กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: ริวกิว ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น

  1. #1
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30

    อ่านข่าวออนไลน์ ริวกิว ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น

    อาณาจักรริวกิว




    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น
    ประตูหิน ปราสาทซูหริโจ

    ปี ค.ศ. ๑๔๒๕ มีพระราชสาส์นจากกษัตริย์ของริวกิวส่งไปยังกษัตริย์ประเทศสยาม ใจความว่าเรือสินค้าของริวกิวที่ไปทำการค้าที่สยามในปี ค.ศ.๑๔๑๙ ถูกเจ้าหน้าที่สยามผูกขาดการค้าไม่ให้ทำการค้ากับพ่อค้าที่นั่นโดยตรง และยังถูกเจ้าหน้าที่ท่าเรือของสยามกดราคาสินค้าที่ริวกิวนำมาขาย เช่น เครื่องถ้วย จนทำให้การค้าของริวกิวขาดทุน โดยเจ้าหน้าสยามอ้างว่าของกำนัลที่ริวกิวนำมาให้นั้นน้อยเกินไป ปีต่อมาริวกิวจึง เพิ่มจำนวนของกำนัล แต่ก็ยังถูกสยามผูกขาดการค้าจนริวกิวจำต้องยกเลิกการเดินเรือไปในปีถัดไป ในพระราชสาส์นดังกล่าว ริวกิวขอร้องให้ สยามอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของริวกิวทำการค้าขายกับพ่อค้าที่นั่นได้อย่างอิสระ และเมื่อการค้าเสร็จสิ้นลงแล้วขอให้เรือริวกิวกลับประเทศโดยเร็ว

    จากบันทึกข้างต้น ริวกิวกับสยามมีการติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๔ เรื่อยมาจนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๖ เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี แม้บาง ครั้งการติดต่อของทั้งสองจะชะงักลงบ้างเนื่องจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมของสยาม แต่สยามเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริวกิวทำการค้าด้วยมากที่สุด และยาวนานที่สุดคือ ตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ ๑๔ ถึงปี ๑๕๗๐ ริวกิวเดินเรือไปสยามเพื่อซื้อสินค้าอย่างไม้ฝาง งาช้าง และพริกไทยไปขายต่อให้จีน (ในรูปของการถวายบรรณาการ) รวมทั้งดินแดนใกล้เคียงอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น


    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น

    แผนที่เกาะโอกินาวา


    ในช่วงเริ่มแรกของการติดต่อของทั้ง ๒ ประเทศ อยุธยาตั้งแต่ราชวงศ์มาได้ไม่นาน ส่วนริวกิวก็มีเจ้าปกครองท้องถิ่นกระจัดกระจายอยู่หลายที่ในช่วงศตวรรษที่ ๑๔ ริวกิวมีแคว้นใหญ่อยู่ ๓ แคว้น คือ ฮกคุซัน หรือ “ภูเขาทางตอนเหนือ” จูซัน หรือ “ภูเขาทางตอนกลาง” และนันซัน หรือ “ภูเขาทางตอนใต้” นักประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคนี้ว่า “ยุค ๓ แคว้น” หลังจากจีนเปลี่ยนการปกครองจากราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์หมิงได้ไม่นาน ๓ แคว้นนี้ต่างก็ส่งของไปถวายบรรณาการหมิง ในปี ค.ศ. ๑๔๒๙ เจ้าครองแคว้นจูซันตีแคว้นทางเหนือและใต้ได้ และรวมประเทศตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรริวกิว ปกค รองประเทศโดยรับเอารูปแบบการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมมาจากจีน ในขณะเดียวกันก็ทำการค้ากับประเทศอื่นด้วย เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สยาม มะละกา ปัตตานี ซุนดากะลาปา (จาการ์ตา) ปาเล็มบัง

    ริวกิวมีกษัตริย์ปกครอง ๒๘ พระองค์ ยุคของราชวงศ์ริวกิวแบ่งเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกคือราชวงศ์โชที่ ๑ (ค.ศ. ๑๔๐๖-๖๙) ช่วงที่ ๒ คือราชวงศ์โชที่ ๒ (ค.ศ. ๑๔๗๐-๑๘๗๙) ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งความรุ่งเรืองและขมขื่น เนื่องจากริวกิว ถูกขนาบไปด้วยรัฐที่ใหญ่กว่างอย่างจีนและญี่ปุ่น ริวกิวต้องพึ่งอำนาจของจีนเพื่อความอยู่รอดในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งบรรณาการไปแสดงความจงรักภักดีต่อจีน
    ความสัมพันธ์แบบบรรณาการระหว่างริวกิวกับจีนดำเนินไปเป็นเวลาเกือบ ๕๐๐ ปี อย่างไรก็ตาม ริวกิวก็ไม่รอดพ้นจากการเข้ามายึดครองของญี่ปุ่น
    ริวกิวถูกไดเมียวแคว้นซัตซึมะเข้ามายึดอำนาจในปี ค.ศ.๑๖๐๙ แต่ซัตซึมะก็ยังคงตำแหน่งกษัตริย์ริวกิวได้ และอนุญาตให้ติดต่อกับจีนได้ต่อไปในฐานะ “อาณาจักรริวกิว” เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า แต่พอมาในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะปกครองริวกิวโดยตรง จึงลดฐานะจากอาณาจักรเป็นแคว้น และส่งคนจากส่วนกลางมาปกครองต่อมาใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๙ มีการยกเลิกระบบแคว้นกษัตริย์ของริวกิวถูกถอดจากตำแหน่ง
    ริวกิวเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดโอกินาวา ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นอาณาจักรริวกิวโดยสิ้นเชิง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โอกินาวา
    เป็นสนามรบของทหารฝ่ายพันธมิตรนำโดยอเมริกันกับทหารญี่ปุ่น หลังจากการปกครองของอเมริกาเป็นเวลา ๒๐ ปี ค.ศ. ๑๙๗๒
    บาดแผลของสงครามยังอยู่ในความทรงจำของคนโอกินาวาจนถึงทุกวันนี้


    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น



    ปราสาทชุหริ
    ถึงแม้ในปัจจุบันริวกิวหรือโอกินาวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ผู้ที่ไปเยือนเมืองนี้จะรู้สึกได้ถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากส่วนอื่นของญี่ปุ่น
    นักท่องเที่ยวที่มาโอกินาวา ก่อนอื่นจะต้องไปชมปราสาทชุหริ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรริวกิว

    ปราสาทชุหริตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะโอกินาวา สร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งเป็นช่วงที่ริวกิวเจริญรุ่งเรืองในการค้าและการเมือง เป็นที่ว่าการของราชสำนักริวกิวและที่พำนักของกษัตริย์ และยังเป็นสถานที่ต้อนรับทูตจากจีนที่มาแต่งตั้งกษัตริย์ริวกิว เวลามีการเปลี่ยนรัชสมัย
    เนื่องจากโอกินาวามีภูมิประเทศเป็นเกาะปราสาทส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่บนเขาเพื่อจะได้เห็นเรือที่เข้าออกประเทศ
    ปราสาทชุหริก็เช่นกันทางขึ้นสู่ตัวปราสาทมีวัดและสุสานของกษัตริย์ริวกิว เมื่อเดินขึ้นไปถึงตัวปราสาท มีกำแพงเป็นทางยาวกั้น
    และมีประตูหลายชั้น ประตูแต่ละชั้นมี ชื่อเขียนอยู่ข้างบน เช่น ประตูด้านหน้าของปราสาทมีชื่อว่า “คันไคมง” แปลว่าประตูต้อนรับ
    ที่ชื่อนี้เพราะว่าเป็นประตูต้อนรับทูตที่มาจากจีนเวลามาแต่งตั้งกษัตริย์ริวกิว ข้างในสุดเป็นพระราชวัง และที่ทำการของขุนนางและเป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ปราสาทนี้ยังถูกใช้เป็นที่บัญชาการของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับฝ่ายพันธมิตร แต่ถูกเครื่องบินสหรัฐทั้งระเบิดตัวปราสาทถูกทำลายไป หลังสงครามมีการใช้ที่แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยไปตั้งที่อื่น และสร้างปราสาทแห่งนี้ใหม่ทับที่เดิม บางส่วนได้เปิดเป็นสวนสาธารณะครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และได้รับการบันทึกเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ บริเวณโดยรอบปราสาทนี้ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่น หลุมฝัง..พของกษัตริย์และวัดประจำราชวงศ์

    ความสัมพันธ์กับสยาม
    ปราสาทชุหริ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรริวกิวแล้วยังเป็นที่ที่แสดงถึงการติดต่อกับนานาประเทศรวมทั้งสยามด้วย
    เพราะมีการขุดพบไหและชิ้นส่วนเครื่องปั้น ดินเผาจากไทยเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณปราสาทและวัดใกล้เคียง
    ไหที่พบเป็นไหสี่หูสีน้ำตาลดำเคลือบมัน มีหลายขนาด ความสูงตั้งแต่ ๘-๕๕ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของปากไหมีตั้งแต่ ๗-๒๕ เซนติเมตร
    ส่วนชั้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาเป็นฝาหม้อดินจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยพบตัวหม้อ


    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น


    โบราณวัตถุที่ขุดพบในปราสาทนาคิจิน ไหสี่หูและฝาหม้อภาพขวา่
    ล่างเป็นของไทย ส่วนเครื่องถ้วยภาพกลางและเหรียญเป็นของจีน

    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น



    ประตูด้านข้างของปราสาทชุหริชื่อคิวเคมงทำด้วยกำแพงหิน




    ในบริเวณที่ชื่อ “เคียวโนะอุจิ” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ประกอบพิธีสำคัญๆ ของกษัตริย์ และทำพิธีสวดขอเทพเจ้าให้คุ้มครองเรือที่จะเดินเรือออกนอกประเทศ พบชิ้นส่วนกระเบื้องและเครื่องถ้วยของสยามปะปนกับเครื่องถ้วยของเวียดนาม และจีนเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาลดำของไทย
    ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วนกระเบื้อง เคียวโนะอุจิเป็นส่วนที่สูงที่สุดของปราสาทชุหริทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ จากจุดนั้นสามารถมองเห็นทะเลทั้งด้านทิศเหนือและใต้ นอกจากนี้ในวัดที่อยู่รอบบริเวณปราสาทอย่างเอ็นคะคุจิซึ่งเป็นวัด สำคัญประจำราชวงศ์ริวกิว พบชิ้นส่วนไห
    ฝาหม้อเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ เซนติเมตร และมรดกไทยรวม ๕๑ ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ ปะปนอยู่กับกระเบื้องหลังคา
    เครื่องถ้วยสีขาวลายฟ้าและเครื่องถ้วยพื้นขาวของจีนรวมทั้งกริชจากอินโดนีเซีย ส่วนในวัดอีกแห่งชื่อเท็นไคจิพบ ชิ้นส่วนไหเคลือบกว่าพันชิ้น
    แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไหจึงคำนวณความสูงของไหไม่ได้ แต่ไหขนาดใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางก้นไห ๒๗.๕ เซนติเมตร
    ส่วนชิ้นส่วนฝาหม้อก็พบเป็นจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือพบชิ้นส่วนไหเคลือบที่น่าจะเป็นตุ๊กตารูปคนอยู่ด้วย

    ไหสี่หูของไทยนั้นไม่ได้พบในเขตโบราณสถานปราสาทชุหริแห่งเดียวยังพบที่ปราสาทชุหริแห่งเดียวยังพบที่ปราสาทของเจ้าครองแคว้นท้องถิ่นและตามหลุมฝัง..พอีกด้วย ปราสาทที่ว่านี้อยู่ทางตอนเหนือของเกาะโอกินาวา ชื่อ “ปราสาทนาคิจิน” สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ตรงกับสมัยสุโขทัย
    เป็นที่ตั้งของเจ้าครองแคว้นฮกคุชันซึ่งเป็นแคว้นที่ปกครองดินแดนตอนบนของเกาะก่อนที่จะถูกกษัตริย์จากแคว้นยึดอำนาจในปี ค.ศ. ๑๔๑๖

    ก่อนที่แคว้นฮกคุชันจะถูกแคว้นจูซันยึด ฮกคุซันทำการค้ากับจีนโดยส่งทูตไปถวายบรรณาการอยู่พักหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มี
    การขุดพบเครื่องถ้วยของจีน และเหรียญอีแปะในต้นสมัยหมิงเป็นจำนวนมาก
    ในจำนวนนั้นยังพบไหสี่หูของไทยคล้ายกับที่พบที่ปราสาทชุหริและฝาหม้อดินเป็นจำนวนหนึ่ง ไหสี่หูที่พบสูงประมาณ ๖๖ เซนติเมตร
    ปากไหเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๘ เซนติเมตร ข้างในจุได้ประมาณ ๓๖ ลิตร และพบเครื่องถ้วยมีลวดลายของเวียดนามและเกาหลีรวมอยู่ด้วย
    ไหและหม้อดินของไทยที่พบที่โบราณสถานปราสาทนาคิจินอาจมาจากการที่เจ้าครองแคว้นฮกคุซันเดินเรือไปทำการค้ากับสยามในช่วงที่ตนทำการค้ากับจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๔ ถึงต้นศตวรรษที่ ๑๕ (เพื่อนำไม้ฝางและพริกไทยไปถวาย) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แคว้นจูซันมายึด ปราสาทนาคิจินก็ทั้งหมดความสำคัญลง แคว้นฮกคุซันไม่ได้ติดต่อกับจีนอีก เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งว่าสินค้าต่างชาติที่ขุด พบโดยเฉพาะจากไทยและเวียดนามเป็นสินค้าที่ถูกลำเลียงมาจากตอนใต้ของเกาะ

    ไหสี่หูและหม้อดินของไทยพบกระจัดกระจายอยู่ตามโบราณสถานของโอกินาวา ๑๘ แห่ง แต่ที่เยอะที่สุดดูจะเป็นปราสาท ๒ แห่งที่กล่าวข้าง
    ต้นนักโบราณคดีญี่ปุ่นสันนิษฐานว่าไหสี่หูน่าจะผลิตจากเตาศรีสัชนาลัยที่สุโขทัย ส่วนหม้อดินผลิตจากเตาแม่น้ำน้อยจังหวัดสิงห์บุรี
    ที่ผลิตในช่วงศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ซึ่งตรงกับช่วงที่ริวกิวทำการค้ากับสยาม

    การที่พบชิ้นส่วนไหจากไทยเป็นจำนวนมากในบริเวณเคียวโนะอุจิ สันนิษฐานกันว่าไหของไทยถูกใช้ในพิธีทางศาสนาของริวกิว อาจจะเอาไว้ใส่เหล้าซึ่งใช้ในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า ในเอกสารของริวกิวเองก็มีหลายชิ้นที่พูดถึงเหล้าจากสยาม ไหเหล้านี้เดิมจึงน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าซึ่งเรือริวกิวนำมาจากสยาม

    จากเอกสารของริวกิวชื่อ “เรคิไดโฮฮัน” สยามส่งพระราชสาส์นพร้อมของขวัญมาให้ริวกิวหลายครั้ง เพื่อตอบแทนการที่ริวกิวช่วยเหลือลูกเรือสยามที่เรืออับปางระหว่างการเดินทางไปริวกิว ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๕ ในรายการของขวัญที่สยามส่งให้นอกจากจะมีผ้าจากอินเดีย ไม้ฝาง และงาช้างแล้วสิ่งที่เด่นชัด คือ เหล้าซึ่งมีจำนวนกว่า ๗๐ ไห จากในเอกสารเหล้ามีหลายชนิดด้วยกัน เช่น “เหล้าขาว” “เหล้าแดง” “เหล้าแดงกลิ่นดอกไม้” และ “เหล้ากลิ่นดอกไม้ ข้างในมีมะพร้าวอยู่” เหล้าเหล่านี้ในเอกสารไม่ได้บอกว่าเป็นเหล้าชนิดใด และมาจากไหน อาจจะเกิดคำถามว่าเหล้าเหล่านี้เป็นของสยามหรือไม่ หรือว่าสยามนำเข้ามาจากที่อื่นอีกที แต่ในเอกสารจีน “หยิงหยาเชิงหลั่น” (เขียนปี ค.ศ. ๑๔๑๖) มีบันทึกไว้ว่า ที่สยามมีเหล้า ๒ ชนิดคือ เหล้าที่ทำจากข้าวและเหล้าที่ทำจากมะพร้าว และเป็นเหล้ากลั่นทั้ง ๒ ชนิด ซึ่งคล้ายกับเหล้า มะละกา เหล้าเหล่านี้จึงน่าจะคล้ายกับเหล้าโรงในปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่าสยามมีการผลิตเหล้าเองอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ แล้ว และจากการที่สยามถวายเหล้าให้ริวกิวเป็นจำนวนมากแสดงว่าเหล้าเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าออกของสยามในสมัยนั้นด้วย

    เมื่อนำหลักฐานทางโบราณคดี อย่างไหสี่หูที่ขุดพบที่โอกินาวาและเอกสารลายลักษณ์อักษรมาประกอบกัน นักวิชาการญี่ปุ่นลงความเห็นกันว่าไหที่พบน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าจากสยามดังที่ปรากฏในเอกสาร และอาจจะมีจำนวนมากกว่านั้นแต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังมี บางทฤษฎีบอกว่าเหล้าจากสยามเป็นต้นแบบการกลั่นเหล้า “อาวาโมริ” ของโอกินาวาซึ่งใช้ข้าวจากไทยเป็นวัตถุดิบในการหมักแล้วจึงนำไปกลั่น มีกรรมวิธีการกลั่นคล้ายเหล้าโรงของไทย แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้ข้าวไทยหมัก เหล้าอาวาโมริเริ่มกลั่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องมาจากการติดต่อระหว่างริวกิวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หมดลงแต่ความต้องการเหล้ายังมีอยู่ คนริวกิวจึงเริ่มกลั่นเหล้าเอง ในปัจจุบันเหล้าอาวาโมริเป็นสินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของโอกินาวา อย่างไรก็ตามบางทฤษฎีก็บอกว่าต้นแบบของเหล้าอาวาโมริน่าจะมาจากฮกเกี้ยน หรือไม่ก็แถบอื่นทางตอนใต้ของจีนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือเหล้าอาวาโมริใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นทำ


    ริวกิว  ความสัมพันธ์กับสยามก่อนตกเป็นโอกินาว่าของญี่ปุ่น

    ปราสาทชุหริมองจากส่วนที่สูงสุด มองเห็นตัวเมืองโอกินาวาและทะเล



    ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับริวกิวสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. ๑๕๗๐ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวจีนและโปรตุเกส เริ่มเข้ามามีบทบาทในการค้า ทางทะเลมากขึ้นแทนที่ริวกิว อย่างไรก็ตาม ร่องรอยความสัมพันธ์ของทั้งสองยังปรากฏให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ในรูปของโบราณวัตถุ และอิทธิพลทางวัฒนธรรมรูปปั้นชาวริวกิวที่เคยอยู่ในวัดโพธิ์และปลาริวกิวของไทยก็น่าจะมีที่มาจากการติดต่อกัน ของทั้ง ๒ ประเทศในสมัยนั้น


    สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน เรียบเรียง
    ข้อมูลจาก หนังสือศิลปวัฒนธรรม
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน; 14-01-2014 at 10:19.

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •