“นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี


หมายความว่า ความสุขอื่นมีเช่นกับความสุขในการดูละคร ดูหนัง ความสุขในการเข้าสังคม(Social) ในการมีคู่รักคู่ครอง หรือในการมีลาภยศ การได้รับความสุข สรรเสริญ และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ก็สุขจริง แต่ว่าสุขเหล่านี้มีทุกข์ซ่อนอยู่ทุกอย่าง ต้องคอยแก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติ ความสงบ เป็นความสุขทีเยือกเย็น และไม่ซ้อนด้วยความทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมาก เป็นความสุขที่ทำได้ง่าย ๆ เกิดกับกายใจของเรานี่เอง อยู่ในที่เงียบ ๆ คนเดียวก็ทำได้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้ ถ้าเรารู้จักแยกใจหาสันติสุข กายนี้ก็เพียงสักแต่ว่าอยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่ง สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมาถึงใจ แม้เวลาเจ็บหนักมีทุกขเวทนาปวดร้าวไปทั่วกาย แต่เรารู้จักทำใจให้เป็นสันติสุขได้ ความเจ็บนั้นก็ไม่สามารถจะทำใจให้เดือนร้อนตามไปด้วย เมื่อใจสงบแล้ว กลับจะทำให้กายนั้นสงบ หายทุกขเวทนาได้ด้วย และประสบสันติสุขซึ่งไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขนั้น

พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกเป็น ๓ ทาง คือ

๑. สอนให้สงบกาย วาจา ด้วยศีล ไม่ทำโทษทุจริตอย่างหยาบที่เกิดทางกาย วาจา เป็นเหตุให้เกิดสันติสุขทางกาย วาจา เป็นประการต้น

๒. สอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางใจด้วยสมาธิ หัดใจไม่ให้คิดถึงความกำหนัด ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความกลัว ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความลังเลใจ ทำให้ใจไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาดเมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ เป็นเหตุให้ใจสงบ เป็นสันติสุขทางจิตใจอีกประการหนึ่ง

๓. ทรงสอนให้ฝีกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ (ความเห็น) ด้วยปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอน เป็น “อนิจจัง” เป็น “ทุกข์” ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอนขอร้อง หรือเร่งรัดให้เป็นไปตามความประสงค์ ท่านเรียกว่า “อนัตตา”

เมื่อเรารู้เห็นตามเป็นจริงเช่นนี้ จะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งมั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ทั้งหลาย เพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาว่า

"สิ่งเหล่านั้นมันไม่แน่นอน มันคงอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงเสื่อมสิ้นดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฝ่าฝืนของเรา"

อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจ คงรักษาใจเราให้เป็นอิสระมั่นคง อยู่เสมอ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น

เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ใน สันติสุข เป็นอิสสระ เกิดอำนาจทางจิต – Mind Power ที่จะใช้ทำกิจกรณียะ อันเป็นหน้าที่ของตน ได้สำเร็จสมประสงค์