"วันรักนกเงือก"


วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือก" ..... นกเงือก หรือ Hornbill รักเดียวใจเดียว สัตว์สัญลักษณ์ของ "รักแท้"

นกเงือก นกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนา ที่ใหญ่และมีโหนก ทางด้านบน เป็นโพรง ภายในโพรง มีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัว มีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรง โดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา

สาเหตุที่นกเงือก ถูกกล่าวขานว่า เป็นสัตว์แห่งรักแท้นั้น เนื่องจากพฤติกรรมของนกเงือก จะใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่า หรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะ ของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้ และคอยดูแลปกป้อง ลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย

นกเงือกนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเที่ยวบินตามหารักแท้ โดยตัวผู้ จะเป็นฝ่ายเที่ยวบินตามหาตัวเมีย ที่เป็นที่รัก หลังจากบินอยู่นาน นกเงือกตัวผู้ ก็ได้พบกับนกเงือกตัวเมียที่หวังว่า คงจะเป็นรักแท้ มันบินหาอาหารต่าง ๆ หลายชนิด มาให้ตัวเมีย เพื่อหวังจะได้ครองใจ จากตัวเมีย บินไปครั้งแล้วครั้งเล่า และแล้วนกเงือกตัวเมีย ก็รับอาหารที่ตัวผู้เสนอให้ นั่นหมายความว่า ตัวเมียตกลงปลงใจ ที่จะเป็นรักแท้ของตัวผู้แล้ว

"วันรักนกเงือก"

สิ่งต่อไปก็คือการหารัง ที่จะเป็นเหมือนบ้าน น่าอยู่สักแห่ง ที่จะเป็นเรือนหอ ใช้ชีวิตร่วมกัน อย่างมีความสุข นกเงือกแม้จะมีปาก ที่กว้างใหญ่ แต่ปากของมัน ไม่ได้แข็งแรง เหมือนนกหัวขวาน ที่จะสามารถเจาะต้นไม้ สร้างรังได้เอง จึงต้องเที่ยวบินหาโพรงไม้ต่าง ๆ ที่สัตว์อื่น ๆ ได้ทำทิ้งไว้อยู่แล้ว นกเงือกตัวผู้ต้องบิน หาโพรงไม้เหล่านี้มานำเสนอ ต่อตัวเมียจนกว่าตัวเมีย จะเป็นที่พอใจ จากนั้น คู่ผัวเมียนกเงือก ก็จะได้ร่วมกัน ให้กำเนิดลูกน้อย ๆ ขึ้นมา ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งสองจะร่วมกันนำเศษไม้ เศษดินต่าง ๆ มาปิดปากทางเข้าบ้าน ของทั้งสอง ให้เหลือเพียงรูเล็ก ๆ พอที่จะให้ตัวผู้ ซึ่งเป็นผู้หาอาหาร อยู่นอกบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อความอบอุ่น และเพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ ของตัวเมีย และลูกน้อย ที่กำลังจะเติบโต ตัวเมียก็จะคอยเลี้ยงดู ลูกน้อยให้เติบโตอยู่ภายในรัง ตัวผู้เป็นผู้บินหาอาหาร อยู่ภายนอกให้ตัวเมียกับลูกน้อย เป็นเช่นนี้ทุก ๆ วัน

นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมาก มักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจาย อยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทย มีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัว อยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว นกเงือกจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันรักนกเงือก" โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเพื่อให้คนไทย เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของ การอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่ กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป

วันนี้ 1530 น.ที่สวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล มีกิจกรรมระดมทุนสำหรับศึกษา วิจัย และอนุรักษ์นกเงือก ในประเทศไทย



เครดิต : https://www.facebook.com/photo.php?f...type=1&theater