นักธรณีวิทยา จุฬาฯ เผยความเอียงของแกนหมุนของโลก กำลังขยับตัวลดลง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกบ่อยขึ้นในอนาคต ชี้ไทยมีโอกาสเกิดแต่ไม่มากนัก เตือนปชช. ยังไม่ต้องตื่นตระหนก ระบุความน่าจะเป็นในการมีอยู่ของรอยเลื่อนใต้กทม.ค่อนข้างชัดเจน เชื่อกรมทรัพย์ฯ กำลังจับตามองว่าจะแอคทีฟหรือไม่ เผยขณะนี้เมืองไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว หากผลิตจริงจังใช้เวลาถึง 5 ปี
นักธรณีฯเผยองศาแกนโลกขยับตัวลดลง ส่งผลแผ่นดินไหวถี่ทั่วโลก

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมมหามกุฏจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาพิเศษเรื่อง "แกะรอยแผ่นดินไหว จากญี่ปุ่น...สู่จีน...จะไปไหนต่อ? " โดยมีนักวิชาการ และนักธรณีวิทยา เข้าร่วมการเสวนา

ผศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ระบุว่า พิบัติภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารภพยากรณ์ได้ล่วงหน้า ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีขีดความสามารถสูงมากเพียงใด ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น อย่างเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวยังยากที่แจ้งเตือนล่วงหน้า โดยแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2538 ขนาด 6.8 ริคเตอร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5,500 คน

"สำหรับแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบในเมืองไทยตามข้อมูลที่สืบค้นพบว่า ใน อ.ปัว จ.น่าน มีพระธาตุชื่อพระธาตุดินไหว และในบริเวณใกล้เคียงมีบันทึกว่าเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้ ในปีพ.ศ.2370 และในปีพ.ศ. 2518 ก็มีบันทึกว่าที่ จ.ตาก มีแผ่นดินไหว 5.6 ริคเตอร์ และที่หลายคนทราบกันดีว่าในปี พ.ศ.2088 ที่จ.เชียงใหม่ มีเหตุการณ์ยอดเจดีย์หลวงพังลงมา ส่วนนี้ก็คิดว่าน่าจะมาจากแผ่นดินไหวเช่นกัน"

ผศ.ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับชั่วระยะเวลาใกล้ๆ นี้ในวันที่ 16 พ.ค. 50 ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวเหนือจ.เชียงราย เข้าไปในประเทศลาว มีขนาด 6.3 ริคเตอร์ ผลกระทบคือผนังอาคารในจ.เชียงรายหลายแห่งร้าว
"ในพม่ามีรอยเลื่อนขนาดใหญ่มากชื่อว่ารอยเลื่อนสะแกง ซึ่งรอยเลื่อนนี้ได้แตกแขนงเข้ามาในเมืองไทย เป็นแขนงรอยเลื่อนเช่น รอยเลื่อนแม่ปิง รอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เป็นต้น หากเกิดแผ่นดินไหวอันเนื่องมาจากรอยเลื่อนสะแกงจะส่งผลมายังรอยเลื่อนแขนงที่อยู่ในเมืองไทยและทำให้รู้สึกได้ เราจึงควรจับตามองรอยเลื่อนสะแกงมากที่สุด"

นักธรณีวิทยารายนี้ ระะบุต่อว่า ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่ามีกลุ่มรอยเลื่อน 19 กลุ่มในไทยที่ยังเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลัง ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ
สำหรับในประเด็นของรอยเลื่อนที่อยู่ใต้กทม.นั้น ผศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า จากการตรวจสอบและสำรวจ ค่อนข้างชัดเจนว่ามีรอยเลื่อนอยู่ใต้กทม.จริง น่าจะเป็นรอยเลื่อนจากแขนงของรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ แต่จะเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่นั้น อยู่ในระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล

"จากแผนที่การเกิดแผ่นดินไหว เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเกิดเหตุพิบัติภัยแผ่นดินไหวน้อยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่โอกาสในการเกิดก็ยังมีอยู่ เชื่อว่าหากเกิดจริง คงไม่รุนแรงมากนัก ในฐานะนักวิชาการด้านแผ่นดินไหวถือได้ว่ายังไม่วิตกมากนักสำหรับแผ่นดินไหวในไทย ดังนั้นประชาชนจึงอย่าตื่นตระหนก"

ด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักธรณีวิทยา ศูนย์ศึกษาพิบัติภัย ระบุว่า โลกเรามีเปลือกโลกหลายแผ่นที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะนี้สังเกตได้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยกว่าเมื่อก่อน มีความเป็นไปได้สูงว่าปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเป็นการปรับตัวของแผ่นเปลือกโลก เนื่องมาจากสาเหตุของมุมเอียงของแกนโลก มีการขยับตัวน้อยลงในอัตรา 0.475 ฟิลิปดาต่อปี ปกติขณะนี้โลกของเรามีแกนเอียงเท่ากับ 23.5 องศา

"การที่แกนของโลกเอียงน้อยลงทำให้เขตร้อนของโลกเคลื่อนที่เข้าหาเส้นศูนย์สูตรโลกเร็วมาก เร็วจนน่าตกใจ การขยับของมุมเอียงแกนโลกนี้นอกจากจะทำให้เขตร้อนลดลงปีละประมาณ 1,080 ตร.กม. แล้วเรายังพบว่าจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของโลกมีการขยับตัวตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งควรจะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการตื่นตระหนกจนเกือนไป"

ขณะที่ ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง จากศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย(Gisthai) ระะบุว่า แม้ว่านักธรณีวิทยาที่เก่งที่สุดในโลกก็สามารถระบุการเกิดเหตุแผ่นไหวได้แค่นาทีเดียว ขนาดพายุนาร์กิสมีการเตือนล่วงหน้าในระดับ 2-3 วันหรือ การเกิดธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่มีการเตือนล่วงหน้าได้ป็นชั่วโมงยังยากที่จะหลีกเลี่ยงได้พ้น ดังนั้นแผ่นดินไหวจึงเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถจะสู้ได้ ที่ทำได้คืออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบลดความเสี่ยง

"ภัยพิบัติแบบนี้จะตื่นตัวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อย่างพายุนาร์กิสมีการเตือน 2-3 วันว่าจะเคลื่อนผ่านอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ข่าวสารยังไม่ข้าถึงมากเพียงพอหาเป็นไปได้ สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ข่าวระดัยบความสนใจสูงๆ เช่นลงข่าวหน้าหนึ่ง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการกระจายข้อมูลให้คนทราบมากขึ้น"

ด้าน รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หน.ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ตอบคำถามในประเด็นการสร้างเขื่อนบนแนวรอยเลื่อยที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวในหลายประเทศรวมทั้งไทยว่า การเก็บกักน้ำฝนที่มีน้ำหนักมากอาจจะมีผลต่อรอยเลื่อนที่อยู่ข้างใต้ จนอาจทำให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนแต่ก็เป็นโชคดีที่นักธรณีวิทยาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเล็งเห็นปัจจัยในข้อนี้จึงสร้างเขื่อนที่รองรับแผ่นดินไหวได้

ต่อข้อถามที่ว่า ปริมาณนักธรณีวิทยา แผ่นดินไหวในเมืองไทยมีมากน้อยเพียงใดนั้น อ.ปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ในไทยยังใช้ระบบการทำงานนักวิชาการแบบลูกครึ่ง คือใช้จากสาขาฟิสิกส์และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยามาทำงานร่วมกัน

รศ.ดร.มนตรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กรมอุตุฯ มีเครื่องรายงานการเกิดแผ่นดินไหว 40 เครื่อง ซึ่งถือว่าดีมาก แต่ที่ขาดในขณะนี้คือขาดผู้เชี่ยวชาญโดยสถานการณ์การผลิตบุคคลด้านนี้ของจุฬาฯ ขณะนี้มีป.ตรี 30 คน, ป.โท 10 คน, และป.เอก 2-3 คนเท่านั้น พูดได้เต็มปากว่าขาด และบุคคลระดับผู้เชี่ยวชาญที่จะมาทำตรงนี้ได้ต้องเป็นระดับป.โท ป.เอก เท่านั้น หากผลิตจริงต้องใช้เวลานาน 5 ปี ซึ่งล่าสุดมีอยู่ 1 คนที่ส่งไปอบรมที่ญี่ปุ่นขณะนี้จะกลับมาอีก 1 เดือนข้างหน้า แล้วมาเรียนต่อป.เอก ใช้เวลาอีก 1 ปี ซึ่งจะจบมาเป็นนักแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ

ด้าน ดร.สุคคเณศ์ ตุงคะสมิต ฝ่ายวิจัยคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ไทยมีที่ตั้งของประเทศอยู่ห่างจากแนวแผ่นดินไหวค่อนข้างมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งประเทศรอบข้างที่ในยุคก่อนเรียกว่ารัฐกันชน เช่น เวียดนามด้านขวา และ พม่าด้านซ้าย รวมทั้งอินโดนีเซียในภาคใต้ เหล่านี้จะช่วยซับแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามหากประชาชนต้องการสอบถามถึงข้อมูลในเรื่องดังกล่าว สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ภัยพิบัติ จุฬาฯ ได้ที่โทร. 0 - 2218 - 5555