::)การทำบุญอย่างไม่เสียเงิน
เมื่อพูดถึงการทำบุญ หลายท่านจะนึกถึง ถังสังฆทาน ซองผ้าป่า กฐิน งานปิดทองฝังลูกนิมิต ฯลฯ ซึ่งก็หมายถึง การที่จะต้องมีปัจจัยเพื่อจับจ่ายซื้อหามาทั้งนั้น จึงจะได้สิ่งเหล่านั้นมาเพื่อทำบุญ เป็นเหตุให้ผู้ที่คิดจะทำบุญแต่ขาดทุนทรัพย์เงินทองที่จะลงทุนเพื่อได้ทำบุญนั้น ไม่ใฝ่ใจในการทำบุญ
จากเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้คนคิดไปไกลว่า การทำบุญต้องมีเงินทำบุญเท่านั้นจึงจะได้บุญ ถ้าไม่มีเงินก็คือไม่ได้ทำบุญ
ว่ากันจริงๆ แล้ว คำสอนในทางพระพุทธศาสนาถือว่า บุญ เป็นชื่อของความสุข ทั้งทางกายและจิตใจ เป็นการสั่งสมในเรื่องความดี สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญมีด้วยกันถึง ๑๐ อย่าง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนั่นเอง
ใน ๑๐ ประการนั้น มีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่ต้องมีเงินลงทุน ส่วนอีก ๙ ข้อที่เหลือ ไม่ต้องเสียเงินเลยสักสตางค์เดียวก็เป็นบุญได้ และมีผลมากกว่าอีกด้วย
ขอนำเสนอวิธีการทำบุญเพื่อให้ท่านได้เลือกบำเพ็ญดังนี้
๑. ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ทาน ในข้อนี้ถ้าเป็นวัตถุทานจำเป็นต้องมีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งการให้ทานเพื่อสร้างบุญและต้องลงทุน เช่น ต้องการถวายภัตตาหารพระ ก็ต้องจัดหาจัดเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อถวาย เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นทาน คือการสละอารมณ์โกรธและสิ่งเป็นอกุศลออกไป แผ่เมตตาให้ความปรารถนาดีแก่ผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นการให้ทานอีกประการหนึ่งด้วย และก็ได้บุญโดยไม่ต้องเสียเงินแต่ประการใดด้วย
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลห้า สำหรับอุบาสก อุบาสิกาทั่วไป หรือศีล ๘ สำหรับแม่ชี ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร และ ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ
ศีลถ้าใครรักษาผู้นั้นก็ได้บุญ ดังนั้น ควรหาโอกาสรักษาศีลบ้าง อาจจะเป็นทุกๆ วันพระ หรือวันเสาร์อาทิตย์ หมั่นปฏิบัติให้เกิดความเคยชินก็จะเป็นบุญ
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา การหมั่นกำหนดจิตเจริญภาวนาให้จิตได้มีเวลาผักผ่อนและสงบบ้าง นี่ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่
๔. อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผลก็คือย่อมเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ และพละ รู้จักที่ต่ำที่สูง รู้จักกาลเทศะในการเข้าหา และปฏิบัติตนต่อผู้ใหญ่ ท่านก็จะเมตตาเราเอง นั่นก็เป็นผลบุญแล้ว
๕. เวยยาวัจจมัย บุญอันเกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือ เจือจุน ออกเหงื่อต่างเงิน เช่น การมีส่วนร่วมอาสาสมัครช่วยงานการกุศลต่างๆ ด้วยความสุจริต จริงใจ ความประทับใจของผู้ได้รับการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อจากผู้บำเพ็ญบุญข้อนี้นั่นแหละ ถือเป็นผลบุญเกิดแล้ว
๖. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญแห่งความดีที่ตนเองได้บำเพ็ญแล้วแก่ผู้อื่น แม้ให้แก่คู่อริศัตรู ยิ่งมีอานิสงส์มหาศาล ศัตรูกลายเป็นมิตร เพราะบำเพ็ญบุญข้อนี้ก็มีเยอะ
๗.ปัตตานุโมทนามัย บุญที่เกิดจากการมีจิตใจยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความจริงใจ โดยปราศจาคความอิจฉาริษยา ไม่ซ้ำเติมผู้พลาดพลั้ง เพื่อนที่คบกันได้นานเพราะเพื่อนได้บำเพ็ญบุญข้อนี้เอง
๘. ธัมมัสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยะสาวกได้รู้แจ้งเห็นจริง พุทธบริษัทเข้าใจธรรมะก็เพราะได้เปิดใจ รับฟังธรรมะนั่นเอง
๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการได้แสดงธรรม ให้ข้อคิดเตือนสติ สะกิดใจ ให้คนเว้นจากการทำชั่ว...ประโยคคำพูดปลอบใจ ให้สติ ไม่กี่คำก็ช่วยให้ชีวิตใหม่แก่คนมานักต่อนักแล้ว
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
ที่เข้าใจว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป...ให้ศึกษาความหมายใหม่ และควรปรับความเห็นของตนให้ตรงเสียที
หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะสบายใจได้ว่า แม้ไม่มีทรัพย์สินเงินทองก็มีสิทธิที่จะบำเพ็ญบุญได้อย่างเต็มที่ ตามโอกาสและความเหมาะสม สุดแล้วแต่จะเลือกปฏิบัติดังที่กล่าวมา ก็ขึ้นอยู่แต่เพียงว่าท่านเองจะสร้างโอกาสให้กับตนเองได้บำเพ็ญในสิ่งที่เป็นบุญในรูปแบบใด
พระพุทธศาสนามีแนวคำสอนที่เปิดอิสระให้กับทุกคน และเมื่อผู้ปฏิบัติตาม ผลย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยไม่ต้องสงสัย แต่ที่ผลยังไม่เกิด เพราะว่าเรายังไม่ได้เริ่มลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง
ให้ระลึกอยู่ในใจไว้ตลอดว่า
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ซึ่งหมายถึง ธรรมะของพระพุทธเจ้า ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามเท่านั้นจักได้รู้ได้เห็น และได้ประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง
ต่อไปนี้คงไม่ท้อใจในการทำบุญเพราะว่าไม่มีสตางค์อีกแล้ว::)