หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา


หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา


โดย อดีตพระอริยะคุณาธาร เส็ง ปุสฺโส



คำแถลง

พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลก เมื่ออัญชันศักราช 103 กลียุคศักราช 2513 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

พระผู้มีพระภาคเจ้าโคตโมพระศาสดา ทรงประกาศครั้งแรกเมื่อวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8 ) ปีนั้น

จากนั้นได้เสร็จจาริกประกาศพระพุทธศาสนา ตามคามนิคมราชธานีในประเทศต่างๆทั่งภาคพื้นชมพูทวีป เป็นเวลา 45 ปี

เสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ(เดือน 6 ) อัญชันศักราช 148 กลียุคศักราช 2558 ซึ่งเป็นวันตั้งต้นของพุทธศักราช

นับแต่ทรงประกาศครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ.2519 เป็นวันที่พระอาจารย์ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา) ได้ 2564 ปีแล้ว

พระพุทธศาสนาได้นำสืบทอดกันนานเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่เกิดมีมติผิดแปลกแตกต่างจากเดิมไปบ้าง ในสาระสำคัญบางประการ โดยเฉพาะ พระปรมัตถธรรมซึ่งเป็น ธรรมชั้นสูงที่เข้าใจยาก จึงย่อมเกิดความเข้าใจผิดแผกแตกต่างกันขึ้น แต่เท่าที่พบก็มีในพระสูตรที่สาวกแสดง และในคัมภีร์ที่รจนาในชั้นหลัง

พระสูตรชื่อ สัมมาทิฐิสูตร ของพระสารีบุตรอัครสาวก ตอน แจงรายละเอียดของวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท ท่านเอานิเทศแห่งวิญญาณขันธ์มาใส่ลง

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เกิดจากความพลั้งเผลอในคราวคัดลอกต่อๆกันมา ได้นำเอานิเทศวิญญาณขันธ์มาใส่เข้าไป

มิใช่ฐานะที่พระอรหันต์ชั้นอัครสาวกจะแสดงผิดพลาด เพราะว่าพระอรหันต์ย่อมรู้แจ้งวัตถุอันเป็นที่ประดิษฐ์ของอวิชชาแล้ว


หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา



ที่ตั้งของอวิชชา

วัตถุอันเป็นที่ประดิษฐานของอวิชชา 8 ประการ คือ


1.ปุพพันตะ จุดเริ่มตันของสังสารวัฏ คือจุดแรกที่ปฐมวิญญาณเกิดมีอวิชชา และภวตัณหา ประยุกต์แล้วจึงเกิดเป็นสัตว์

2 .อปรันตะ จุดสุดท้ายของสังสารวัฏ คือจุดบรรลุอรหันตผล ปฐมวิญญาณพ้นจากความเป็นสัตว์ หยุดเกิดตายในสังสารวัฏ ดำรงอยู่อย่างอิสรเสรี ไม่มีสังขารใดๆเป็นที่อาศัย บรรลุถึงเอกภาพสมบูรณ์ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งโดๆเป็นตนของตนอย่างแท้จริง (ปรมาตมันบริสุทธ์) ดำรงอยู่อย่างสันติตลอดกาลนิรันดร

3.ปุพพันตาปรันตะ จุดกลางจากจุดเริ่มตันไปยังจุดสุดท้ายสัตว์ท่องเที่ยวเกิดตายในสังสารวัฏอันยาวนาน ด้วยปัจจัย 3 ประการที่เรียกว่าสังสารจักร

คือกิเลส อภิสังขาร(กรรม) วิบาก(ขันธ์)

4.ปฏิจจสมุปบาท (ปัจจยาการ 12 ) เหตุปัจจัยการเกิดแห่งทุกข์ซึ่งเกิดสืบเนื่องกันเป็นลูกโซ่

5. ทุกข์ โดยรวบยอดได้แก่ เบญจขันธ์

6.ทุกข์สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ซึ่งได้แก่ตัณหาทั้ง3 ซึ่งมี อวิชชา เป็นหัวหน้า ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

7. ทุกขนิโรธ พระอมฤตนิพพาน คือจิตบริสุทธิ์ที่สุด (ปรมสุทธิ์)สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด

8. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางปฏิบัติพาให้บรรลุพระอมฤตนิพพาน ซึ่งได้แก่ พระอริมรรค 8


หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา



ความหมายของวิญญาณ


ความจริงคำว่า “วิญญาณ” ในภาษาบาลี มีความหมาย 2 อย่าง คือ


1.ปฐมวิญญาณ ซึ่งเป็นธาตุแท้ในกลุ่มธาตุแท้ทั้ง 6 คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ

วิญญาณ ธาตุแท้ไม่มีการเริ่มต้น สิ่งใดที่ไม่มีการเริ่มต้น สิ่งนั้นย่อมไม่มีสิ้นสุด เป็นอักขรัง (อักษร) แปลว่า ไม่สิ้นสุด พระอมฤตนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงบัญญัติเรียกว่า ?อักขรัง? แปลว่า ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกัน

ดังนั้น พระนิพพานจึงมิใช่สิ่งดับสูญ เพราะหมายถึงปฐมวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว


2. วิถีวิญญาณ ซึ่งหมายถึง วิญญาณทางทวารทั้ง 6 สำหรับรับรู้อารมณ์สื่อสัมผัส สิ่งนี้มีลักษณะเกิดดับ เหมือนสังขารทั้งหลาย เพราะเกิดจากกรรมในอดีตชาติ

เพราะเหตุที่ “วิญญาณ” มีความหมายสองอย่างนี้เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติคำว่า ?จิตตัง? ขึ้นใช้ในความหมายของ ปฐมวิญญาณ เราใช้ในภาษาไทยว่า ?จิต? เพราะเราไม่มีคำที่มีความหมายตรงกับคำนี้ใช้

แต่คงจะเป็นเพราะคำว่า “วิญญาณ” เป็นศัพท์วิชาการโบราณซึ่งจำเป็นต้องใช้อยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงยังทรงใช้อยู่ เช่นใน ปฏิจจสมุปบาท ก็ทรงใช้คำว่า?วิญญาณ? ในความหมายของปฐมวิญญาณ

ดังนั้นเมื่อเราพบคำนี้ จึงควรสำเหนียกว่า ความหมายถึง ปฐมวิญญาณ หรือ วิถีวิญญาณ อย่าด่วนตีความหมายไปทางใดทางหนึ่ง พึงใคร่ครวญดีๆก่อน จึงตีความลงไป



หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา



เหตุเกิดวิญญาณ

วิญญาณทั้ง 2 ประเภทเกิดขึ้นเพราะเหตุ คือ


1. ปฐมวิญญาณ เกิดเป็นสัตว์เพราะถูกอวิชชาและภวตัณหาประยุกต์


2. วิถีวิญญาณ เกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 เพราะมีอารมณ์เข้าสู่ทวาร ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ?อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ 3 สิ่งประจวบกัน เกิดเป็นผัสสะ (สัมผัส)? เพราะเหตุนี้ วิญญาณทุกประเภทเพราะเหตุทั้งนั้น สมจริงดังสาวกภาษิตว่า

“ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”

สิ่งเหล่าใด เกิดเพราะเหตุพระผู้บรรลุนิพพานแล้ว ตรัสบอกเหตุของสิ่งเหล่านี้( บอกเหตุเกิด) พระนิพพานซึ่งเป็นภูมิดับเหตุของสิ่งเหล่านั้นอันใด พระผู้บรรลุนิพพานแล้ว ก็ตรัสบอกพระนิพพานนั้นด้วย( บอกเหตุดับ) พระมหาเถระทรงมีพระวาทะอย่างนี้

ดังนั้นเมื่อจะพูดให้ถูกต้องควรจะพูดว่า “สัตว์ท่องเที่ยวเกิดตายในสังสารวัฏ” ไม่ควรพูดว่า “วิญญาณ”



วิญญาณ ท่องเที่ยวเกิดตายในสังสารวัฏ… เพราะว่าปฐมวิญญาณ เมื่อเป็นธาตุแท้ ไม่มีการท่องเที่ยวเกิดตาย แต่เมื่อเกิดมีอวิชชาและภวตัณหา จึงเกิดเป็นสัตว์ตั้งแต่นั้น จึงมีการท่องเที่ยวเกิดตายในสังสารวัฏ เมื่อมาปฏิบัติกำจัดเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว ก็พ้นจากความเป็นสัตว์ หยุดเกิดตายได้


ข้อความนี้ในพระสูตรเทวตาสังยุต ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฏก ที่ข้าพเจ้าเลือกเฟ้นมาแปลและอธิบายไว้ใน หลักการและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนานี้

ข้าพเจ้าชี้แจงยืดยาว ก็ด้วยมุ่งหมายให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง และประสงค์ให้พระพุทธศาสนาแท้ๆ(บริสุทธิ์) ดำรงอยู่นานๆเพื่อสำเร็จประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงไปนานจนถึงกาลอวสานของพระพุทธศาสนา



พระอริยะคุณาธาร เส็ง ปุสฺโส ป.ธ.๖





หลักการปฏิบัติธรรมและวิธีการสูงสุดของพระพุทธศาสนา



ขอบคุณ
http://ariyadham.saiyaithai.org