ทางสายกลาง...อยู่ตรงไหน?







มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางเป็นหัวข้อหนึ่งในปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งจะเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมของทุกคนต่อไปในภายภาคหน้า

ทางสายกลางเป็นทางแห่งปัญญา เพราะหากปราศจากปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายแห่งการพ้นทุกข์ได้

บางท่านเข้าใจผิดว่าทางสายกลางหมายถึง ไม่ดีสุดโต่งและไม่เลวสุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะเรากำลังพูดถึงกุศลธรรมหรือธรรมฝ่ายดี ย่อมไม่ใช่การทำดีบ้างทำเลวบ้างตามที่บางคนเข้าใจ

ทางสายกลางเป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป เป็นความพอดี ซึ่งจุดของความพอดีสำหรับแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป เพราะแต่ละคนสะสมมาต่างกัน (ทั้งกุศลและอกุศล) เปรียบได้กับนักกีฬาที่ต้องมีโปรแกรมการฝึกฝนที่ต่างกัน เพื่อเสริมจุดแข็งกำจัดจุดอ่อนของแต่ละคน โดยมีเป้าหมายที่เหมือนกันคือ ชัยชนะ หรือการพ้นทุกข์เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรม

การที่เศรษฐีใช้รถยุโรปราคาคันละหลายล้าน ในขณะที่คนรายได้ปานกลางใช้รถญี่ปุ่นราคาไม่ถึงล้าน ก็เป็นตัวอย่างของทางสายกลางหรือความพอดีในทางโลกได้ คือใช้สิ่งอำนวยความสะดวกตามฐานะและความเหมาะสมของแต่ละคน โดยที่ไม่ทำให้ตนหรือผู้อื่นต้องเดือดร้อน

ส่วนในทางธรรมจะเห็นได้ว่า แต่ละคนสะสมปัญญาบุญบารมีมาไม่เท่ากัน รวมทั้งมีอัธยาศัยที่ต่างกัน ใช่ว่าทุกคนสามารถจะรักษาศีลแปดได้ ใช่ว่าความเข้าใจในพระธรรมของทุกคนจะเท่ากัน ใช่ว่าทุกคนที่นั่งสมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลได้ ใช่ว่าทุกคนเหมาะที่จะอยู่ในเพศบรรพชิต ฯลฯ

การรู้กำลังของตัวเอง รวมทั้งการรู้อัธยาศัยที่แท้จริงของตน เป็นสิ่งจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องรู้ในระหว่างการปฏิบัติธรรม ด้วยการฟังการศึกษาพระธรรม การพิจารณาโดยแยบคาย การรู้จักสังเกต การรู้ว่าจิตขณะใดเป็นกุศล จิตขณะใดเป็นอกุศลเป็นต้น

หากเราไม่รู้จักตัวเองไม่รู้จักพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นการยากที่ดำเนินไปในทางสายกลางได้ เพราะมักไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะกันตนเอง หรือในสิ่งที่ตนไม่มีความพร้อมนั่นเอง ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าหรืออาจเกิดความท้อถอยได้

ทางสายกลางจึงเป็นทางที่ทุกคนต้องค้นหาให้พบเอง โดยอยู่ในแนวทางตามที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการสละออกและการละกิเลสทั้งปวงด้วยปัญญาและบารมีที่ถึงพร้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพ้นทุกข์หรือพระนิพพานในที่สุด