หลายวันที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารหลายรายที่ผลิตอาหารซึ่งมีนมที่นำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตได้รับผลกระทบไปตามๆกัน เหตุเนื่องมาจากการค้นพบสารเมลามีน (Melamine) ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นมในประเทศจีน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายถูกสั่งอายัดและเก็บออกจากชั้นวางจำหน่ายตามร้านค้าโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กว่า ๙๐ รายการ ซึ่งข่าวนี้แม้จะสร้างผลกระทบให้กับวงการธุรกิจก็จริง แต่ก็เปรียบเหมือนระฆังเตือนให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์นมกันมากขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนให้สามารถป้องกันและไม่ตระหนกเกินไป สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดยฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารเมลามีน อันตรายของเจ้าสารนี้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการรับรองจากอย.แล้ว ไว้ในจดหมายข่าวความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมประจำเดือนต.ค.นี้ เมลามีน คือ พลาสติกชนิดหนึ่งมีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อฟอร์มาลีน เจ้าสารเมลามีนมีลักษณะเป็นผงสีขาว มีไนโตรเจน ๖๖.๖๗% คิดเป็นโปรตีน ๔๑๖.๖๖% ละลายน้ำได้น้อย ด้วยเหตุนี้เมลามีนคุณภาพดีจะถูกนำไปทำเม็ดพลาสติกเรียกเม็ดเลซินเมลามีน ส่วนเศษที่เหลือหรือเมลามีนที่คุณภาพเลวจะนำกลับไปทำของใช้ ซึ่งเมลามีนคุณภาพเลวนี้ขบวนการไม่เสร็จสมบูรณ์จึงมีราคาถูก และเกิดอนุพันธ์ของเมลามีนขึ้นหลายชนิด เรียกว่า เมลามีนอันนาล็อก แม้จะเป็นเพียงอนุ(พันธ์)ของเมลามีนแต่ก็ยังมีโปรตีนสูงถึง ๒๒๔.๓๖% ประเทศจีนมีโรงงานผลิตเมลามีนใหญ่ๆ ๓ โรง สามารถผลิตเมลามีนได้เดือนละหลายหมื่นตัน แถมยังมีวางขายหลากหลายยี่ห้อ และประกาศขายทางอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกใช้กันมาในการผลิตอาหารสุนัข สุกร และแป้งที่คนกิน และส่งออกไปขายที่ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ การตรวจสอบเมลามีนสามารถทำได้โดยตรงจากกล้องจุลทรรศน์ (ต้องมีความชำนาญและฝึกอบรมการตรวจสอบคุณภาพอาหารด้วยกล้องจุลทรรศน์มาก่อน) จะเห็นเป็นคริสตัลแวววาวสีแตกต่างกันไป ถ้าปลอมปนในโปรตีนจากพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง มักจะเห็นสีเหลืองหรือขาว หรือตรวจสอบโดยนำตัวอย่างอาหารที่จะทดสอบไปละลายในน้ำกลั่น อัตรส่วนอาหารต่อน้ำ ๑ : ๑๐ แล้วคนให้เข้ากันขณะคนให้สังเกตถ้ามีสารปนเปื้อนอาหารจะจับตัวเป็นขุยก้อนเล็กๆ สังเกตดูน้ำที่ใช้ละลายจะไม่ใส่ มีสีขาวเหมือนน้ำข้าวต้ม แสดงว่ามีเมลามีนผงสีเทาปนเปื้อน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบสารเมลามีนและสามารถนำกลับไปวางจำหน่ายในตลาดได้แล้ว เช่น ๑.ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ดัชมิลล์ จำกัด จำนวน ๑๒ รายการ เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์ นมปรุงแต่ง เป็นต้น ๒.ผลิตภัณฑฺ์ของบริษัท มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ จำนวน ๖ รายการ เช่น ช็อกโกแลตนมเคลือบน้ำตาลตราเอ็มแอนด์เอ็ม นมตราโดฟ เป็นต้น (ที่มา: เยาวมาลย์ ค้าเจริญ. "รอบรู้เรื่องเมลามีน". วารสารสาส์นไก่ และ สุกร ๕, ๕๒ (ก.ย. ๕๐))

ที่มาจาก : http://www.scicommthailand.com/