งยืนยิ่งกว่านั้นในแง่ที่มอบอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่คนวรรณะต่ำ และมอบความเชื่อมั่นในตนเองให้พวกเขาลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมในสังคม

    ขณะที่มหาตมะคานธีเป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวโลกและปัญญาชนผู้มีฐานะในอินเดีย คน (ไม่) สำคัญของโลกแต่สำคัญสำหรับอินเดีย นาม ดร. บาบาสาเฮบ
    อัมเบดการ์ ก็เป็นวีรบุรุษที่ลูกหลานคนอธิศูทรในอินเดียไม่มีวันลืม ชีวิตของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ด้อยโอกาสจำนวนมหาศาลฮึดสู้กับโชคชะตา มุมานะเล่าเรียนและทำงานหนักเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง มีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิในการเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่งของอินเดีย ชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่าวิญญาณของเขายังเวียนวนอยู่ในภพนี้ คอยช่วยเหลือพวกเขาและผู้ด้อยโอกาสทั้งมวล ด้วยเหตุนี้จึงนับเขาเป็นสรณะทัดเทียมกับพระรัตนตรัย โดยเพิ่มชื่อเดิมต่อท้ายบทสวดไตรสรณคมน์ว่า “พิมพัง สรณัง คัจฉามิ” สืบมาจนทุกวันนี้

    คน (ไม่) สำคัญ สฤณี อาชวานันทกุล
    http://www.fringer.org
    ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๑๑


  2. #2
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63
    ขอบใจสาระคดีเรื่องเล่า(ตอนอ่า)เรื่องจริงของประวัติศาสตร์อินเดียซึ่ตัวผู้อ่านวันนี้ทึ่งเป็นพิเศษเพราะไม่เคยรู้จักดร.อัมเบสก้ามาก่อนเพิ่งได้ยินและรู้จักในวันนี้เองขอบใจมาก

  3. #3
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30
    ด้วยความยินดีค่ะลุงใหญ่ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แต่ผู้สนใจค่ะ

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •