กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: ตำนาน และความเป็นมาของ หมอลำ

  1. #1
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ ฅนภูไท
    วันที่สมัคร
    Apr 2007
    กระทู้
    2,115
    บล็อก
    1

    ตำนานและความเป็นมาของหมอลำ

    ความเป็นมาของหมอลำ
    หมอลำ เป็นรูปแบบของเพลงลาวโบราณในประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง ตามลักษณะทำนองของการลำ เช่น ลำเต้ย ลำกลอน ลำเรื่อง ลำเพลิน ลำซิ่ง รวมทั้ง ลำตัดในภาคกลางก็จัดได้ว่าเป็นหมอลำประเภทหนึ่ง

    คำว่า "หมอลำ" มาจากคำ 2 คำมารวมกัน ได้แก่ "หมอ" หมายถึง ผู้มีความชำนาญ และ "ลำ" หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองอันไพเราะ ดังนั้น หมอลำ จึงหมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองเพลง

    คำว่า "ลำ" มีความหมายสองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นชื่อของเรื่อง อีกอย่างหนึ่งเป็นชื่อของ การขับร้องหรือการลำ ที่เป็นชื่อของเรื่องได้แก่เรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องนกจอกน้อย เรื่อง ท้าวก่ำกาดำ เรื่องขูลูนางอั้ว เป็นต้น เรื่องเหล่านี้โบราณแต่งไว้เป็นกลอน แทนที่จะเรียกว่า เรื่องก็เรียกว่าลำ กลอนที่เอามาจากหนังสือลำ เรียกว่ากลอนลำ

    อีกอย่างหนึ่งหมายถึงการขับร้อง หรือการลำ การนำเอาเรื่องในวรรณคดีอีสานมา ขับร้อง หรือมาลำ เรียกว่า ลำ ผู้ที่มีความชำนาญในการขับร้องวรรณคดีอีสาน โดยการท่องจำเอากลอน มาขับร้อง หรือผู้ที่ชำนาญในการเล่านิทานเรื่องนั้น เรื่องนี้ หลายๆ เรื่องเรียกว่า "หมอลำ"


    --------------------------------------------------------------------------------

    วิวัฒนาการของหมอลำ


    ความเจริญก้าวหน้าของหมอลำก็คงเหมือนกับความเจริญก้าวหน้าของสิ่งอื่นๆ เริ่มแรก คงเกิดจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทาน นิทานที่นำมาเล่าเกี่ยวกับจารีตประเพณีและศีลธรรม โดยเรียก ลูกหลานให้มาชุมนุมกัน ทีแรกนั่งเล่า เมื่อลูกหลานมาฟังกันมากจะนั่งเล่าไม่เหมาะ ต้องยืนขึ้นเล่า เรื่องที่นำมาเล่าต้องเป็นเรื่องที่มีในวรรณคดี เช่น เรื่องกาฬเกษ สินชัย เป็นต้น ผู้เล่าเพียงแต่เล่า ไม่ออกท่าออกทางก็ไม่สนุก ผู้เล่าจึงจำเป็นต้องยกไม้ยกมือแสดงท่าทางเป็น พระเอก นางเอก เป็นนักรบ เป็นต้น
    เพียงแต่เล่าอย่างเดียวไม่สนุก จึงจำเป็นต้องใช้สำเนียงสั้นยาว ใช้เสียงสูงต่ำ ประกอบ และหาเครื่องดนตรีประกอบ เช่น ซุง ซอ ปี่ แคน เพื่อให้เกิดความสนุกครึกครื้น ผู้แสดง มีเพียงแต่ผู้ชายอย่างเดียวดูไม่มีรสชาติเผ็ดมัน จึงจำเป็นต้องหา ผู้หญิงมาแสดงประกอบ เมื่อ ผู้หญิงมาแสดงประกอบจึงเป็นการลำแบบสมบูรณ์ เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ ก็ตามมา เช่น เรื่องเกี้ยวพาราสี เรื่องชิงดีชิงเด่น ยาด (แย่ง) ชู้ยาดผัวกัน เรื่องโจทย์ เรื่องแก้ เรื่องประชัน ขันท้า เรื่องตลกโปกฮาก็ตามมา จึงเป็นการลำสมบูรณ์แบบ
    จากการมีหมอลำชายเพียงคนเดียวค่อยๆ พัฒนาต่อมาจนมีหมอลำฝ่ายหญิง มีเครื่อง ดนตรีประกอบจังหวะเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งเพิ่มผู้แสดงให้มีจำนวนเท่ากับตัวละครที่มีในเรื่อง มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวตลก เสนา ครบถ้วน ซึ่งพอจะแบ่งยุคของวิวัฒนาการได้ดังนี้
    ลำโบราณ เป็นการเล่านิทานของผู้เฒ่าผู้แก่ให้ลูกหลานฟัง ไม่มีท่าทาง และดนตรี ประกอบ
    ลำคู่หรือลำกลอน เป็นการลำที่มีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกัน มีเครื่องดนตรีประกอบ คือ แคน การลำมีทั้งลำเรื่องนิทานโบราณคดีอีสาน เรียกว่า ลำเรื่องต่อกลอน ลำทวย (ทายโจทย์) ปัญหา ซึ่งผู้ลำจะต้องมี ปฏิภาณไหวพริบที่ดี สามารถตอบโต้ ยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ ต่อมามีการเพิ่มผู้ลำ ขึ้นอีกหนึ่งคน อาจเป็นชายหรือหญิง ก็ได้ การลำจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง ชิงรัก หักสวาท ยาดชู้ยาดผัว เรียกว่า ลำชิงชู้
    ลำหมู่ เป็นการลำที่มีผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจะครบตามจำนวนตัวละครที่มีในเรื่อง มีเครื่องดนตรีประกอบเพิ่มขึ้น เช่น พิณ (ซุง หรือ ซึง) กลอง การลำจะมี 2 แนวทาง คือ ลำเวียง จะเป็นการลำแบบลำกลอน หมอลำแสดง เป็นตัวละครตามบทบาทในเรื่อง การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า แต่ก็ได้อรรถรสของละครพื้นบ้าน หมอลำได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการลำ ทั้งทางด้านเสียงร้อง ปฏิภาณไหวพริบ และความจำเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ ต่อมาเมื่อดนตรีลูกทุ่งมีอิทธิพลมากขึ้นจึงเกิดวิวัฒนาการของลำหมู่อีกครั้งหนึ่ง กลายเป็น ลำเพลิน ซึ่งจะมีจังหวะที่เร้าใจชวนให้สนุกสนาน ก่อนการลำเรื่องในช่วงหัวค่ำจะมีการนำเอารูปแบบของ วงดนตรีลูกทุ่งมาใช้เรียกคนดู กล่าวคือ จะมีนักร้อง (หมอลำ) มาร้อง เพลงลูกทุ่งที่กำลังฮิตในขณะนั้น มีหางเครื่องเต้นประกอบ นำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทรัมเปต และกลองชุด โดยนำมาผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีเดิมได้แก่ พิณ แคน ทำให้ได้รสชาติของดนตรีที่แปลกออกไป ยุคนี้นับว่า หมอลำเฟื่องฟูมากที่สุด คณะหมอลำดังๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี
    ลำซิ่ง หลังจากที่หมอลำคู่และหมอลำเพลิน ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป อันเนื่องมาจากการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีวิทยุโทรทัศน์ ทำให้ดนตรีสตริงเข้ามาแทรกในวิถีชีวิตของผู้คนอีสาน ความนิยมของการชมหมอลำ ค่อนข้างจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดความวิตกกังวลกันมากในกลุ่มนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่แล้วมนต์ขลังของหมอลำก็ได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปแบบที่สะเทือนวงการด้วยการแสดงที่เรียกว่า ลำซิ่ง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2-3 คน) ใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระบาดไปสู่การแสดงพื้นบ้านอื่นให้ต้องประยุกต์ปรับตัว เช่น เพลงโคราชกลายมาเป็นเพลงโคราชซิ่ง กันตรึมก็กลายเป็นกันตรึมร็อค หนังปราโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) กลายเป็นปราโมทัยซิ่ง ถึงกับมีการจัดประกวดแข่งขัน บันทึกเทปโทรทัศน์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนถึงกับ มีบางท่านถึงกับกล่าวว่า "หมอลำไม่มีวันตาย จากลมหายใจชาวอีสาน"



    --------------------------------------------------------------------------------


    กลอนลำแบบต่างๆ
    กลอนที่นำมาเสนอ ณ ที่นี้มีหลายกลอนที่มีคำหยาบโลนจำนวนมาก บางท่านอาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ก็ต้องกราบขออภัย เพราะผู้จัดทำมีเจตนาที่จะเผยแพร่ไว้เพื่อเป็นการสืบสาน วัฒนธรรมประเพณี มิได้มีเจตนาที่จะเสนอให้เป็นเรื่องลามกอนาจาร ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นี่คือวิถีชีวิตของคนอีสาน กลอนลำทั้งหลายทั้งปวงผู้ลำมีเจตนาจะทำให้เกิดความสนุกสนาน ตลกโปกฮาเป็นที่ตั้ง ท่านที่อยู่ในท้องถิ่นอื่นๆ ขอได้เข้าใจในเจตนาด้วยครับ สนใจในกลอนลำหัวข้อใดคลิกที่หัวข้อนั้นเพื่อเข้าชมได้ครับ

    กลอนที่นำมาร้องมาลำมีมากมายหลายอย่าง จนไม่สามารถจะกล่าวนับหรือแยกแยะได้หมด แต่เมื่อย่อรวมลงแล้วจะมีอยู่สองประเภท คือ กลอนสั้นและกลอนยาว

    กลอนสั้น คือ คำกลอนที่สั้นๆ ใช้สำหรับลำเวลามีงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานทำบุญบ้าน หรืองานประจำปี เช่น งานบุญเดือนหก เป็นต้น กลอนสั้น มีดังต่อไปนี้
    1. กลอนขึ้นลำ 2. กลอนลงลำ 3. กลอนลำเหมิดคืน
    4. กลอนโต้น 5. กลอนติ่ง 6. กลอนต่ง
    7. กลอนอัศจรรย์ 8. กลอนสอย 9. กลอนหนังสือเจียง
    10. กลอนเต้ยหรือผญา 11. ลำสีพันดอน 12. ลำสั้น เรื่อง ติดเสน่ห์

    กลอนยาว คือ กลอนสำหรับใช้ลำในงานการกุศล งานมหรสพต่างๆ กลอนยาวนี้ใช้เวลาลำ เป็นชั่วโมงบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง หรือแล้วแต่กรณี ถ้าลำคนเดียวเช่น ลำพื้น หรือ ลำเรื่อง ต้องใช้เวลาลำเป็นวันๆ คืนๆ ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่จะลำสั้นหรือยาวแค่ไหน แบ่งออกเป็นหลายชนิดดังนี้

    1. กลอนประวัติศาสตร์ 2. กลอนลำพื้นหรือลำเรื่อง 3. กลอนเซิ้ง
    4. กลอนส้อง 5. กลอนเพอะ 6. กลอนล่องของ
    7. กลอนเว้าสาว 8. กลอนฟ้อนแบบต่างๆ

  2. #2
    wooth
    Guest
    ขอบคุณครับสำหรับความรู้ที่ให้ ทำให้ผมรักศิลปะอีสานมากยิ่งขึ้น

  3. #3
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ นา ดอกจาน
    วันที่สมัคร
    Mar 2009
    ที่อยู่
    FL,USA
    กระทู้
    229

    re: ตำนาน และความเป็นมาของ หมอลำ

    หมอลำซิ่งซู่มื่อนี่มีตะ หมอร่องเพลงล่ะหลาย หายากแหน่สิแม่น หมอลำ อ้ายเอ้ย ขอบคุณเด้อจ้าที่นำมาบอกให้ฮู้

  4. #4
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ นา ดอกจาน
    วันที่สมัคร
    Mar 2009
    ที่อยู่
    FL,USA
    กระทู้
    229

    re: ตำนาน และความเป็นมาของ หมอลำ

    หมอลำซิ่งซู่มื่อนี่มีตะ หมอร่องเพลงล่ะหลาย หายากแหน่สิแม่น หมอลำ อ้ายเอ้ย ขอบคุณเด้อจ้าที่นำมาบอกให้ฮู้:g:g:g

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •