คุณรู้จักฉันดีพอหรือยัง ?
คุณรู้จักฉันดีพอหรือยัง ?

คุณรู้จักฉันดีพอหรือยัง..?...

.. " ฉันชื่อไต ".. ฉันเป็นแม่บ้านให้คุณ ฉันทำอะไรบ้าง
หน้าที่ของไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่เปรียบเสมือนเครื่องกรองน้ำที่ดีที่สุดของมนุษย์

1. ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
ของเสียที่ขับถ่ายออกจากไตทางปัสสาวะนี้ มาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งในที่สุดก็เข้าสู่กระแสโลหิตและจะต้องขับออกมาจากร่างกายผ่านทางไต เช่น
- สารที่ปนกับอาหาร ที่เรากินเข้าไป ซึ่งจะถูกดูดซึมผ่านทางกระเพาะอาหารและลำไส้
- ยา และสารแปลกปลอมต่างๆ ที่ได้รับจากการฉีด, กิน, สูด, ดม, หรือสัมผัส
- สารอินทรีย์และของเสียที่เกิดจากการกระทำงานของอวัยวะต่างๆ หรือจาก ปฏิกิริยาเคมีและการสันดาปของเซลล์ต่างๆ ทุกเซลล์ในร่างกาย
- น้ำ เกลือแร่ วิตามิน และฮอร์โมนหลายๆ ชนิดที่เหลือใช้ และที่ใช้แล้ว

2. เก็บและดูดซึมสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
สารและเกลือแร่หลาย ๆ ชนิดที่อยู่ในกระแสโลหิตนั้น เมื่อผ่านมากรองที่ไต นอกจากสารที่ไม่ต้องการจะถูกขจัดทิ้งไปแล้ว สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายตามเดิมทางท่อไตและส้นเลือดดำ
เช่น น้ำตาลในเลือด เมื่อผ่านมาที่ไตก็ถูกดูดซึมกลับสู่ร่างกาย แยกจากของเสียที่ไม่ถูกดูดซึมกลับจะถูกขจัดทั้งออกทางปัสสาวะ

3. รักษาความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
ไต ทำหน้าที่คุมปริมาณน้ำและระดับความเข้มข้นของเกลือแร่หลาย ๆชนิดในร่างกาย เช่น เกลือโซเดียมคลอไรด์ , โปแตสเซียม , แคลเซียม , ฟอสฟอรัส , แมกนีเซียม ฯลฯ
ถ้าไตวาย ปริมาณของน้ำและเกลือแร่ต่าง ๆ ในกระแสโลหิต จะผิดปกติไป ทำให้อวัยวะและระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติไปด้วย เพราะขาดความสมดุลกันโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคไตวาย จะมีระดับความเข้มข้นของเกลือโปแตสเซียมสูงมาก ถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมากเกินไป จะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้และถ้าเกลือโปแตสเซียมสูงเกินกว่าปกติมาก ๆ จะทำให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่นเดียวกัน หากผู้ป่วยเป็นไตวาย ไม่สามารถขับเกลือโซเดียมได้ ก็จะทำให้มีปริมาณเกลือโซเดียมสูงเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการบวม ยิ่งบวบมากเท่าใด ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นและหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุด ก็เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

4. รักษาความสมดุลและสภาพความเป็นกรดและด่าง (pH)
โดยปกติร่างกายของคนเรา จะมีการสร้างกรดขึ้น จากการสันดาปและปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ถ้าไตวาย การขับกรดจากร่างกายจะทำไม่ได้และทำให้สภาวะความเป็นกรดในร่างกายมีมากจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะและการทำงานของระบบต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคไตวาย มักจะมีสภาพร่างกายที่เป็นกรดอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้ ไตยังทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียของด่างในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เป็นกลาง คือ ไม่เป็นกรด และไม่เป็นด่าง

5. ควบคุมความดันโลหิตภายในร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย ผู้ที่ความดันโลหิตสูง ชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (Primany) ซึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่พบบ่อยที่สุดนั้น สาเหตุของโรคก็เกิดจากความบกพร่องของไต ที่ไม่สามารถควบคุมความสมดุลของเกลือโซเดียมในร่างกายให้อยู่ในสภาพปกตินั่นเองโดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ถ้าไม่ได้รับการรักษา ความดันโลหิตที่สูงนาน ๆ จะทำลายเนื้อไตจนเกิดเป็นโรคไตเสื่อมและไตวายได้ในทางตรงกันข้าม หากผู้ป่วยโรคไตที่แต่เดิมมีระดับความดันโลหิตที่ปกติ เมื่อเป็นโรคไตนาน ๆ เข้า ก็จะมีความดันโลหิตสูงในระยะต่อมาได้จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคไตวาย , ไตอักเสบ มักจะมีความดันโลหิตสูงอยู่เสมอ ๆ

6. ไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน
ในปัจจุบัน มีฮอร์โมนอยู่หลายชนิด ที่ได้ถูกค้นพบว่า สร้างมาจากไต เช่น เรนนินและอื่น ๆ

มาดูความรู้เรื่องฉัน(ไต)ในแบบแผนไทยกันบ้างบ้าง

ปิหกัง คือไตและกระเพาะปัสสาวะ มีอยู่ ๒ ไต
ติดกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวขวาและซ้าย
ไตมีสีเขียวเหมือนคนทีสอ การทำงานของไตจะเกี่ยวคล้องกับหัวใจให้ทำหน้าที่ดึงน้ำในร่างกายที่เป็นส่วนเกินลงสู่ถุงปัสสาวะ
รวมทั้งทำงานเกี่ยวข้องกับหัวใจห้องที่๓และ๔
และสัมพันธ์กับลม อุทธังและอโธคือการหายใจเข้า ออก
ไตนั้นยึดหยุ่นได้เหมือนหัวใจและทำงานพร้อมกันกับหัวใจ

ไตมีหน้าที่ดังนี้
• แยกสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกจากเลือด
แล้วขับออกนอกร่างกายเพื่อให้ส่วนผสมของเลือดเป็นปกติ
แล้วขับออกมาทางปัสสาวะ สร้างปัสสาวะเพื่อขับถ่ายสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการที่ละลายน้ำได้
รักษาดุลกรด-ด่าง
ช่วยรักษาความดันโลหิต
สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดู

กระเพาะปัสสาวะ เป็นที่พักปัสสาวะเพื่อการขับถ่ายออก

ถ้าฉัน(ไต,ปิหกัง)ป่วยพิการไป จะมีอาการ

• ขัดและแน่นที่ในอก ทำให้ท้องพอง ท้องอืด อ่อนเพลีย ทำให้ท้องบวมและตัวบวมเนื่องจากของเสียขับออกไม่ได้

• มีสารพิษตกค้างมากจนเกิดอาการไตวาย มีคลื่นไส้อาเจียน เวียนหัวชักและหมดสติ

• ไตวายปัจจุบันปัสสาวะออกน้อยมาก ไตวายเรื้อรัง ปัสสาวะมากแต่ขับสารพิษได้น้อยและยังเสียโปรทีนทางปัสสาวะอีกทำให้เกิดอาการบวมทั้งตัว

• นิ่วที่กรวยไตถ้าเล็กและมาอุดตันที่หลอดไต จะทำให้มีอาการปวดและมีเลือดออก

• ความดันโลหิตสูงเกิดเมื่อไตขาดเลือด โลหิตจางเพราะไตผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง

• กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบปัสสาวะเป็นเลือด หนองหรือขุ่นขาวมีตะกอนมากสาเหตุจากนิ่วในปัสสาวะ นิ่วอุดตันท่อปัสสาวะ(ในชาย) ทำให้ปวดเมื่อกระเพาะปัสสาวะเป่ง
นอกจากนั้นทำให้มีการอักเสบของทางดินปัสสาวะเรื้อรังต่อไป

เมื่อเข้าใจแล้ว อย่าทำบ้าน รก โดยการกินไม่เลือกและหนักเค็มเกินไป สงสารฉันบ้างนะคะ

โดย ทางแพทย์สายพุทธ