กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: วันเข้าพรรษา เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ

  1. #1
    มิสบ้านมหา 2008 - 2009 สัญลักษณ์ของ หมูหวาน
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    1,353
    บล็อก
    5

    วันเข้าพรรษา เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ


    วันเข้าพรรษา เป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ด้วยเหตุผล ดังนี้

    วันเข้าพรรษา เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ


    ความหมาย
    การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆเว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆ ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
    ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน


    ความสำคัญ
    วันเข้าพรรษานี้ มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังนี้
    • ๑. พระภิกษุจะหยุดจาริกไปยังสถานที่อื่นๆแต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ
    • ๒. การที่พระภิกษุอยู่ประจำที่นาน ๆ ย่อมมีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และสงเคราะห์พุทธบริษัททั่วไป
    • ๓. เป็นเทศกาลที่พระพุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา สิ่งเสพติด และการเที่ยวเตร่เฮฮา เป็นต้น
    • ๔. นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ แล้ว ในช่วงเวลาพรรษาพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญภาวนามากขึ้น

    ประวัติความเป็นมา
    • ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

    เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลยพากันจาริกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝนบางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครนถ์นักบวช ในศาสนาอื่นและฝูงนกยังหยุดพักผ่อน ไม่ท่องเที่ยงไปในฤดูฝนเช่นนี้
    เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า
    "อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา"
    วันเข้าพรรษานี้โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า วันเข้าพรรษา (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส มีเดือน ๘สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษา ในแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ก็ได้ ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)
    • ๒. การถือปฏิบัติวันเข้าพรรษาในประเทศไทย

    สมัยก่อน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำข้าวกล้าก่อนพรรษากาลพอพระสงฆ์เข้าพรรษา ก็จะเสร็จงานในไร่นา ย่อมมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากฝนตกชุกและน้ำขึ้นเจิ่งนองเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีลฟังธรรมและเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้น
    ดังนั้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนก็จะพากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะ นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ใกล้บ้านตน พระภิกษุสงฆ์ก็แนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ ตามหลักทาน ศีลและภาวนา และความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่น ๆ
    ตามประวัติศาสตร์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า
    "พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขันทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน"
    นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทย ในสมัยสุโขทัยนั้น ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ดังรายละเอียดปรากฎอยู่ในหนังสือนางนพมาศ พอสรุปได้ดังนี้
    เมื่อถึงเดือน ๘ ก็มีพระราชพิธีอาษาฒมาส พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษา ในพระอารามต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดแจงเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาวยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัย ก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน
    การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ยังมีประเพณีสำคัญอยู่ ๒ ประเพณี ควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
    • ๑. ประเพณีแห่เทียนพรรษา

    ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัยและเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้านเป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า "เทียนจำนำพรรษา"
    ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริกสนุกสนานเรียกว่า "ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา"ดังขอสรุปเนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศ ดังนี้
    เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม
    ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักรปัจจุบัน
    ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตนได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่าง ๆ
    • ๒. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

    การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือมหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลของพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
    ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิชน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายผ้าอาบน้ำฝนถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ
    แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็คงยังปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน(วัสสิกสาฎก) หรือ ผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน

    หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
    ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"
    คำว่า "วิรัติ" หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป

    วิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ
    • ๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
    • ๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
    • ๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น
    • วันเข้าพรรษา เป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ด้วยเหตุผล ดังนี้


      1. สังคมไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า เป็นการรักษาศีล 5 และจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคีได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นถึงจากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้น
      2. จากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบลโพลล์ ปี 2549 พบว่าประชาชนร้อยละ 88.6 เห็นด้วยกับการกำหนดให้มี วันงดดื่มสุราแห่งชาติ 1 วันต่อปี และเห็นว่า วันเข้าพรรษา ควรเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ร้อยละ 61.6
      3. การประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น


      ที่มา : สำนักพระพุทธศาสนา
    ขำบางโอกาส ฉลาดเป็นบางเวลา บ้าเป็นพักๆ แต่น่ารักตลอดกาล (^_^)

  2. #2
    ดีเจ นักจัดรายการ สัญลักษณ์ของ ดีเจปอ บ้านมหา
    วันที่สมัคร
    May 2007
    กระทู้
    216
    มื่อนี่เป็นมื่อดี เนาะหมู ไผเลิกได้ กะขออนุโมทนา สาธุ นำเด้อครับ กะเพื่อโตเองล่ะครับ

    เเละครอบครัวนำ สนับสนุนครับ งดเหล้าเข้าพรรษา รึ อบายมุขต่างๆๆนะครับ

    เอาใจช่วยทุกท่าน นะครับขอให้ประสบความสำเร็จนะครับบบบบบบบบ

  3. #3
    ร่วมกิจกรรมนำความรู้ สัญลักษณ์ของ เซียนเมา
    วันที่สมัคร
    Jun 2009
    ที่อยู่
    Suratthani
    กระทู้
    1,450
    ผมกะว่าสิงดเหล้าเข้าพรรษานำเผิ่นยุ (หลังจากกินมาเบิ๊ดปี)

  4. #4
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ ขออนุโมทนา

    ขออนุโมทนากับผู้ที่ตั้งใจงดเหล้า.(เบียร์ เครืองดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด).แม้จะไม่ครบ 3 เดือน..เพียงวันเดียวในวันเข้าพรรษา ก็ยังดี....ถือเป็นพุทธบูชา...

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •