วิธีดับทุกข์ เพราะ...ฝืนธรรมชาติ

วิธีดับทุกข์ เพราะ...ฝืนธรรมชาติ



ธรรมชาติ คือ ของที่เกิดเอง และเป็นเองตามวิสัยของโลก เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น มันเป็นของธรรมดา ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปของมัน “เช่นนั้นเอง”

ขอแยกธรรมชาติออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีจิตใจ เช่น คนและสัตว์ และฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น

ทุกคนที่เกิดมาอยู่ในโลก ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติก็จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้ ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้ อาจ ก่อคุณให้แก่เรา อย่างสูงสุดจนถึงพระนิพพานได้ ถ้ามีสติและปัญญาพอ

แต่เพราะเหตุที่เราไม่เข้าใจ ในกฎของธรรมชาติหรือชอบ “ฝืนธรรมชาติ” ธรรมชาติจึงก่อความทุกข์ให้เราในหลาย ๆ รูป หลาย ๆ แบบ เช่น


ฝ่ายที่มีจิตใจ คือ คนและสัตว์

- อยากได้สิ่งที่รักก็ไม่ได้ ได้ที่รักมาแล้วก็ไม่อยากให้พลัดพรากจากกันไป ไม่ว่าจะจากเป็นหรือ จากตายก็ตาม

- สิ่งที่หวังก็ไม่ได้ดังใจหวัง ครั้งได้แล้วก็ยึดถือและหวงแหนห่วง กังวล วิตกทุกข์ร้อน กลัวจะสูญไป

- อยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นที่ชื่นใจ ก็กลับนำแต่ความเดือดร้อน นานาประการมาให้ อยาก อยาก อยาก


ฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ฝนตก แดดออก

- ฝนตกลงมา ทำให้เปียกแฉะ เสียข้าวของ จึงไม่อยากให้ฝนตกครั้นฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง อยากให้ฝนตกก็ไม่ตก

- แดดออกมา ทำให้ร้อนมาก ต้นไม้ปลูกใหม่ ๆ ก็ตาย ไม่อยากให้แดดออก ครั้งแดดออก ก็ทำให้ของเสียก็ไม่อยากให้แดดออก อยาก...ไม่อยาก...


อย่าว่าแต่หลายคนหลายคามคิด ชนิดนานาจิตตังเลย แม้ในคนเดียวกัน บางวันบางเวลาก็อยากให้ฝนตก และอยากให้แดดออก ถ้าแดดฝนมีจิตใจ มันคงเป็นบ้าตายในนานแล้ว เพราะไม่รู้ใจของมนุษย์แม้ในคนเดียวกัน

รวมความหมายว่า ความอยากของคนนี่แหละ ทำให้คนชอบฝืนธรรมชาติ และเมื่อฝืนธรรมชาติ คนที่ฝืนนั่นแหละจะถูกธรรมชาติมัน “ตบหน้า” เอา ถ้าไม่รู้จักเข็ดก็จะต้องถูกมันตบแล้วตบอีก และจะถูกตบอยู่เรื่อยไป จนกว่าจะปฏิบัติต่อธรรมชาติ อย่างถูกต้องและยุติธรรม

เมื่อนั้น ธรรมชาติก็จะประทานพร ให้เรามีความสงบเย็น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า ส่องแสงร้อนแรงเพียงใดก็ตามที่


ถ้าเราเอาแต่คร่ำครวญว่า

“แหม...แดดจะออกอีกแล้ว...ฝนจะตกอีกแล้ว...”

แล้วก็เอาแต่หงุดหงิด รำคาญใจ ทุกข์ใจ แต่ถ้าแดดมันจะออก หรือฝนมันจะตก มันก็เป็นของมันไปตามธรรมชาติใครจะบังคับขอร้องต้องการหรือไม่ต้องการ ถึงคราวออกหรือตก มันก็เป็นของมันไป

ถ้าเราไปฝืนหรือบังคับ ก็มีแต่จะได้รับ “ความทุกข์กินเปล่า” คือ ทุกข์โดยไม่ได้อะไร ที่เป็นมรรคผลตอบแทนเลยนอกจาก “สุขภาพจิตเสื่อม”

เมื่อเรารู้ว่าธรรมชาติทุกสิ่งไม่มีใครฝืนได้ เรา “ปรับใจ” ยอมรับกฎของธรรมชาติ แล้วใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น

“แดดออกก็ดีเหมือนกัน จะได้ตากข้าวตากของ ฝนตกก็ดีเหมือนกัน จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ ต้นไม้ชุ่มชื่น อากาศเย็นสบาย…”

โปรดทราบว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไร ที่จะมีคุณหรือโทษเพียงด้านเดียวหรือส่วนเดียว ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ปัญญาจัดให้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะมีคุณมากกว่าโทษ

คำว่า “ดีเหมือนกัน” เท่ากับยอมรับธรรมชาติ และปรับตัวให้คล้อยตามธรรมชาติ “ปฏิฆะ” อันมีธรรมชาติเป็นเหตุ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

คนเรามีทั้งความคิดและสติปัญญา เหตุใดจึงไม่เอามาใช้เล่า? เมื่อฝนตกจำเป็นต้องออกจากบ้าน ก็หาร่มกางเข้า หรือไม่จำเป็นมากนักก็เลื่อนไปวันอื่น เป็นต้น


ทางแก้

1. อย่าฝืนโลก อย่าแบโลก “อะไรมันจะเกิดมันก็เกิด อะไรมันจะดับมันก็ดับ” ไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน หน้าที่ของเรา คือ “ทำเหตุที่ดีและถูกต้อง” เท่านั้นเป็นพอ
2. ธรรมชาติจะไม่โหดร้าย ถ้าเราปรับใจได้ถูกต้อง แถมจะได้รับบทเรียนที่ล้ำค่าจากธรรมชาติ เป็นของขวัญเสียด้วย
3. ถ้าอยากให้ธรรมชาติ ตอบปัญหาอันเร้นลับ ก็จงตั้งปัญหาถามธรรมชาติดูเถิด แล้วธรรมชาติจะตอบคำถามเอง ถ้าท่านไม่มีเชื้อ “ปทปรมะ” อย่งหนาแน่น ท่านก็จะได้ยินเสียงธรรมชาติตอบปัญหาจนหูแทบพัง !



ดับทุกข์ด้วย 3 ไม่
ไม่ฝืนธรรมชาติ
ไม่ลุอำนาจความโกรธ
ไม่โลดแล่นไปตามความอยาก



จาก หนังสือ อภิมหามงคลธรรม ชมรมเพื่อนชาวพุทธ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน