ทางสายไหม

........จากงานเขียนเรื่อง แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ 2475 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เขียนเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมกับประเทศไทย สรุปความได้ดังนี้
จีนและอินเดียเป็นบ่อกำเนิดอารยธรรมแหล่งใหญ่ที่เจริญต่อเนื่องมายาวนานหลายพันปี สองประเทศสองวัฒนธรรมติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ ในช่วงเวลาที่ตะวันตกเริ่มต้นคริสต์ศักราช พระพุทธศาสนาอยู่ในช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองมากในชมพูทวีปและแผ่ถึงประเทศจีน ในยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองนี้ ผู้เดินทางระหว่างจีนกับอินเดีย นอกจากพ่อค้าวาณิช ก็มีพระภิกษุที่เป็นธรรมาจารย์และหลวงจีนจาริกมาศึกษาและสืบพระพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ
........จีนกับอินเดียแม้ว่าดินแดนจะไม่ห่างไกลนัก แต่มีภูเขาหิมาลัยกั้นขวางอยู่ การเดินทางโดยทางบกจึงต้องอ้อมไกลไปโดยทางที่เรียกกันมาว่า "ทางสายไหม" (Silk Road) เส้นทางสายนี้ขยายไปเชื่อมกับถนนของจักรวรรดิโรมัน การเดินทางต้องผ่านแผ่นดินแห้งแล้งกันดารแห่งเอเชียกลาง ข้ามภูเขาและทะเลทรายยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีภัยจากโจร ตลอดจนบางกาลสมัยมีสงครามการรบพุ่งระหว่างคนต่างเผ่า ต่างถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคมาก
.........ด้วยเหตุนี้จึงมีการค้นหาทางเดินเรือขึ้นมาเป็นทางเลือก และการจาริกทางทะเลก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยทางทะเลมีแผ่นดินเป็นแหลมใหญ่หรือคาบสมุทรคั่นขวางระหว่างจีนกับอินเดีย สมัยเมื่อ 50 ปีก่อนมีคำเรียกรวมๆ ว่า "อินโดจีน" หรือ คาบสมุทรอินโดจีน
........คาบสมุทรอินโดจีนไม่ใช่อินโดจีนของฝรั่งเศสที่มีเพียง ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเกิดขึ้นโดยทางการเมืองซึ่งดำรงอยู่เพียงระหว่างปี ค.ศ.1891-1954 ก็มีอันต้องสลายหมดไป คาบสมุทรอินโดจีนประกอบด้วยเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย พม่าและมลายู (ต่อมาขยายเป็นมาเลเซีย) จากแผ่นดินบนคาบสมุทรอินโดจีนมองลงไปในทะเลมีหมู่เกาะที่เป็นเส้นทางผ่าน เช่น สุมาตรา ชวา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่รวมอยู่ในอาณาจักรที่ชาวตะวันตกเรียกให้ว่า อินโดนีเซีย ซึ่งแปลว่า "แดนหมู่เกาะอินเดีย"
.......นอกจากการค้าขายแล้ว พ่อค้าวาณิชและนักเดินทางที่เดินทางผ่านไปมา เมื่อต้องแวะพำนักอยู่ในท้องถิ่นนั้นนานๆ ก็เกิดการตั้งหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง และกลายเป็นเจ้าถิ่นเสียเอง จึงปรากฏว่าต่อมาได้มีบ้านเมืองตลอดจนอาณาจักรขึ้นมาตามชายฝั่งทะเล บนเกาะ และบนเส้นทางพาณิชย์เหล่านี้
ดังนั้น เส้นทางสายไหมที่มีทั้งหมด 3 สายหลัก คือ
….1.สายทะเลทราย
….2.สายทุ่งหญ้า
….3.สายทะเล
.....ประเทศไทยมีเส้นทางสายไหมสัมพันธ์กับทางทะเลมากที่สุด คือ เริ่มจากทะเลจีนใต้ มณฑลกวางตุ้งหรือมณฑลฟูเจี้ยนตอนใต้ของจีน เข้าสู่คาบสมุทรมลายู ผ่านประเทศไทย มาเลเซีย เข้าสู่เกาะสุมาตราไปยังมหาสมุทรอินเดีย ผ่านศรีลังกา อินเดีย เข้าสู่ทะเลแดง ขึ้นฝั่งที่อียิปต์ก่อนมุ่งสู่กรุงโรม ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน
......เส้นทางนี้เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์ หมิง ระหว่าง พ.ศ.1948-1976 ที่พระองค์ได้ให้แม่ทัพขันทีนามว่า เจิ้งเหอ เดินเรือค้าขายเส้นไหม ผ้าไหม และสินค้าอื่นๆ กับประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศ ตลอดเส้นทางสายไหมสายทะเล โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่ตั้งของเมืองเก่า เป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งรกรากและเส้นทางสายไหมในอดีต

ที่มา : http://info.matichon.co.th/youth/you...0091050&show=1