ความเร็วของแสง

........ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิกประเภทวิทยาศาสตร์ กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า นักฟิสิกส์ได้รู้มานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้วว่า แสงที่เราเห็นด้วยตาเปล่านั้น เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ถึงแม้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีหลายชนิด เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ รังสีอินฟราเรด รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา แต่รังสีทุกชนิดก็มีความเร็วในสุญญากาศเท่ากันหมด ซึ่งเรียกว่าความเร็วแสง การทดลองของ ไมเคิลสัน และ มอร์ลีย์ เมื่อ 119 ปีก่อน ยืนยันอย่างมั่นเหมาะว่า ไม่ว่าแหล่งกำเนิดแสง หรือคนดูแสง จะมีสภาพการเคลื่อนที่เร็วช้าอย่างไร ความเร็วแสงที่คนดูแสงวัดได้จะตรงกันหมดคือ 299,792,458 กิโลเมตร/วินาที ทุกครั้งไป

แต่ถ้าแสงเดินทางในสสาร เช่น อากาศ น้ำ หรือแก้ว เพราะเหตุว่าความเร็วแสงในตัวกลางเหล่านี้ขึ้นกับความยาวคลื่นของแสง ดังนั้น แสงแต่ละสีจะมีความเร็วไม่เท่ากัน นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ทดลองวัดความเร็วของแสงคือ กาลิเลโอ เมื่อราว 400 ปีก่อน ให้คน 2 คนถือตะเกียงยืนบนยอดเขาสูงที่อยู่ห่างกันราว 10 กิโลเมตร แล้วให้ปิด-เปิดตะเกียงส่งแสงสู่กันเป็นจังหวะทันทีที่เห็นแสงจากอีกฝ่ายหนึ่ง การทดลองล้มเหลว เพราะแสงมีความเร็วสูงเกินที่จะวัดได้ ต่อมานักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ชื่อ โอ. โรเมอร์ สังเกตเห็นว่า ในบางเวลาดวงจันทร์ต่างๆ รอบดาวพฤหัสบดีจะโคจรไปทางเบื้องหลังของดาวพฤหัสบดี ดังนั้น มันจะถูกดาวพฤหัสบดีบดบัง เขาทำนายได้ว่าปรากฏการณ์จันทรคราสบนดาวพฤหัสบดีจะเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าเวลาที่ทำนายนั้นจะเกิดภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าจะให้พยากรณ์ล่วงหน้านานเป็นเดือน เวลาที่เกิดจันทรคราสจะผิดเสมอ โดยมีเวลาที่โลกอยู่ใกล้-ไกลดาวพฤหัสบดีมากที่สุด นี่เป็นเงื่อนไข โรเมอร์ สรุปว่า เพราะแสงต้องใช้เวลาในการเดินทางจากดาวพฤหัสบดีถึงโลก อีก 6 เดือนต่อมา เมื่อโลกอยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีมากที่สุด เขาได้เห็นปรากฏการณ์จันทรคราสเกิดช้าลง 22 นาที จึงเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของวงโคจรโลก ซึ่งเป็นระยะทางที่แสงจากดวงจันทร์ต้องเดินทางมากขึ้น หารด้วยเวลา 22 นาที ได้ตัวเลขความเร็วแสงสูงกว่าความเร็วที่เรายอมรับกันในปัจจุบันประมาณ 30%

ถึงกระนั้นการทดลองของโรเมอร์ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะเขาได้แสดงให้เห็นว่าแสงมิได้มีความเร็วสูงเสียจนมนุษย์ไม่สามารถจะวัดได้ และตัวเลขความเร็วที่เขาทดลองวัดได้ก็ดีพอสมควร เมื่อพิจารณาสภาพเทคโนโลยีในสมัยนั้น

แอล. ฟิโซ ชาวฝรั่งเศส คือนักฟิสิกส์คนแรกที่ประสบความสำเร็จในการวัดความเร็วแสงบนโลกใน พ.ศ.2392 เมื่อเขาวัดค่า c ได้ = 314,000 กิโลเมตร/วินาที (c คือความเร็วแสงในสุญญากาศ และ n คือดัชนีหักเหของตัวกลาง ซึ่งตามปกติจะมีค่ามากกว่า 1) ซึ่งสูงกว่าค่าจริงประมาณ 5% และนับแต่นั้น นักฟิสิกส์ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีการวัดความเร็วแสงให้ละเอียดและถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก

จนกระทั่งถึงวันนี้ความเร็วแสงเป็นค่าที่นักฟิสิกส์รู้ และวัดได้อย่างละเอียดและถูกต้องที่สุดค่าหนึ่ง