ดินในภาคอีสาน มีความอุดมสมบูรณ์และธาตุอาหารสำหรับพืชค่อนข้างต่ำ ทำให้ศักยภาพในการให้ผลผลิตน้อยลง ชาวบ้านในแถบนี้จะรู้ดีในแถบนี้ว่า ดินในแถบนี้มีปัญหาดินเค็มคุกคามหลายพื้นที่ภาคอีสาน

ดินเค็ม สาเหตุ หนึ่งเกิดจากการลดลงของผืนป่าเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ ทำให้เสียสมดุลระหว่างปริมาตรน้ำฝนและการระเหยน้ำของพืชเสียไป ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มตรงพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนชั้นหินเกลือ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การสูญเสียป่าไม้ ไม่มีต้นไม้ช่วยปกคลุมดินและดูดซับน้ำฝนส่วนเกิน เมื่อฝนตกลงมาจะชะล้างผิวหน้าดินและน้ำบางส่วนซึมลึกลงผ่านไปถึงชั้นดินดาน ชั้นหินทรายที่มีเกลือปนอยู่ จะถูกละลายไปกับน้ำและพัดพาไปตามที่ต่าง ๆ จึงมักพบว่า เกลือสะสมในบริเวณเชิงเนินแพร่กระจายความเค็มไปยังพื้นที่ราบต่ำกว่า เมื่อน้ำระเหยจนแห้งไปหมดแล้ว สังเกตจะเห็นคราบเกลือสีขาวอยู่ตามผิวดินทั่วไป เป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรกรรมในพื้นที่แถบนี้

หลายฝ่ายมีความตระหนักในการที่จะแก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ภาคอีสานมีปัญหาดินเค็มจัด 1.5 ล้านไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานของรัฐที่รู้ซึ้งผลเสียข้อนี้ดี จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูดินเค็มดังกล่าว

การศึกษาวิจัยคัดเลือกพันธุ์พืชชอบเกลือ และไม้ยืนต้นทนเค็มจัด เป็นแนวทางหนึ่งที่ทางกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการแก้ไขปลูกพืชในดินเค็ม พบว่า หญ้าดิ๊กซีและกระถินออสเตรเลีย มีคุณสมบัติพิเศษทนทานต่อสภาพดินเค็มจัด สามารถปรับตัวทนสภาพน้ำขังได้นาน นอกจากนี้ มีรายงานว่า หญ้าดิ๊กซี ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดินเค็มที่มีคราบเกลือมาก มีประโยชน์เป็นพืชอาหารสัตว์ให้วัวควายแทะเล็มหญ้า

ส่วนกระถินออสเตรเลีย เป็นไม้ยืนต้นทนเค็มจัด ช่วยเป็นร่มเงาบังแดด ตรงส่วนลำต้นของต้นกระถินออสเตรเลียยังใช้ทำฟืน เผาถ่านเป็นเชื้อเพลิงได้

การวิจัยนี้ ทางกลุ่มปรับปรุงดินเค็ม กองอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน โดย ดร.อรุณี ยูวะนิยม นักวิชาการเกษตร 7 หนึ่งในทีมงานวิจัย ระบุว่า การปลูกหญ้าดิ๊กซี ร่วมกับต้นกระถินออสเตรเลีย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดินอุดมสมบูรณ์ เพราะต้นกระถินออสเตรเลีย เป็นพืชตระกูลถั่ว ให้ไนโตรเจนแก่ดิน พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ นับว่า เป็นพืชที่สามารถเอามาฟื้นฟูดินเค็มจัดที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้

ความสำเร็จในการปลูกหญ้าดิ๊กซี ร่วมกับต้นกระถินออสเตรเลีย ในพื้นที่ดินเค็มจัดจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาปัญหาที่ดินเกษตรกรรมเสื่อมโทรม เนื่องจากปลูกและบำรุงรักษาง่าย ใช้เวลาปลูกประมาณ 2 ปี ก็สามารถทำให้ดินปลูกพืชได้ เหมาะกับการปลูกในดินเค็มจัดพื้นที่แถบภาคอีสาน

การปลูกก็ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ที่เหมาะสมก็ในราวเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม โดยก่อนปลูกเริ่มเตรียมดิน ไถดินปรับระดับพื้นที่ เตรียมที่ปลูกตามปกติ หากเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ทำร่องระบายน้ำทุก ๆ ระยะ 10 เมตร ควรเตรียมดินในเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม เลือกระยะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ การปลูกต้นกระถินออสเตรเลีย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใช้ระยะปลูก 2 คูณ 2 เมตร หรือ 4 คูณ 4 เมตร หรือปลูกบนแนวคันนา

สำหรับหญ้าดิ๊กซี นั้น ขยายพันธุ์ใช้วิธีการปักชำ โดยตัดเป็นท่อนยาว ประมาณ 2-3 นิ้ว ให้มีข้อติดไปด้วยอย่างน้อย 3 ข้อ เพื่อเป็นรากออก ชำในดินที่บรรจุถุงพลาสติกที่เจาะรูระบายน้ำ ประมาณ 1 เดือน หรือปักชำในแปลงเพาะชำก่อน แล้วจึงขยายลงถุงเพื่อสะดวกในการขนย้าย การปลูกระยะ 30 คูณ 30 หรือ 50 คูณ 50 หรือ 75 คูณ 75 ซม. ขึ้นกับจำนวนต้นที่มี จากนั้น ก็ขุดหลุมปลูกต้นกระถินออสเตรเลีย กว้าง 30 ซม. ลึก 30 ซม. สำหรับหลุมปลูกหญ้าดิ๊กซี กว้าง 20 ซม. ลึก 20 ซม. ใส่วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน คือ ปุ๋ยคอกและแกลบคลุกเคล้ากับดินก้นหลุม อัตราอย่างละ 1 - 2 ตันต่อไร่ และถุงพลาสติกออกก่อนปลูก เมื่อกลบหลุมปลูกแล้วใช้แกลบคลุม เพื่อรักษาความชื้น และป้องกันคราบเกลือขึ้นมาสะสมที่รอบโคนต้น พร้อมใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20 กก.ต่อไร่ หลังการปลูกแล้วเป็นเวลา 7 วัน

ดร.อรุณี ยูวะนิยม บอกว่า ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำแปลงสาธิตให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาดินเค็มจัดในพื้นที่ภาคอีสาน รวม 7 จังหวัด ประมาณ 4,036 ไร่ โดยในแต่ละปี ดำเนินการปลูกจำนวน 850 ไร่ ขณะนี้ โครงการกำลังพยายามส่งเสริมขยายผลให้เกษตรกรมาทดลองปลูกกันมากขึ้น คาดหวังว่า เมื่อหญ้าดิ๊กซี และต้นกระถินออสเตรเลีย เป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว นอกจากหน่วยงานราชการ น่าจะมีเกษตรกรและผู้สนใจลงทุนผลิตเพาะขยายพันธุ์จำหน่ายขายให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่มีพื้นที่ดินเค็มจัด ลดการขาดแคลนพืชปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพดินเค็มหายาก ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคต

หากเกษตรกรสนใจก็ติดต่อรายละเอียดได้ที่ กลุ่มปรับปรุงดินเค็ม กองอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 579-5546 หรือสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้บ้านท่าน.. วันเวลาราชการ


โค้ด PHP:
http://www.ldd.go.th/ofsweb/news/article/article-210501-01.html