ประวัติโดยย่อของจังหวัดสกลนคร

คำขวัญของจังหวัดสกลนคร

''พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง

งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง

สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม''


ประวัติโดยย่อของจังหวัดสกลนคร

ประวัติโดยย่อของจังหวัดสกลนคร

สกลนคร นครแห่งการแสวงหา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธศาสน์ พระธาตุ 5 แห่ง แหล่งอารยธรรม 3 พันปี ตามตำนานเล่าว่า เมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองหนองหานหลวงในอดีต หรือสกลนครในปัจุบันนั้น สร้างขึ้นในยุคที่ขอมมีอำนาจในดินแดนนี้ โดยขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทรปัฐนคร ผู้ซึ่งอพยพครอบครัวและบ่าวไพร่ชาวเขมรมาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหานหลวง มีเจ้าปกครองเรื่อยมา จนถึงสมัยพระยาสุวรรณภิงคาระเวลานั้นเกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง เจ้าผู้ครองเมืองจึงต้องพาราษฎรอพยพกลับไปเขมร หนองหานจึงกลายเป็นเมืองร้างอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง เมืองหนองหานหลวงตกไปอยู่ในความปกครองของอาณาจักรล้านช้าง เรียกชื่อเมืองว่า "เมืองเชียงใหม่หนองหาน" ซึ่งแสดงว่า เมืองหนองหานมีความสัมพันธ์กับเวียงจันทน์เสมอมา ก่อนที่อิทธิพลกรุงเทพฯ จะเข้าไปถึงสกลนคร เมื่อประมาณ พ.ศ. 2321-2322


ครั้งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏเจ้าเมืองชื่อ พระบรมราชา (มั่ง) เจ้าเมืองสกลทวาปี ในขณะนั้นไปเข้าข้างเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเป็นกบฏยกทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนทางภาคอีสาน พระบรมราชา (มั่ง) เข้าข้างเจ้าอนุวงศ์ อพยพครอบครัวไปอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้ว เหลือแต่กรรมการเมืองผู้น้อยทิ้งไว้เฝ้าเมือง ต่อมา พ.ศ. 2373 โปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรราชวงศา (ปุต) เจ้าเมืองยโสธร ซึ่งทำความดีความชอบ เมื่อครั้งปราบกบฏ เจ้าอนุวงศ์มารักษาเมืองสกลทวาปี ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาประจันตประเทศวาปี และเปลี่ยนชื่อจากเมืองสกลทวาปีเป็นเมืองสกลนคร



ประวัติโดยย่อของจังหวัดสกลนคร

การปกครอง
สกลนคร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 9,605 ตร.กม. แบ่งการปกครองออกเป็น อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้ว และกิ่งอำเภอภูพาน


อาณาเขต

ประวัติโดยย่อของจังหวัดสกลนคร

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครพนม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์