เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ” แนะวิธีแก้จน [17 มี.ค. 51 - 05:32]

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวบรรยายพิเศษให้ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฟังเรื่องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง มีน้ำมันบนดินใช้ไม่มีวันหมด ไม่เหมือนน้ำมันดิบใต้ดิน ที่จะหมดไม่เกิน 100 ปี และยุคนี้มีประชากรโลกอย่างน้อย 2,000 ล้านคน กำลังมีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะจีน มีประชากร 1,300 ล้านคน และกำลังจะถึง 1,600 ล้านคน อินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน และยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีมอเตอร์ที่ฉุดเศรษฐกิจของโลกเพียงตัวเดียวคือสหรัฐอเมริกา แต่วันนี้มอเตอร์ที่จะฉุดเคลื่อนเศรษฐกิจ ตัวแรกยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแรงมาก มอเตอร์ตัวที่สองคือจีน มีประชากร 1,300 ล้านคน รวมกับฮ่องกงและไต้หวัน พลังไม่แพ้สหรัฐฯ ต่อไปประเทศที่มีบ่อน้ำมัน จะสู้น้ำมันบนดินไม่ได้ เพราะใช้ไม่รู้จักหมด ใช้แล้วเกิดใหม่

“ปัจจุบันสินค้าเกษตรไม่ใช่อาหารคนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอาหารเครื่องจักรด้วย เครื่องจักรมาแย่งกินกับคนแล้ว เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของประเทศไทย ในประวัติศาสตร์น้ำมันขึ้นราคาไม่เคยฉุดเอาสินค้าเกษตรแพงด้วย แต่ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นไปแล้วตามราคาน้ำมัน มีหลายฝ่ายกลัวสินค้าเกษตรแพงคนในเมืองจะเดือดร้อน การเมืองเดือดร้อน ต้องเข้าใจว่าประเทศที่เจริญได้ในประวัติศาสตร์ เช่นญี่ปุ่นจะยอมให้ราคาข้าวและสินค้าเกษตรสูงไว้ก่อน เพราะผลิตเอง 100% แต่สินค้าอื่นต้องนำวัตถุดิบเข้ามาแล้วผลิตส่งออกไป”

สินค้าเกษตรเปรียบทองในคลัง
ตอนไทยเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่ยอมเรื่องข้าว ยอมกินข้าว กก.ละ 200 บาท ไทยจะขายให้ กก.ละ 10 กว่าบาทญี่ปุ่นไม่รับ เพราะสินค้าเกษตรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ถ้าขายถูกลง เงินในกระเป๋าก็น้อยลงเหมือนตะวันออกกลางที่รวยได้เพราะน้ำมันแพง ไทยผลิตอาหารเลี้ยงมนุษย์ แต่คนผลิตกลับจนที่สุด ซึ่งผิดหลัก ลองศึกษาดูทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ร่ำรวยแล้วแต่ไม่ยอมให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

สำหรับประเทศที่สามารถร่ำรวยขึ้นมาได้จะใช้สูตร 2 สูง คือเงินเดือนสูงและราคาสินค้าที่ผลิตได้เองมีราคาสูง เพราะสินค้าที่ผลิตด้วยตนเองเหมือนทองคำแท่งที่อยู่ในคลัง ประเทศไทยน่าจะปรับราคาสินค้าเกษตร จะได้แพงไม่แพ้ราคาน้ำมันของโลก และไม่ควรจะถูกกว่าทองคำ ขณะที่ต้องขึ้นเงินเดือนของข้าราชการด้วย แล้วเอกชนจะขยับตาม เพื่อปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกัน โดยส่วนตัวมองว่าไม่เป็นเงินเฟ้อ

“เคยมีไหมที่ประเทศไทย พูดถึงรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรควรอยู่ที่เท่าไหร่ ผมโตมาป่านนี้ยังไม่เคยได้ยิน มีแต่รายได้ขั้นต่ำของกรรมกร คนส่วนใหญ่ของชาติเราลืมสนิท พอสินค้าแพงหน่อยกระทรวงพาณิชย์ก็กดราคา ทำไมไม่ขึ้นเงินเดือน ตามสูตร 2 สูง เราไม่ใช่ประเทศสังคมนิยม แต่เดินตามน้องๆสังคมนิยม ขณะที่ประเทศสังคมนิยมไม่ใช้วิธีนี้แล้ว เพราะรู้ว่าสุดท้ายหมดตัว เติ้งเสี่ยวผิงถึงต้องปฏิวัติใหม่”

ถ้าราคาสินค้าเกษตรสูง เกษตรกรมีเงินไปจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม ทุกอย่างไปได้ดีทั้งหมด ช่วงนี้รัฐบาลต้องทุ่มเงินให้เศรษฐกิจเดิน กดราคาให้เกษตรกรยากจนมานานแล้ว จะมีนโยบายพักชำระหนี้ก็ไม่เสียหาย แต่ที่ดีที่สุดต้องซื้อสินค้าเกษตรแพง แล้วเกษตรกรจะกระตือรือร้นเพิ่มผลผลิต ธนาคารกล้าปล่อยกู้ นักธุรกิจกล้าเข้าไปสนับสนุน แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ พอจะกำไรรัฐบาลเข้าไปควบคุมราคา ยังไงก็ขาดทุน ใครจะกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เพราะกลายเป็นความเสี่ยง

หนุนสร้างเขื่อนต่อสู้เอ็นจีโอ
นายธนินท์กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 130 ล้านไร่ มีที่ปลูกทำนา 62 ล้านไร่ มีระบบชลประทานไม่เกิน 25 ล้านไร่ ฝาก สศช.ลองศึกษาดู ยกพื้นที่ 25 ล้านไร่มาลงทุนเต็มที่ จัดรูปที่ดิน ทำระบบชลประทานให้ทันสมัยที่สุด จ้างผู้เชี่ยวชาญไปดูงานไต้หวันที่ทำนาเหมือนไทย เชื่อว่า 25 ล้านไร่ที่ลงทุนไป ผลผลิตจะมากกว่า 62 ล้านไร่ และไม่มีความเสี่ยง ต้องการน้ำก็ปล่อยน้ำเข้าได้ทันที มากไปก็สูบน้ำออก ไม่เหมือนกับทุกวันนี้ผลผลิตเสียหายไปกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมจำนวนมาก หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะกล้าสู้กับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หรือพวกกลุ่มอนุรักษ์ ต้องอธิบายให้เข้าใจ บอกว่าถ้าทำเขื่อนแล้วสัตว์น้ำหายไปกี่ชนิด กรมประมงก็จะมีเทคโนโลยีเพาะพันธุ์ปล่อยกลับคืนได้ การสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำไม่ท่วม ใช้น้ำได้ประโยชน์เต็มที่

“พื้นที่ปลูกข้าว 25 ล้านไร่ ถ้าทำระบบชลประทาน จัดรูปที่ดิน หาพันธุ์ที่ดี เอาเทคโนโลยีใส่เข้าไป ทำระบบให้ดี ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ให้ได้ประมาณ 800 กก.ต่อไร่ ภายใน 1 ปี ทำนา 3 รอบ จะได้ผลผลิตรวม 60 ล้านตัน จำนวนจะได้เท่ากับนำ 62 ล้านไร่ ที่ทำกันขณะนี้ พื้นที่ปลูกยางอีก 30 ล้านไร่ ปลูกปาล์มในที่ลุ่ม มีน้ำมาก อีก 12 ล้านไร่ จากปัจจุบันยางพารามีอยู่ 14.34 ล้านไร่ปาล์ม 3.3 ล้านไร่”

ขณะที่การคิดมูลค่าราคาข้าวเปลือกควรอยู่ที่ กก.ละ 15 บาท ไม่ใช่ กก.ละ 8-9 บาท ถ้าราคาอยู่ที่ กก.ละ 15 บาท จะได้เงิน 900,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 25 ล้านไร่ ขณะที่ยางพาราถ้าฮั้วกัน 3 ประเทศที่เป็นผู้ผลิต คือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ปรับราคายางให้สูงเป็น กก.ละ 150 บาท จากปัจจุบัน 80 บาท

“ถ้าราคาเป็นแบบนี้เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ เงินเดือนข้าราชการก็จะสูงขึ้นได้แล้ว นั่นคือทองคำ นั่นคือน้ำมันของเรา อย่าควบคุม ถามว่าเราควบคุมราคาน้ำมันได้ไหม เมื่อควบคุมไม่ได้ แล้วทำไมต้องมาควบคุมน้ำมันของเรา ให้ประเทศเราจนอยู่ทำไม ทั้งที่สินค้าเกษตรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ”.



ปล. เจ้าสัวเว้าได่ถืกใจแฮงหลาย เพิ่นคือบ่สมัครส.ส.เน๊าะ สิได่เลือกเพิ่นมาแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรบ้านเฮา