ความภูมิใจ ของ ณรงค์ เลิศกิตศิริ ราชวงศ์สวีเดนเลือกผ้า พาซาย่า แต่งพระราชวัง [14 ก.ย. 51 - 00:44]

งานฝีมือการ “ทอผ้า” ของคนไทยได้ประจักษ์สู่สายตาของคนทั่วโลก ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่งานฝีมือ ของคนไทยได้มีส่วนกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย-สวีเดนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของยุโรป เมื่อสินค้าแบรนด์ PASAYA ภายใต้การนำของ “ณรงค์ เลิศกิตศิริ” ได้ฝากฝีมือการ ทอผ้าไหมอันเลื่องชื่อไว้ในพระราชวังฤดูร้อนของราชวงศ์ สวีเดน จนมาสู่การผลิตผ้าเช็ดปากบนโต๊ะอาหาร (Napkin) ในโครงการ The Royal Napkins ของสมเด็จพระราชา ธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน และสมเด็จพระราชินี ซิลเวีย ที่จำหน่ายทั่วโลกเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้แก่มูลนิธิลูกเสือโลก และได้ทำการเปิดตัวในประเทศไทยไปเมื่อไม่นานมานี้

หนึ่งในบทจารึกในประวัติศาสตร์สวีเดนที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของไทยและสวีเดนที่เป็นรูปธรรม เมื่อ “ผ้าไหม” สีเขียวสดงดงาม เมดอินไทยแลนด์ได้ถูกเลือกนำไปตกแต่ง” ห้องควีนคาบิเนต “ในพระราชวัง Confidencen Palace พระราชวังฤดูร้อนชานกรุงสตอกโฮล์ม รวมถึงส่วนหนึ่งของ “ผ้าแนปกิ้น” ที่ถูกสั่งทอตามแบบราชสำนักสวีเดนโบราณที่ล้วนเป็นฝีมือของคนไทย

คุณนะ-ณรงค์ เลิศกิตศิริ ประธานบริษัท โทเรอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และผู้อำนวยการบริษัทเท็กส์ไทล์แกลเลอรี่ จำกัด ผู้ ออกแบบและผลิตสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ “พาซา ย่า” ได้เล่าถึงเส้นทางความสัมพันธ์ที่น่าภาคภูมิใจนี้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2549 ที่ได้ มีโอกาสพบกับ มร.ฟิลิปส์ สเวน ซอเรนเซน ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน ได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อมาหาบริษัททอผ้าไหม โดยก่อนที่จะรู้จักกันอย่างเป็นทางการผ่านการแนะนำของ “คุณหนึ่ง-สุริยน ศรีอรทัยกุล” นั้น ตนได้เจอะเจอกับ มร.ฟิลิปส์ บนเครื่องบินมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร เมื่อ มร.ฟิลิปส์เอ่ยปากกับคุณหนึ่ง ว่าอยากหาบริษัททอผ้า เพราะได้เดินทางไปดูทั้งในประเทศจีนและอินเดียแล้ว แต่ด้วยความที่ปลื้มคนไทยจึงอยากเห็นผลงานของคนไทยด้วย คุณหนึ่งจึงพามารู้จักและได้คุยกันจนถูกคอ เลยได้รับงานทอผ้าไหมเพื่อนำไปใช้งานตกแต่ง

การรับงานในครั้งนั้น “คุณนะ” บอกไม่ทราบมาก่อนว่าผลงานจะถูกนำไปถวายสมเด็จพระราชินีซิลเวีย เพื่อนำไปตกแต่งพระราชวัง ได้แต่เดาเอาเองว่างานชิ้นนี้คงเป็นงานใหญ่ แต่ไม่รู้ว่านำไปใช้ทำอะไร จึง “เซย์เยส” อย่างเต็มใจ พร้อมกับรับเงื่อนไขการทำงานว่าต้องผ้าไหม 100% และต้องเป็นสีเขียวเท่านั้น และด้วยฝีมือระดับมืออาชีพผลงานจึงผ่านฉลุย ทำให้ มร.ฟิลิปส์เปิดเผยตัว และว่าจ้างให้ทอผ้าไหมวอลเปเปอร์เพื่อนำไปตกแต่งในพระราชวัง

“คุณนะ” เล่าให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า หลังจากเจอกัน 2 ครั้ง มร.ฟิลิปส์จึงเปิดเผยตัวว่า จริงๆแล้วท่านเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จ พระราชาธิบดีแห่งสวีเดน และเป็นผู้ดูแลปรับปรุงพระราชวัง Confidencen Palace พระราชวังฤดูร้อนที่มีอายุกว่า 300 ปี และทำการปรับปรุงมากว่า 30 ปีแล้วเหลือเพียงห้องสุดท้ายคือ “ห้องควีนคาบิเนต” ซึ่งในพระราชวังทั้งหมดแต่งด้วยสีแดง ยกเว้นห้องนี้ต้องเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีโปรดของควีน ในอดีตที่เป็นเจ้าของ โดยโจทย์ที่รับมาจึงต้องหาสีเขียวที่คิดว่าสวยที่สุด เพราะ ท่านให้เราคิดเองว่าสีเขียวที่สวยจะเป็นอย่างไร และผ้าไหมที่สั่งทอนี้จะนำไปใช้บุผนังในห้องนี้จึงต้องเป็นผ้าไหมอย่างดี และมีความคงทนมีคุณสมบัติพิเศษที่จะอยู่ได้เป็นเวลาร้อยปีขึ้นไป เพราะไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้บ่อยๆ ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน “คุณชเล วุทธานันท์” เท็กซ์ไทล์ดีไซน์ ก็ช่วยกัน คิดค้นพัฒนา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกันตลอดเวลา เนื่องจากบางทีพอไปขึ้น เป็นฝาผนังแล้วไม่สวยก็ต้องทำกันใหม่ จนกระทั่งได้ผลงานที่สวยถูกใจคิดไหมว่าทำไม “พาซาย่า” ถึงได้รับเลือกให้รับงานชิ้นนี้ ล่ะคะ

“สิ่งที่ทำให้ “พาซาย่า” ได้รับการยอมรับขั้นสุดท้าย ผมเข้าใจว่าคงเป็นเพราะว่าสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟ และสมเด็จพระราชินีซิลเวีย ทรงชื่นชอบประเทศไทย และได้เสด็จฯมาร่วมพระราชพิธีครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรพระราชวังไทยที่มีการบุผนังที่ใช้ผ้าไหมอย่างสวยงาม พระองค์ท่านจึงทรงอยากใช้ผ้าไหมของไทย และสุดท้ายที่เลือกเราก็คงเป็นเรื่องสี เพราะว่าเราส่งเฉดสีไปถวายให้ทรงเลือกมี 2 เฉดสีเท่านั้น และทรงเลือกเฉดสีที่เราคิดว่าสวยที่สุดสำหรับผ้าไหม”

ส่วนขั้นตอนการทำงานนั้น “คุณนะ” เล่าว่า ใช้เวลานานมากโดยเวลาที่ใช้ในการทอจริงๆ หลังจากพิจารณาทุกอย่างแล้วเดือนเดียวก็เสร็จ แต่กว่าจะสรุปอย่างลงตัวได้ก็ใช้เวลา 4-5 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะคุยงานกันผ่านอีเมล์ และกว่าจะรู้ว่าคนที่เราคุยด้วยทางอีเมล์ คือ สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เพราะพระองค์ท่านลงชื่อว่า “มาเรีย” เราก็เข้าใจว่าเป็นราชเลขาในพระองค์ เพิ่งมาทราบว่าเป็นพระองค์ท่านหลังจากงานเรียบร้อยแล้ว และเราได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองพระราชวังแห่งนี้ โดยคณะเรา 4 คน มีผม คุณหนึ่งและภรรยา-คุณเมก้า ศรีอรทัยกุล และคุณชเล เป็น 4 คนเอเชียเท่านั้นที่ได้รับเกียรติไปร่วมฉลองเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550

ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไรคะ

“เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจมากในฐานะของคนไทยตัวเล็กๆ ซึ่งพระองค์ ท่านเชิญเราไปในห้องควีนคาบิเนต และทั้ง 2 พระองค์ก็ประทับอยู่ในห้องนั้นพร้อมกับพระประยูรญาติและแขกที่ได้รับเชิญ จากนั้นสมเด็จพระราชินีซิลเวียก็ทรงแนะนำว่าพวกเราคือคนไทย และห้องนี้ทำมาจากผ้าไหมไทย ฝีมือของคนไทย ซึ่งนอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติสูงสุดที่พระองค์ท่านให้ทางหอจดหมายเหตุของสวีเดน บันทึกวิธีการทอผ้าที่ใช้ตกแต่งห้องนี้และความเป็นมาของ “พาซาย่า” ลงหนังสือที่เกี่ยวกับพระราชวังนี้ ซึ่งแม้ว่าห้องนี้จะเป็นห้องเล็กๆ ไม่ใหญ่โตมากนัก ผ้าที่ใช้ก็ประมาณ 500 เมตร ที่นำไปเป็นวอลเปเปอร์ ผ้าม่านและผ้าบุเก้าอี้ แต่ทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ ของสวีเดน”

จากการที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ในครั้งนั้น ได้ต่อยอด ให้ “พาซาย่า” ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการทอผ้าอีกครั้งหนึ่ง โดย “คุณนะ” เล่าว่า สมเด็กพระราชินีซิลเวีย ได้รับสั่งว่าทรงมีโปรเจกต์หนึ่งซึ่งพระองค์ทรงเคยทำแล้วคือ ผ้าปูโต๊ะและรองจาน ที่ทำถวายสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา จากนั้นก็มีเสียงเรียกร้องกันมาก จึงอยากที่จะทำผ้าเช็ดปาก ทางเราจึงเสนอพระองค์ท่านว่าน่าจะทำโครงการ “รอยัล แนปกิ้น” ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงเห็นด้วย เลยรับสั่งให้ “พาซาย่า” ลองผลิตร่วมกับ “จอร์จ เดนเซ่น” บริษัทผลิตผ้าฝ้ายชื่อดังของสวีเดนและยุโรป โดยรับสั่งว่าอยากได้การทอแบบสวีดิชโบราณ เพราะผ้าที่ใช้เช็ดพระโอษฐ์ในราชสำนักทุกวันนี้เป็นแบบใหม่หมดแล้ว

แต่เนื่องจากการทอแบบสวีดิชโบราณนั้นต้องใช้กี่ทอผ้าหน้าแคบ ซึ่งเครื่องจักรทอปัจจุบันไม่สามารถทำได้ “จอร์จ เดนเซ่น” จึงปฏิเสธงานนี้ คงเหลือแต่ฝั่งไทยที่ขอลุยแต่เพียงผู้เดียว!!!

“คุณนะ” ย้อนอดีตให้ฟังว่า จริงๆ แล้วเราก็ทำไม่ ได้ตั้งแต่แรก เพราะกรรมวิธีเยอะมาก ได้ เห็นแบบปุ๊บ ก็ปวดหัวเลย คิดเหมือนกัน ว่าเราจะทอได้หรือเปล่า เพราะเครื่อง จักรใหม่ไม่สามารถจะทอแบบซอยย่อยๆได้ ก็คิดเยอะเหมือนกันนะ แต่เมื่อรับงานพระองค์ท่านมาแล้ว และผมเองมีคติที่ว่าทำอะไรก็ ตามที่มันทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ ก็เหมือนงานชิ้นแรกก็ไม่ใช่งานหมูๆ เลย เราจึงต้องมาปรับปรุงเครื่องทอกันใหม่หมด แล้วนำใยฝ้าย “สุพริโม” ที่ดีที่สุดใน โลกของอเมริกามาใช้ เพราะเราต้องรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช้สารเคมีในการฟอกผ้าขาว ดังนั้น ผ้าที่จะใช้ ต้องละเอียดมากๆ ถ้าผ้าไม่ละเอียดไม่บริสุทธิ์ก็ต้องใช้สารเคมีไปกัดสีเพื่อให้ขาว การทำผ้าแนปกิ้นใช้เวลานานพอสมควร เพราะขั้นตอนเยอะและเป็นสิ่งที่พระองค์จะใช้จริงๆ อีกทั้งยังจะจำหน่ายไปทั่วโลกด้วย งานกว่าจะทำเสร็จก็ใช้เวลาเกือบปี

ตอนถวายผลงานให้สมเด็จพระราชินีซิลเวียทรงทอดพระ เนตร พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าอย่างไรคะ

“พระองค์ท่านโปรดมาก ทรงปลื้มมาก พระองค์ท่านไม่คิดว่าเราจะทำได้ ขนาดนี้ เนื้อผ้าพอสัมผัสปุ๊บ ก็รู้สึกถึงความพิเศษของวัสดุที่เราเอามาใช้แบบที่ใช้ในราชสำนัก ขอบริมผ้าจะมีตราพระราชลัญจกร แต่ที่จำหน่ายจะไม่มี พระองค์ท่านโปรดจนรับสั่งให้เราติดแบรนด์ “พาซาย่า” ลงในผ้าด้วย ซึ่งทีแรกเราไม่ติดชื่อ ท่านรับสั่งมาเลยว่าไม่ได้ในส่วนนี้ทางเราเป็นคนทำ พระองค์ ท่านจึงให้ติดตราของแบรนด์ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ และยังโปรดให้เขียนความเป็นมาของ “พาซาย่า” ลงบนกล่องด้วย ซึ่งรับสั่งว่านี่เป็นความปลาบปลื้มของคนไทย และเป็นประวัติศาสตร์ที่จะจารึกทั้งไทยและสวีเดนถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ”



และจากการได้มีโอกาสถวายงานทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟและสมเด็จพระราชินีซิลเวีย “คุณนะ” เปิดเผยความรู้สึกว่า ประทับใจในทั้ง 2 พระองค์มาก ทรงมีความเป็นกันเองและเรียบง่าย ทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ของประเทศที่ยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่พระองค์ท่านยังให้ความสำคัญ กับเราคนไทยตัวเล็กๆ และทำให้รู้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงรักประเทศไทย คน ไทยมาก เมื่อสมเด็จพระราชินีซิลเวีย รับสั่งว่าทรงรักประเทศไทย ฟังแล้วจะน้ำตาไหล เพราะพระองค์ท่านไม่เพียงแต่รับสั่งต่อหน้าพวกเราเท่านั้น ยังรับสั่งต่อหน้าแขกที่มาร่วมในงานฉลองพระราชวังครั้งนั้นด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟ ยังทรงมีพระเมตตาให้พวกเราได้เป็นสมาชิกของลูกเสือโลก ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และโปรดฯให้ตามเสด็จไปยังประเทศต่างๆ อาทิ ในการประชุมลูกเสือโลกที่ ประเทศเกาหลี และมาเลเซียอีกด้วย

นอกจากการได้มีโอกาสรับใช้พระราชวงศ์ของสวีเดนแล้ว “คุณนะ” ยังได้รับใช้ราชวงศ์ไทยในหลายๆ พระองค์ ซึ่ง “คุณนะ” บอกถึงความรู้สึกนี้ว่า ไม่คิดไม่ฝันเลยว่าจะได้มีโอกาสถวายการรับใช้ราชวงศ์ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งนี่เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อนๆจะรู้ว่าเราชอบ ติดตามอ่านเรื่องราวของราชวงศ์ต่างๆและมีความเป็นรอยัลตี้มากๆ เรารู้สึกว่าเราเป็นไพร่เป็นข้าของแผ่นดินต้องทำงานตอบแทนแผ่นดิน ไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้ บ่อยครั้งที่ต้องบอกตัวเองว่าเราไม่ได้ฝันไปว่าเราได้มีโอกาส ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดพระราชวงศ์ไทยและต่างประเทศ

นี่เป็นความปลาบปลื้มของคนไทยคนหนึ่งที่นำมาซึ่งความภูมิใจของประเทศ ที่ได้แสดงฝีมือออกสู่ต่างชาติ!!!

ทีมข่าวหน้าสตรี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ





http://www.thairath.co.th/news.php?s...content=104086