โดย เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แผ่นดินไทย แดนสุวรรณภูมิที่เคยดินดำน้ำชุ่ม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปัจจุบันมีแต่ความเสื่อมโทรม

ยิ่งเมื่อศึกษาดูตัวเลขการประเมินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 ก็ยิ่งน่าห่วง เพราะบอกให้รู้ว่าดินมีปัญหาการชะล้างพังทลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินขาดอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้นจาก 182.1 ล้านไร่ เป็น 192.7 ล้านไร่ในช่วงปี 2532-2544 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ ดินมีปัญหานี้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละเกือบ 1 ล้านไร่

การที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงและพื้นที่เกษตรกรรมที่ลดลงด้วยทำให้ต้องมีการเพิ่มผลผลิต โดยใช้สารเคมี เกิดปัญหาสารเคมีตกค้าง ยิ่งทำให้ดินมีปัญหามากขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่กำหนดเป้าหมายว่าจะฟื้นฟูดินที่มีปัญหาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านไร่และลดพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่จึงไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน

และหากปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ไม่เกินสิบปีดินทั่วประเทศหมดสภาพ เพาะปลูกอะไรไม่ขึ้น แล้วลูกหลานไทยจะอยู่กันอย่างไร

การฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์ด้วยวิธีการปลูกต้นไม้ยืนต้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผล เพราะต้นไม้ให้ร่มเงาช่วยให้ดินเย็น ซากพืชช่วยให้ดินร่วนซุยซับน้ำได้ดี ช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้ดินให้เหมาะกับการเติบโตของสิ่งมีชีวิต

การปลูกต้นไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดของดาบวิชัยแห่งจังหวัดศรีสะเกษจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการฟื้นฟูดิน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน

แต่การส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดียวของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสวนสักสวนสนทางภาคเหนือ หรือสวนยูคาลิปตัสในภาคอีสานและภาคกลาง และปัจจุบันขยายผลไปถึงต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ล้วนแต่มีคำถามที่ยังคาใจผู้คนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ว่าจะช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรดิน

ในบรรดาพืชเชิงเดี่ยวด้วยกันต้นยูคาลิปตัสเป็นพืชที่มีแนวโน้มปลูกในสเกลที่กว้างขวางมากที่สุด เฉพาะที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งก็มีเกษตรกรปลูกแล้วกว่า 5 ล้านครอบครัว หากรวมทั่วประเทศคงกว่า 7-8 ล้านครอบครัวและถ้าปลูกครอบครัวละสองสามไร่ก็จะมีพื้นที่ยูคาลิปตัสล้วนๆ กว่า 20 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสานตอนล่างและริมฝั่งโขง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ดินดำน้ำชุ่มมาก่อน

อย่างไรก็ดี ประเมินผลดีผลเสียของการปลูกยูคาลิปตัสเชิงเดี่ยวมีประเด็นถกเถียงและขัดแย้งกันมานานโดยยังไม่มีข้อยุติ

ผู้เขียนได้เสนอความเห็นกว้างๆ เรื่องการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 มาครั้งหนึ่งแล้ว บทความนี้จึงขอขยายความถึงผลกระทบยูคาลิปตัสเชิงเดี่ยวที่มีต่อดินดังนี้

ประเด็นการยับยั้งกระบวนการฟื้นฟูดินทางธรรมชาติ งานวิจัยของนิตยาพร ตันมณี และคณะ ศึกษาผลกระทบของแทนนินต่อระบบนิเวศบางประการของดินจากการปลูกยูคาลิปตัสคามาลดูเลนซีสอายุ 4 ปี, 17 ปี และแปลงหญ้า พบว่าการสะสมของแทนนินจากการย่อยสลายของใบกิ่งและรากของยูคาลิปตัสทับถมและย่อยสลายในดินอย่างต่อเนื่องในดินทุกฤดูกาลและทุกระดับความลึกมีมากที่สุดในแปลงยูคาลิปตัสอายุ 17 ปี

งานวิจัยของ Rice and Pancholy (1973) ทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า แทนนินเพียง 2 ppm สามารถยับยั้ง Nitrification ซึ่งเกิดขึ้นในดินชั้นบน (0-15 ซม.) ได้อย่างสมบูรณ์ภายในเวลา 3 สัปดาห์ แต่ดินในแปลงยูคาลิปตัส (0-15 ซม.) อายุ 17 ปี มีปริมาณแทนนินเฉลี่ยทุกฤดูกาล 89 ppm ทำให้การยับยั้ง Nitrification ของแทนนินเกิดขึ้นสูงมาก แสดงว่าสารที่มีอยู่ในต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นสารจำพวก Polyphenolic compound น่าจะมีผลยับยั้งการเจริญของ nitrifying bacteria

การปลูกยูคาลิปตัสในดินติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน จึงยับยั้งกระบวนการสร้างไนเตรทในดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการฟื้นฟูดินทางธรรมชาติและยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ที่อาศัยพืชเป็นที่อาศัยและเป็นอาหารในบริเวณนั้นด้วย

ประเด็นผลกระทบต่อการงอกและการเจริญเติบโตของพืชอื่น รตน หิรัญ ศึกษาผลกระทบของใบยูคาลิปตัสสดและแห้งต่อการงอกของเมล็ดพืช 4 ชนิด คือ ถั่วลันเตา ถั่วดำ ถั่วแดง และถั่วฝักยาว ที่เพาะในส่วนผสมของยูคาลิปตัส 0, 5, 10, และ 15 กรัมต่อทรายที่ใช้ 1 กิโลกรัม

ปรากฏว่าใบยูคาฯทั้งสดและแห้งทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพืชทั้งสี่ชนิดลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ใบยูคาลิปตัสในอัตราส่วน 15 กรัมจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกพืชทั้งสี่ชนิดต่ำมาก

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เดชชัย ศิริกาญจน์ (2532) ซึ่งทดลองใส่อินทรียวัตถุจากใบยูคาลิปตัสในอัตรา 0, 0.5, 2.5, 5, 10 และ 25 กรัมต่อวัสดุเพาะซึ่งเป็นทรายหนึ่งกิโลกรัม มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของพืชทดสอบ 9 ชนิด คือ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม กระถิน ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปอแก้ว และงา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเปอร์เซ็นต์การงอกของพืชส่วนใหญ่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับการใส่ 2.5 กรัมต่อกิโลกรัมของวัสดุเพาะ

ส่วนการทดลองในกระถางถึงผลการเจริญเติบโตของพืช 9 ชนิดข้างต้นในอัตราส่วน 0, 25, 50, 100, และ 200 กรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม พบว่าน้ำหนักแห้งของลำต้นและรากของพืชทุกชนิด (ยกเว้นข้าวฟ่างและมันสำปะหลัง) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับดินที่ไม่ใส่ใบยูคาลิปตัส

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จักรฤษณ์ หอมจันทร์ และคณะ (2532) ที่สรุปว่าอินทรียวัตถุจากยูคาลิปตัสกระทบในทางลบต่อเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตและผลผลิตพืชหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดินได้รับอินทรียวัตถุระดับสูงตั้งแต่ 50 กรัมต่อดิน 1 กิโลกรัมขึ้นไปซึ่งเป็นปริมาณอินทรียวัตถุเฉลี่ยที่สะสมอยู่เหนือดินสวนป่าอายุ 4 ปี และ Khan, M.A., et al (1999) ซึ่งวิจัยไม้ชนิดนี้ที่ปากีสถานพบว่าผลกระทบจะเพิ่มมากขึ้นหากเนื้อดินเป็นทราย

และยังพบด้วยว่าสารสกัดจากใบยูคาลิปตัสเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่า pH ของดินลดลง ซึ่งหมายถึงทำให้ดินเป็นกรดมากขึ้น และสารแทนนินที่สะสมในดินผิวยังไปยับยั้งการเคลื่อนที่ของธาตุอาหารเช่นฟอสฟอรัสและไนโตรเจนทำให้ข้าวโพดที่ปลูกต่อจากต้นยูคาลิปตัสโตช้าลงด้วย (Sanginga and Swift 1992)

อย่างไรก็ดี การศึกษาของ จักรกฤษณ์ หอมจันทร์ และคณะ (2532) ในสวนป่าอายุ 4 ปี สรุปว่า คุณสมบัติของดินรวมทั้งสิ้น 13 ประการ ได้แก่ เนื้อดิน, total acidity, pH, อินทรียวัตถุ, C.E.C., ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม exchangeable Al, โซเดียม และค่าความนำไฟฟ้า (EC) ของดินในสวนป่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับดินนอกสวนป่า

อาจสรุปได้ว่าสวนยูคาลิปตัสที่อายุน้อยยังไม่ส่งผลกระทบต่อดินมากนัก

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2529) สรุปว่าผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสที่มีต่อคุณภาพของดินนั้น โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสภาพของดินก่อนปลูกและการตัดฟันเป็นสำคัญ ในเรื่องการตัดฟันพบว่ายูคาลิปตัสที่ปลูกในพื้นที่ดินเลวหากไม่มีการตัดฟันเลยคุณสมบัติของดินจะดีขึ้นได้บ้างจากการสะสมและสลายตัวของใบยูคาลิปตัส แต่หากเป็นป่าที่ปลูกเพื่อตัดฟันใช้ประโยชน์ในระยะสั้น ปริมาณธาตุอาหารจะลดลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการขนย้ายมวลชีวภาพออกไปจากพื้นที่นั่นเอง

สรุปได้ว่าการปลูกสวนยูคาลิปตัสเป็นพื้นที่ใหญ่และเป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อดินซึ่งจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแน่นอน

การปลูกยูคาลิปตัสเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากจึงมีผลกระทบต่อดินทั้งด้านการยับยั้งกระบวนการฟื้นฟูดินทางธรรมชาติ และการงอกและการเจริญเติบโตของพืชอื่นที่ชัดเจน และถ้าหากยังปล่อยให้ปลูกต่อไปเรื่อยๆ ตามแรงกระตุ้นจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมก็จะกระทบต่อดินซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน

รัฐบาลจึงต้องกำหนดแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นยูคาลิปตัสเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 ประการ คือ

1) ควบคุมระดับการผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษจากต้นยูคาลิปตัสไว้ไม่ให้เกินปริมาณที่ใช้ในประเทศเท่านั้น เพื่อไม่ให้ปลูกมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2) จำกัดโซนและควบคุมการปลูกยูคาลิปตัสให้ชัดเจน ไม่ให้รุกล้ำไปในนาข้าวและในพื้นที่ดินเกษตรที่สมบูรณ์

3) ออกกฎหมายกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในแปลงยูคาลิปตัสขนาดใหญ่ทุกแปลง ทั้งที่ปลูกแล้วและที่จะปลูกใหม่เพื่อกำหนดมาตรการจัดการผลกระทบ และ

4) ศึกษาต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ปลูกต้นยูคาลิปตัสและพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ทุกชนิด เพราะหากปล่อยให้มีการปลูกยูคาลิปตัสเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ต่อไปโดยปราศจากการควบคุมและการศึกษาผลกระทบ จะเสี่ยงต่อการสูญเสียความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551