ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือสองเล่ม (จากการแนะนำของนิตยสารในบริษัท)ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมปัจจุบัน

เล่มแรกคือ เรื่อง " The world is flat " แต่งโดย Thomas L.Friedman
ส่วนเล่มที่สองคือ " Post knowledge based society " แต่งโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

หนังสือทั้งสองเล่มแบ่งโลกของเราออกเป็นหลายๆยุคด้วยกัน โดยเล่มแรกแบ่งโลกเป็นสามยุคคือ ยุคโลกาภิวัตน์ 1.0, 2.0 และ 3.0 ส่วนเล่มที่สองแบ่งออกเป็นสี่ยุคคือ ยุคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคมแห่งการเรียนรู้ และยุคหลังสังคมแห่งการเรียนรู้

ถึงแม้หนังสือทั้งสองเล่มจะมีการจัดแบ่งโลกเป็นยุคต่างๆไม่เหมือนกัน แต่ก็ได้เล่าถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค โดยพลังขับเคลื่อนที่เหมือนกัน กล่าวคือ ในยุคโลกาภิวัตน์ 1.0 หรือยุคสังคมเกษตรกรรม จะเป็นยุคที่ทุกคนมุ่งเน้นผลผลิตทางด้านการเกษตร การผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนและขายหรือแบ่งให้ผู้อื่นเมื่อตัวเองผลิตได้มากเกินความต้องการ ต่อมาในยุคโลกาภิวัตน์ 2.0 หรือยุคสังคมอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าจะมุ่งเน้นการใช้เครื่องจักรแรงงานมาช่วย มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆทุกอย่างทำเป็นระบบ แต่เมื่อมีการกำเนิดของ internet และโปรแกรม web browser สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนไป โดยโลกของเรามุ่งสู่ยุคสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง...(ผมเองเพิ่งมาใช้คอมพิวเตอร์อย่างจริงๆจังๆเมื่อสามปีมานี้เอง สาบาน!!)

พวกเรายังคงพอจำกันได้ว่า ก่อนหน้าที่จะมี internet มาใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบกับตอนนี้ การทำงานของพวกเราเปลี่ยนไปมาก การมี e-mail เข้ามาใช้ ทำให้การติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกและรวดเร็วมาก การมี web server กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้เราค้นหาข้อมูลได้รวดเร็วเมื่อต้องการ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดไหม่ๆเกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง chat การแบ่งปันรูปภาพ วีดิทัศน์ ข้อมูลต่างๆทำให้เกิดสังคมออนไลน์ขึ้น

โลกในยุคโลกาภิวัตน์ 3.0 หรือยุคสังคมแห่งการเรียนรู้และยุคหลังสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นยุคที่โลกได้ก้าวเลยความคิดของ "การแข่งขัน" ไปสู่ "การร่วมสร้างสรรค์" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมสร้างสรรค์ทางสังคมมิใช่เพื่อการพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เป็นโลกที่รังสรรค์ภูมิปัญญาที่ก้าวเลยเรื่อง "ทรัพย์สินทางปัญญา" ไปสู่ "ภูมิปัญญามหาชน" เป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์จาก "การพึ่งพิง" ไปสู่ "สองโลก" ที่เสริมกันระหว่าง "ความเป็นอิสระ" และ "การพึ่งพาอาศัยกัน" ในส่วนของกระบวนการและรูปแบบของการเรียนรู้ก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ความรู้ถูกจำกัดอยู่แค่ในตำรา รวมไปถึงการถ่ายทอดประสบการณ์จากหัวหน้าไปสู่ลูกน้อง กลับกลายเป็นว่าความรู้มีอยู่มากมายให้เราได้ค้นคว้าเองจาก internet การได้เข้าสังคมกับคนอื่นๆทั้งในและนอกบริษัท รวมถึงในโลก cyber ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนะคติไหม่ๆ มีการร่วมมือแก้ปัญหา รวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงสินค้าผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆอย่างรวดเร็วในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน...

พัฒนาการเรียนรู้ เท่าทันเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น...
ครับ ยังไงก็ตามแต่แม้ว่าในอนาคตหลายๆอย่างอาจจะหมดไปหรือร่อยหรอลง แต่ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องมีอะไรอีกหลายๆอย่างมาทดแทน ไม่นานหรอกครับ...