กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลรำลึก ประวัติความเป็นมา

Hybrid View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    มิสบ้านมหา 2008 - 2009 สัญลักษณ์ของ หมูหวาน
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    1,353
    บล็อก
    5

    เรื่องฮิตน่าอ่าน 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลรำลึก ประวัติความเป็นมา

    5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลรำลึก ประวัติความเป็นมา
    ความหมาย
    วันฉัตรมงคล หมายถึงวันมงคลดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันมีพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นปฐมแห่งการบรมราชาภิเษก

    ความเป็นมา
    พระราชพิธีฉัตรมงคลมีพระบรมราชาธิบายในพระราชพิธี ๑๒เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมาควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติจึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล พระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวริเริ่มขึ้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าอาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยธิราช เวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์
    ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ตอน ๑ พระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษกอีกตอน ๑
    พระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคลในปัจจุบันได้จัดพระราชพิธีอนุโลมพระราชพิธี ดังกล่าวนี้


    • วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 แล้ว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี แต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งรัชกาลก่อน ๆ โดยได้มีการย่นย่อพระราชพิธีให้น้อยลง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในเวลานั้น โดยทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธีเพียง 2 วัน คือวันที่ 4 พฤษภาคม 2493 เป็นวันจุดเทียนชัย และวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

    พระราชพิธีเบื้องต้น
    อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มีการประกอบพระราชพิธีเบื้องต้น โดยได้กระทำติดต่อกันเป็นระยะ ๆ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2493 เป็นต้นมา คือ
    1.พิธีทำน้ำอภิเษก วันที่ 18 มีนาคม 2493 เวลา 16.00 น. ประธานสงฆ์ได้ประกาศเทวดาในการทำน้ำอภิเษก และวันที่ 19 มีนาคม วันรุ่งขึ้น เป็นพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก
    2.พิธีการจารึกพระสุพรรณบัฎ ดวงพระราชสมภพ และตราพระราชลัญจกร กระทำในวันที่ 20 และวันที่ 21 เมษายน 2493 อักษรพระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฎ มีว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"
    3.พิธีถวายราชสักการะ แด่สมเด็จพระบรมราชบุพการี กระทำในวันที่ 3 พฤษภาคม 2493
    4.การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2493 กระทำเพียงเบื้องต้น ส่วนวันรุ่งขึ้นจึงจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    พีธีทำน้ำอภิเษก
    สำหรับพิธีทำน้ำอภิเษก ได้มีการตั้งพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระพุทธเจดีย์ที่สำคัญจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรทั้งหมด 18 แห่ง ทั้งนี้ได้ปฏิบัติเหมือนครั้งรัชกาลก่อน ๆ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ก็ส่งเข้ามาเจือปนเป็นน้ำมูรธาภิเษกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรง และทรงรับน้ำอภิเษกสำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป
    พระพุทธเจดีย์สำคัญที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกทั้ง 18 แห่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งเดียวกับที่เคยทำมาเมื่อครั้งรัชกาลก่อน เพียงแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อที่เรียกตามมณฑล มาเป็นเรียกตามจังหวัด เท่านั้น ที่ตั้งพระพุทธเจดีย์สำคัญเหล่านั้น คือ จังหวัดสระบุรี ตั้งพิธีที่พระพุทธบาท, จังหวัดพิษณุโลก ตั้งพิธีที่วัดพระศรีมหาธาตุ, จังหวัดสุโขทัย ตั้งพิธีที่วัดมหาธาตุ, จังหวัดนครปฐม ตั้งพิธีที่พระปฐมเจดีย์, จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งพิธีที่วัดพระมหาธาตุ, จังหวัดลำพูน ตั้งพิธีที่พระธาตุหริภุญชัย, จังหวัดนครพนม ตั้งพิธีที่พระธาตุพนม, จังหวัดน่าน ตั้งพิธีที่พระธาตุแช่แห้ง, จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพลาญชัย, จังหวัดเพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ, จังหวัดชัยนาท ตั้งที่วัดพระบรมธาตุ, จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร, จังหวัดนครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช, จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง, จังหวัดจันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ, จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอไชยา, จังหวัดปัตตานี ตั้งที่วัดตานีสโมสร และ จังหวัดภูเก็ต ตั้งที่วัดทอง โดยทางจังหวัดแต่ละจังหวัดจะประกอบพิธีระหว่างวันที่ 18 - 19 มีนาคม 2493 มีราชบุรุษไปพลีกรรมตักน้ำ ณ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วเชิญมาเข้าพิธีในมณฑลพิธี ประธานสงฆ์ประกาศเทวดา จุดเทียนชัย พระสงฆ์ 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์ แล้วผลัดเปลี่ยนกันสวดภาณวาร เมื่อตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชแล้ว เชิญน้ำศักดิ์มายังกรุงเทพ
    พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณปัฎ

    สำหรับที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมการประกอบพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2493 ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เจ้าพนักงานตั้งเครื่องนมัสการ ตั้งศาลบูชาเทวดา ตั้งเครื่องบัตรพลีต่าง ๆ รวม 24 อย่าง

    ในครั้งนั้น พระราชวงศ์ที่เสด็จมาในการประกอบพระราชพิธี คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระสงฆ์ประธานคณะที่รับนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม และนายจินดา วัชรโชติ กับนายใจ ทับเทศ โหรสวดบูชาเทวดา

    วันประกอบพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ คือ วันที่ 23 เมษายน 2493 ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีตั้งโต๊ะ 8 ตัว สำหรับการจารึกพระสุพรรณบัฎ โต๊ะจารึกดวงพระบรมราชสมภพ โต๊ะแกะพระราชลัญจกร โต๊ะจารึกพระนามสมเด็จพระสังฆราช โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรโต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และโต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล ทุกโต๊ะตั้งหันหน้าไปทางทิศอาคเนย์ อันเป็นทิศมงคล ทุกโต๊ะจะมีเทียนเงิน เทียนทอง กับพานดอกไม้ตั้งอยู่ นอกจากนี้ในพระอุโบสถ ยังตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง 3 ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำ หัวหมู สำหรับบูชาพระฤกษ์

    เมื่อได้ฤกษ์แล้ว องค์ประธานจุดเทียนทุกโต๊ะ โหรลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ พนักงานแกว่งบัณเฑาะว์ ประโคมดนตรี ตลอดเวลาที่จารึก
    สำหรับบุคคลสำคัญซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น มี หลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ ศาสตราภัย) หัวหน้ากองประกาศิต หน้าที่อาลักษณ์ จารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงในพระสุพรรณบัฏ, พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) จารึกดวงพระบรมราชสมภพ, หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปิน แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
    เมื่อจารึกพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกรเสร็จแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) หลั่งน้ำสังข์ที่พระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร และพระสุพรรณบัฏอื่น ๆ แล้วสอดใบมะตูม 1 กิ่ง มี 3 ใบ ต่อจากนั้นจัดเตรียมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชน์ 3 รอบ เป็นเสร็จพิธี และเตรียมแห่เข้ามณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณต่อไป

    พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

    พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้กำหนดพระฤกษ์ประกอบพระราชพิธี ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งเจ้าพนักงานจะต้องจัดตกแต่งพระราชมณเฑียร โดยตั้งเครื่องประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2493 ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตลอดทั้งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโรงพิธีพราหมณ์ ศาลาสหทัยสมาคม การตกแต่งก็กระทำดังได้เคยปฏิบัติมา อาทิ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จัดพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร ตั้งพระราชอาสน์ ทอดเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ตั้งเตียงพระสงฆ์สวดและอาสนสงฆ์ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งพระแท่นมงคล ตั้งเครื่องมงคลต่าง ๆ รวม 6 หมวด คือ หมวดสิ่งสักการะ หมวดพระราชสิริ หมวดเครื่องมูรธาภิเษก หมวดเครื่องต้น หมวดพระแสง และหมวดเครื่องสูง นอกจากนี้ยังจัดตกแต่งพระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ วิมานพระสยามเทวาธิราช และอาสนสงฆ์
    พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งพระแท่นบรรทม และตั้งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร คือ พระแส้หางช้างเผือก ศิลาบดโมรา กุญแจทอง พานพืช มีข้าวเปลือก ถั่ว งา เมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดฝ้าย จั่นหมากทอง และพานฟักมณฑปพระกระยาสนาน ตั้งตั่งไม้อุทุมพรหุ้มผ้าขาว มีถาดทองปูด้วยผ้าขาว แล้วลาดด้วยใบแก้ว ตั้งโต๊ะเคียงข้างตั่ง เมื่อตั้งพระครอบมูรธาภิเษกแล้ว วางใบอ้อ ซึ่งเป็นไม้กาลกิณีรองไว้ใต้ผ้าขาวปูพื้นสำหรับทรงเหยียบ บนฐานพระมณฑปตั้งราชวัตรพื้นขาวลายทอง มีเครื่องสูงทองแผ่ลาด 3 ชั้น สีทอง นาก เงิน ปัก ทั้ง 4 มุม ๆ ละ 3 องค์ ที่ราชวัตรประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย จั่นหมาก และจั่นมะพร้าว รวมทั้งตั้งบุษบกประดิษฐานพระชัยนวโลหะและพระพิฆเนศ ตั้งศาลพระอินทร์และศาลเทวดาจตุโลกบาลด้วย

    ที่ศาลาสหทัยสมาคม ตั้งโรงพิธีพราหมณ์ มีราชวัตร 4 มุม ตั้งเตียงมณฑล ประดับฉัตรรองกระดาษ 5 ชั้น ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย จั่นหมาก จั่นมะพร้าว มีโต๊ะทองประดิษฐานเทวรูปต่างๆ อาทิ พระอิศวร พระอุมา พระวิษณุ พระลักษมี พระพรหม และพระพิฆเนศ และตั้งโต๊ะเทวดานพเคราะห์ เป็นต้น

    ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จัดเทียนพระมหามงคล วันละคู่ ตั้งเครื่องนมัสการทองใหญ่ และพระแท่นทรงกรวย และกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) จัดตั้งเครื่องถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียงในงานวันพระราชพิธี

    เมื่อตกแต่งสถานที่ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2493 แล้ว มีการแห่พระสุพรรณบัฏ พร้อมดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตอนเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีจุดเทียนชัย โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จทรงจุด พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร สมเด็จพระสังฆราชทรงจุดเทียนชนวนให้มหาดเล็ก พร้อมด้วยธูปเงิน เทียนทอง และดอกไม้บูชาพระมหาเศวตฉัตร 5 แห่ง และบูชาปูชนียสถานสำคัญ 13 แห่ง

    ครั้นถึงวันประกอบพระราชพิธี วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมูรธาภิเษก ต่อจากนั้นทรงเครื่องต้น เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้สตปฎลเศวตฉัตร แล้วสมาชิกรัฐสภา ถวายน้ำอภิเษก พราหมณ์พิธีถวายน้ำเทพมนต์ เวียนไปครบแปดทิศ ต่อจากนั้นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตต์ ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา ถวายพระพรเป็นภาษามคธ นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายพระพรเป็นภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนี ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายเวทเปิดศิวาลัยไกรลาส แล้วทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธด้วยภาษามคธ สำหรับพระสุพรรณบัฏได้จารึกพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"
    เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว พระราชครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการตอบ จบแล้ว ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" จากนั้นทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ และพระธำมรงค์วิเชียรจินดา จมื่นสิริวังรัตน (เฉลิม คชาชีวะ) เลขาธิการพระราชวัง ทูลเกล้าฯ ถวายดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ทรงโปรยพระราชทานแก่พราหมณ์ แล้วเสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณ สู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 80 รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรกเป็นปฐม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรลา แล้วเสด็จขึ้น สมเด็จพระสังฆราชทรงดับเทียนชัย เป็นเสร็จพระราชพิธี

    อนึ่ง การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ เป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งขั้นตอนในพิธีที่สำคัญ คือพระราชพิธีการรับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากราชบัณฑิตและพราหมณ์ ที่พระที่นั่งอัฐทิศ พระราชพิธีที่พราหมณ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตลอดจนเครื่องราชูปโภคและพระแสงอัษฎาวุธ ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นการประกาศความเป็นผู้นำของชาติ สำหรับประเทศไทยแล้ว ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่งดงามสูงส่งยิ่งพระราชพิธีหนึ่ง และวันที่ 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลปีนี้ ก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งแล้ว ข้าพระพุทธเจ้า คณะทีมงาน thaisnews.com ขอพระราชทานพระราชวโรกาสนี้ ถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตย์สถาพรอยู่ในไอศูรย์ราชสมบัติเป็นมิ่งขวัญของเหล่าปวงประชาพสกนิกรไทยทั่วหล้า อีกทั้งทรงพร้อมด้วยพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ตราบชั่วกาลนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

    5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลรำลึก ประวัติความเป็นมา5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลรำลึก ประวัติความเป็นมา

    ที่มา : thaisnews.com , www.m-culture.go.th
    ขำบางโอกาส ฉลาดเป็นบางเวลา บ้าเป็นพักๆ แต่น่ารักตลอดกาล (^_^)

  2. #2
    นักการภารโรง สัญลักษณ์ของ บ่าวคนเดิม
    วันที่สมัคร
    Jan 2006
    ที่อยู่
    Amphoe Det Udom
    กระทู้
    3,148
    ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการศึกษาของน้องๆ :g

  3. #3
    ฝ่ายเทคนิคและโปรแกรม สัญลักษณ์ของ เต็มใจให้เธอ
    วันที่สมัคร
    Jul 2007
    ที่อยู่
    ดอกคูณ เสียงแคน ขอนแก่น
    กระทู้
    1,157
    บล็อก
    6
    สาระอ้อยต้อยเนาะครับกระทู้นี้
    ซวดๆให้หมูหวานก่อนเนาะพี่น้อง :g


Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •