รูบนกำแพงกั้นน้ำ
วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ที่เมืองฮาร์เล็ม เนเธอร์แลนด์ส เด็กชายวัยแปดขวบไปเยี่ยมตาแก่ตาบอดที่รู้จักกันดี เมื่อนำอาหารไปให้แกแล้ว เขาก็เดินกลับบ้าน

พ่อของเด็กชายเป็นคนเฝ้าเขื่อนกั้นน้ำ ดูแลการเปิดปิดของเขื่อน เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้ถูกต้อง

พื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์สเป็นน้ำ และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลหลายเมตร (ชื่อ เนเธอร์แลนด์ส มาจากคำดัทช์ 'neder' แปลว่า 'ต่ำ' ปกติหมายรวมถึงพื้นที่ของประเทศเบลเยียมและลักเซ็มเบิร์กด้วย) จึงต้องป้องกันด้วยกำแพงกั้นน้ำเกือบทั้งประเทศ

ระหว่างทางกลับ ฝนเทลงมา ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนสูงขึ้น เด็กชายได้ยินเสียงน้ำไหล นึกสงสัยว่าเสียงนั้นมาจากไหน พลันแลเห็นรูเล็กๆ ในกำแพงกั้นน้ำ เด็กทุกคนในเมืองนี้รู้ว่ามันหมายถึงอันตราย แรงดันน้ำมหาศาลสามารถขยายรูเล็กๆ นั้นในเวลาอันสั้น เมื่อกำแพงทลาย น้ำจะเททะลักเข้าเมือง ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า และอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตที่อาจต้องสูญสิ้น

เด็กชายตัดสินใจปีนขึ้นกำแพง ยัดนิ้วมือของเขาเข้าไปอุดรูรั่วนั้น เขาหวังว่าจะมีใครสักคนผ่านมาตรงนั้น แต่ไม่มีใครมา

ความมืดโรยตัวคลี่คลุมพื้นที่นั้นอย่างรวดเร็ว อากาศเย็นลงทุกขณะ เด็กชายรู้สึกหนาว แต่ไม่กล้าปล่อยมือจากรูนั้น เขาร้องตะโกน "แม่ พ่อ มีใครได้ยินผมไหม?" แต่ไม่มีใครได้ยิน

เด็กชายรู้ดีว่า เมื่อไม่เห็นเขากลับบ้าน แม่ของเขาคงไม่ออกมาตามหาเขา เพราะเชื่อว่าเขาคงนอนค้างคืนในบ้านของตาแก่ตาบอดเช่นที่เคยเป็นมา

เด็กชายตัวเปียกสั่นสะท้านด้วยความหนาว แต่เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่กล้าดึงนิ้วออกมาจากรูนั้น ภาพเมืองทั้งเมืองจมน้ำทำให้เขายืนหยัดต่อไป

ครั้นเวลาเช้าตรู่ บาทหลวงผู้หนึ่งผ่านทางมาพบเด็กชายตัวหนาวสั่น ใบหน้าซีดเผือด เด็กชายรอดมาได้ และเมืองนั้นก็รอดมาได้

................

จากประวัติศาสตร์ยาวนานของเรา เมืองไทยไม่เคยขาดแคลนเด็กชายที่กล้าเสี่ยงชีวิตเอานิ้วอุดรูรั่วบนกำแพงกั้นน้ำ

แต่ไม่ว่าจะมองไปที่ด้านใดของกำแพงกั้นประเทศ ก็เห็นแต่รูใหญ่รูเล็กมากมาย แต่ละรูมีน้ำไหลเข้ามาตลอดเวลา

บ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ช่วยกันเจาะรูบนกำแพงกั้นน้ำ แต่ละคนพากันแทะบ้านกินเมือง จนไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากกำแพงนั้นทลายลงมา

ตัวอย่างมีมากมายและชัดเจน กำแพงของเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนามใต้ถูกแทะทำลายจากคนภายในจนพังทลาย สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน แม้แต่คนที่เจาะรูบนกำแพงก็ไม่เหลือแผ่นดินให้อยู่

แต่พวกเขาก็ยังเจาะรูต่อไป ราวกับว่าไม่มีใครแยแสว่า หากไม่มีใครช่วยเอานิ้วอุดรู วันหนึ่งในเวลาอันสั้น สายน้ำแห่งหายนะจะมาเยือน

ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การยืนตรงเคารพธงชาติวันละสองเวลา แต่อยู่ที่การไม่เจาะรูบนกำแพงกั้นน้ำของเราเอง

บนกำแพงของเรา เต็มไปด้วยซากศพของเด็กชายที่ใช้นิ้วอุดรูรั่ว ทว่าต่อให้มีเด็กชายคนนี้อีกสักกี่ล้านคน ก็ไม่สามารถอุดรูหายนะของเราได้ตลอดไป หากไม่มีคนยอมหยุดแทะรูบนกำแพง



หมายเหตุ : ตำนานของ Hans Brinker เด็กชายผู้เอานิ้วอุดรูรั่วของเขื่อน เป็นเรื่องแต่งโดยนักเขียนอเมริกัน Mary Elizabeth Mapes Dodge (1831-1905) ทว่าบางคนเชื่อว่าเขียนขึ้นจากเรื่องจริงจากเหตุการณ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์สมีอนุสาวรีย์ของเด็กชายผู้อุดนิ้วในกำแพงกั้นน้ำ



31 ธันวาคม 2548
วินทร์ เลียววาริณ