กรรมจากแรงเสน่หา เรื่องจากพระไตรปิฎก


ในสมัยพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ มหากาล เป็นพระโสดาบัน เขามาวัดเชตวันทุกวันพระเพื่อถือศีล ๘ และฟังธรรมเสมอ โดยเขามักค้างคืนที่วัดแล้วกลับบ้านในยามเช้า วันหนี่งเขามาวัดถือศีลฟังธรรมแล้วพักผ่อนที่วัดตามปกติ พอรุ่งเช้าก็ไปล้างหน้าที่สระน้ำหน้าวัด เผอิญมีขโมยลักทรัพย์แล้ววิ่งหนีมา ถูกชาวบ้านไล่ตามมาจึงทิ้งของที่ขโมยไว้วางข้างสระน้ำที่นายมหากาลยืนล้างหน้าอยู่ ฝ่ายชาวบ้านวิ่งมาถึงสระน้ำเห็นทรัพย์ของตนวางอยู่ข้างสระ และเห็นนายมหากาลอยู่ใกล้ทรัพย์ จึงเข้าใจผิดว่านายมหากาลเป็นขโมย ก็เลยรุมทุบตีจนถึงแก่ชีวิต

เรื่องนี้ได้รับกล่าวขานกันว่านายมหากาลเป็นคนดี มาถือศีลฟังธรรมทุกวันพระ แล้วทำไมเขาจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมยและถูกทุบตีจนถึงแก่ชีวิต พระภิกษุบางรูปจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกเธออย่าดูกรรมแต่ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ต้องดูกรรมในอดีตด้วยว่าเขาก่อกรรมชั่วอะไรไว้บ้าง

แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสเล่าบุพกรรมของนายมหากาลว่า ชาติก่อนเขาเคยเกิดเป็นเจ้าพนักงานคุ้มครองคนเดินทาง วันหนึ่งพบสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางมา เขาเกิดความเสน่หาในภรรยาของคนเดินทาง ได้ออกอุบายอ้างว่าเดินทางในตอนค่ำมีอันตรายมาก จึงชวนสามีภรรยานั้นให้นอนพักค้างคืนที่บ้านของตน และในคืนนั้นเองเขาได้แอบเอาแก้วมณีไปซ่อนไว้ที่เกวียนของคนเดินทาง

พอรุ่งเช้าเขาก็แกล้งพูดว่าแก้วมณีของเขาหายไป แล้วสั่งให้บริวารค้นหาของจากคนรอบข้าง และอุบายที่เขาวางไว้ก็สำเร็จผล เมื่อบริวารคนสนิทพบแก้วมณีนั้นอยู่ในเกวียนของคนเดินทาง เขาจึงสั่งให้บริวารคุมตัวคนเดินทางไว้แล้วทุบตีจนตาย ที่เขาทำเช่นนี้เพื่อจะได้ครอบครองภรรยาของนักเดินทางที่เขาเกิดเสน่หานั่นเอง

ผลกรรมนี้ทำให้เจ้าพนักงานคุ้มครองคนเดินทาง (นายมหากาล) ต้องตกนรกเป็นเวลานาน เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย และถูกทุบตีจนเสียชีวิตเป็นอย่างนี้มาแล้วร้อยชาติ

คนเราก่อกรรมเพราะกิเลสเป็นตัวผลักดัน จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าเกิดความหลงใหลในภรรยาของคนเดินทาง เมื่อเกิดความเสน่หาจึงวางแผนการณ์คิดร้ายเพื่อหวังครอบครองภรรยาเขา จนก่อให้เกิดกรรมออกอุบายใส่ร้ายคนเดินทางแล้วทุบตีจนตาย เมื่อก่อกรรมแล้วก็ต้องรับผลของกรรม ชดใช้กรรมนั้นในภพชาติต่อๆ ไปจนกว่าจะหมดวาระกรรมนั้น ทั้งต้องตกนรกทั้งเกิดใหม่ก็ต้องรับผลกรรมเช่นเดียวกับที่ทำไว้กับคนอื่น

เรื่องจากพระไตรปิฏก ที่มาธรรมจักร