กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: ฅ.(คน)ทำนาประสาฝรั่งตาน้ำข้าว

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ สาวเมืองกะสิน
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    584

    ฅ.(คน)ทำนาประสาฝรั่งตาน้ำข้าว

    ด้วยราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับภาวะขาดแคลนข้าวในตลาดโลก ทำให้ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย


    ได้รับความสนใจจากนานาชาติในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ในขณะที่ศูนย์วิจับกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า วิกฤติการณ์ข้าวแพงจะดำเนินไปอีก 2-3 ปี จนฝรั่งตาน้ำข้าวหลายชาติหันมาให้ความสำคัญกับการทำกสิกรรม ถึงกับลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนรู้วิธีปลูกข้าวถึงเมืองไทย !?!

    "จอห์น เกรซ ทรอ" เกษตรกรปลูกข้าวโพดเมืองเบียร์ เยอรมนี วัย 52 ปี เป็นคนหนึ่งที่เดินทางมาเรียนรู้วิธีปลูกข้าวที่บ้านควายไทย เขาเดินทางมาครั้งแรกเมื่อต้นปี 2551 กับคณะทัวร์ที่พามาดูการแสดงและสาธิตการทำนาแบบโบราณ ซึ่งบ้านควายไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำเสนอวิถีชีวิตของชาวนาไทยมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน

    บ้านควายไทยตั้งอยู่เลขที่ 300/2 ถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ต.ริมเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพียง 20 กิโลเมตรจากตัวเมือง มีเนื้อที่กว่า 4 ไร่ แรกเข้าไปจะสัมผัสได้กับบรรยากาศบ้านชาวนาไทย ที่สร้างจากภูมิปัญหาชาวบ้าน สร้างจากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นพื้นและฝา หรือที่เรียกว่า "ฟาก" มุงด้วยใบตองตึง วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติแถบภาคเหนือ

    จอห์นยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาตลอดจนความเป็นอยู่เมื่อครั้งอดีตยุ้งข้าวขนาดใหญ่สานจากไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วยขี้ควายและดินเหนียวไม่ให้เกิดรู ใช้เก็บข้าวเปลือก หรือแม้แต่เครื่องคั้นน้ำอ้อยโบราณ หรือที่คนภาคเหนือเรียกว่า "อีดอ้อย" หรือ "หีบอ้อย" โดยมีควายบุญเลิศที่ฉลาดแสนรู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรจากภูมิปัญหาท้องถิ่นนี้

    อย่างไรก็ตามครั้งนั้นจอห์นมีเวลาศึกษาเรียนรู้น้อยมาก เนื่องจากเวลามีจำกัด เขาจึงตั้งใจว่าจะกลับมาศึกษาเต็มรูปแบบอีกครั้ง ดังนั้น เมื่อกลับไปเยอรมนีจึงชักชวนเพื่อนฝูงเกษตรกร 10 คน มุ่งตรงมาเมืองไทยอีกครั้ง ก็เป็นช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

    ราวปลายเดือนมีนาคมใครที่ผ่านไปที่บ้านควายไทย คงแปลกใจเมื่อเห็นภาพฝรั่งตาน้ำข้าวหลายคนกำลังทำท่ายงโย่ยงหยก งกๆ เงิ่นๆ อยู่ในแปลงข้าว เอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน และเปลวแดดหน้าร้อนแสนร้อนของเมืองไทย แต่ทุกคนก็ขะมักเขม้นกับการปักดำต้นกล้า บางคนจับคราดเดินตามควายอยู่ในแปลงนาที่เจิ่งนองด้วยน้ำอย่างทุลักทุเล ขณะที่อีกหลายคนนั่งอยู่บนหลังควาย ทำไม้ ทำมือ ส่งเสียงออกคำสั่งให้ควายทำตาม หลายคนเห็นแล้วอมยิ้ม หรือถึงกับหัวเราะออกมาดังๆ ในความไม่ประสีประสาของบรรดาชาวต่างชาติ แต่กระนั้นพวกเขาก็ตั้งใจทำและเรียนรู้ในสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ลืมเลือนและละทิ้งไว้เบื้องหลัง

    จอห์นบอกว่าการปลูกข้าวสมัยนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการพัฒนาพันธุ์ ตลอดจนการใส่ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ถึงจะได้ผลผลิตที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติมีปัจจัยเสี่ยงต่อการผลิตข้าว อีกทั้งยังสร้างภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือแม้แต่เพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

    "แต่สำหรับการทำการเกษตรและทำนาแบบดั้งเดิมของคนไทย ใช้แรงงานสัตว์ โดยเฉพาะที่ชาวนาใช้ คือ ควายนั้น สามารถหยุดยั้งปัญหาโรคร้อนได้อย่างชะงักงัน แถมยังได้ผลผลิตที่สมบรูณ์ไร้สารพิษตกค้างอย่างน่าทึ่งมาก"

    จอห์นบอกด้วยว่าจากการเรียนรู้การทำนาแบบไทยโบราณ ทำให้ทราบว่า ควายคือขบวนการขับเคลื่อนในการทำนาแบบครัวเรือน หากทั่วโลกสามารถดัดแปลงวิธีการเข้าสู่วงจรเกษตรกรรม ลดการใช้เครื่องจักรกลและยาฆ่าแมลงลง เชื่อว่าคนในโลกนี้จะมีความสุข แต่ก็ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะหยุดยั้งมนุษย์ที่เห็นแก่ได้จำพวกนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะต้องใช้ควาย แต่หมายถึงการเอาสัตว์มาฝึก เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

    "ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี สามารถปลูกข้าวได้เอง ไม่เหมือนประเทศของผม ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ถึงแม้ว่านักวิชาการเกี่ยวกับพันธุ์พืชจะใช้เวลาศึกษามายาวนาน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเสียที"

    วันนี้จอห์นกับเพื่อนเกษตรกรทั้ง 10 คนจบหลักสูตรการเรียนรู้แล้ว และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนไปแล้ว แม้เยอรมนีจะไม่เหมาะต่อการปลูกข้าว แต่เชื่อว่าอย่างน้อยสิ่งที่จอห์นและเพื่อนได้เรียนรู้ จะช่วยให้เขากับเพื่อนๆ บริโภคข้าวที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการซื้อด้วยเงินเพียงอย่างเดียว

    นอกจากคณะของจอห์นแล้วยังมีชาวไทยใหญ่สองผัวเมียที่มาอยู่ที่บ้านควายไทยมานานกว่า 8 เดือนแล้ว "ซอ คันทา" วัย40 ปี บอกว่า ครั้งแรกที่มาต้องการจะศึกษาวิธีทำนาแบบดั้งเดิม เพราะการทำนาบริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ถิ่นฐานบ้านเกิดของเขานั้น เริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลและยาฆ่าแมลงกันมาก แต่กระนั้นผลผลิตก็ยังไม่ดีและไม่คุ้มกับเงินทุนที่ลงไป เขากับเมียจึงมุ่งหน้ามาศึกษาวิธีทำนาแบบดั้งเดิมที่บ้านควายไทย


    8 เดือนผ่านไป ทำให้ซอเข้าใจและได้เรียนรู้ว่า การทำเกษตรกรรมโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสามารถให้ผลผลิตได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย ที่สำคัญยังทำให้มีรายได้เหลือเก็บเอาไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยไม่เดือดร้อนเป็นหนี้สิน

    "หลังจากนี้ไป หากเรากลับไปอยู่บ้าน ก็จะเอาความรู้ตรงนี้ไปใช้ เผยแพร่การทำนาแบบดั้งเดิม เพื่อที่จะได้มีเงินเก็บบ้าง"

    "บุญยิ่ง นาดี" ประธานกลุ่มบ้านควายไทย ผู้ก่อตั้งและดูแลตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน บอกว่า ปัจจุบันโลกของเราเข้าสู่ภาวะวิกฤติในด้านต่างๆ และมีแนวโน้มว่าโลกของเรากำลังเข้าสู่สถานการณ์ขาดแคลนอาหาร ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวในตลาดโลกที่มีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามในส่วนของบ้านควายไทย ซึ่งประกอบธุรกิจเปิดสอนการทำนาให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ปรากฏว่าระยะนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แสดงความจำนงต้องการเรียนรู้กระบวนการการทำนาแบบเต็มรูปแบบ

    "สำหรับกลุ่มคนที่ติดต่อเข้ารับการอบรมและฟังบรรยายเรียนรู้การทำนาในภาคปฏิบัติของบ้านควายไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวต่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรและมีฟาร์มของตัวเอง เช่น เยอรมนี ฮอลแลนด์ และเดนมาร์ก นอกจากนี้ ยังมีคณะนักเรียนชั้นประถมและมัธยม ทั้งเด็กนักเรียนไทยและโรงเรียนนานาชาติ มาศึกษาเรียนรู้การทำนาด้วย แตกต่างจากเมื่อก่อนที่คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาที่นี่จะมากับบริษัททัวร์"

    การสอนทำนาที่บ้านควายไทยจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นใช้เวลาอบรมให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว แบ่งเป็นการบรรยายภาคทฤษฎี 1 ชั่วโมง จากนั้นจะพาไปดูขั้นตอนในส่วนของภาคปฏิบัติ ตั้งแต่กระบวนการแช่เมล็ดข้าว การไถ คราด ซึ่งมีทั้งแบบใช้ควายและรถไถ การหว่าน การดำนา การเกี่ยว บุญยิ่งบอกว่า จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รู้ถึงกระบวนการทำนา หากผู้เรียนมีความสนใจก็สามารถขอคำปรึกษา หรือเรียนรู้เพิ่มเติมได้

    นอกจากนี้แล้วยังมีการแสดงสาธิตเกี่ยวกับควายอีกหลายรายการ เช่น การแสดงดนตรีบนหลังควาย โดยหยิบเอาวิถีชาวนาจริงๆ มาให้นักท่องเที่ยว หรือนักเรียนชาวนามาให้ชม เพราะยามว่างจากการหว่านไถพวกเขาจะพักผ่อนด้วยการเล่นดนตรีบนหลังควาย การแนะนำสายพันธุ์ควาย ประวัติความเป็นมาของควายไทย การฝึกควายด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงความผูกพันระหว่างชาวนากับควาย การสาธิตวิธีการใช้แรงงานควายในภาคการเกษตร การสาธิตการไถนาโดยแรงงานควาย

    สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนทำนานั้นหากเป็นคนไทยจะเสียค่าใช้จ่ายหัวละ 50 บาท ส่วนชาวต่างชาติอยู่ที่ 200 บาท โดยปีที่ผ่านมาหากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นจะมีผู้สนใจมาเรียนทำนาเฉลี่ยเดือนละ 300-400 คน ทว่า ปัจจุบันมีชาวต่างชาติหลายกลุ่มติดต่อเข้ามาดูการสาธิตและอบรมระยะยาว โดยเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาเรื่อยๆ หลังจากนี้

    เป็นวิถีการทำนาแบบไทยๆโดย ฅ.(คน) ทำนา ประสาฝรั่งตาน้ำข้าวจริงๆ

    'ควายเหล็ก' ปะทะ 'เจ้าทุย'

    จาการสำรวจของ"คม ชัด ลึก" พบว่า ชาวนาในประเทศไทยต้องเป็นหนี้ตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดจะทำนาแบบใช้เครื่องจักรกล หากทำนา 1 ไร่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลัก คือ ค่ารถไถใหญ่ไร่ละกรณีไม่มีรถไถเอง 1,000 บาท ยาฆ่าหญ้า 1,000 บาท ค่าน้ำมันประมาณ 1,500 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 6 กระสอบ รวม 4,200 บาท ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 500 บาท รวมแล้วต้นทุนประมาณ 8,200 บาทต่อไร่ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว 1 ไร่ หากได้ผลผลิต 1 เกวียน ขายได้ในราคา 1.5 หมื่นบาท ชาวนาจะมีเงินเหลือหลังขายข้าวไร่ละ 6,800 บาท

    แต่สำหรับวิถีชาวนาไทยดั้งเดิมใช้ควายไถนาจะพบว่าพวกเขาแทบไม่ต้องควักเงินเสียให้ค่ารถไถนาและค่าน้ำมัน ประกอบกับควายกินหญ้าเป็นอาหารจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า มูลที่ควายถ่ายออกมายังเป็นปุ๋ยคอกอย่างดี เมื่อถึงเวลาทำนาใช้ควายไถดะรากหญ้าเน่าจะถูกฟื้นขึ้นมาอยู่หน้าดินรวมกับมูลควายกลายเป็นปุ๋ยหมัก ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น รายได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายข้าวก็จะเข้ากระเป๋าเกษตรกรโดยตรง ไม่กระจายไปอยู่กับพ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายาฆ่าแมลง พ่อค้ายาฆ่าหญ้า เป็นต้น


    ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากบ้านควายไทย ควาย 1 ตัว สามารถไถนาได้วันละ 5 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่เวลา 05.00-08.00 น. กับช่วง 14.00-17.00 น. ตลอดทั้งปีชาวนาจะสามารถปลูกข้าวได้ 3 รุ่น โดยไม่ต้องรอฟื้นสภาพดินมากนัก เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวไร้สารเคมีตกค้าง


    ทีมข่าวรายงานพิเศษ: เรื่อง วัชรชัยคล้ายพงษ์ : ภาพ

    คม ชัด ลึก :)

  2. #2
    pay_2517
    Guest
    ขอบคุณน่ะครับสำหรับข้อมูล .... น่าคิดน่ะแต่เดี่ยวนี้คนใช้นิสัย..... ชอบความสะดวกเอาเข้าไว้
    ทำให้ข้อยคิดหวนถึงอดีตที่ขี่ควายตอนเย็นที่อีพ่อไถนาเสร็จ แล้วเอาเข้าบ้านเด้อ....

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •