ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูประบบราชการ
ไทย ในที่สุดระบบ “ซี” (Common level) ระบบเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้พิจารณาจากการทำงานแล้วเลื่อนขั้นตามความสามารถที่มี 11 ขั้น ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงวันนี้นานกว่า 3 ทศวรรษหรือ 33 ปี ก็มีอันต้องปิดฉากยกเลิก โดยระบบใหม่ที่นำมาใช้ จะแบ่งบัญชีข้าราชการเป็น 4 ประเภท (แท่ง) ได้แก่ บริหาร อำนวยการ วิชาการ และทั่วไป ส่วนระดับตำแหน่งก็แตกต่างกัน ประเภทบริหารและอำนวยการ มีเพียงระดับต้นและระดับสูง ประเภทวิชาการ มี 5 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ ระดับทรงคุณวุฒิ และประเภททั่วไปมี 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับอาวุโส ระดับทักษะพิเศษ

ทั้งนี้ทุกส่วนราชการต้อง “จัดคนลง” แต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่มีเป้าประสงค์เพื่อให้การบริหารทรัพยากรภาครัฐมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากมีการกระจายอำนาจบริหารลงไปสู่ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยงาน ทำให้การปฏิบัติงานรวดเร็วยิ่งขึ้น ข้าราชการมีความก้าวหน้าในการทำงาน มีการใช้ระบบสมรรถนะและบริหารผลงานอย่างจริงจัง ทำให้ข้าราชการทำงานอย่างมืออาชีพ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้รับบริการ

ปัจจุบันประเทศไทยมีข้าราชการพลเรือนสามัญ 361,657 ตำแหน่ง ใน 19 กระทรวง 147 กรม เมื่อยกเลิกระบบ “ซี” มีการจัดตำแหน่งใหม่โดยพิจารณาจากลักษณะงานและสายงานหลัก พร้อมยกเลิกสายงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งเดิมมีถึง 465 สายงาน จะเหลือเพียง 247 สายงาน ส่วนการปรับเปลี่ยนบัญชีเงินเดือน เมื่อแบ่งข้าราชการเป็น 4 แท่งแล้ว จะทำให้มีการเลื่อนไหลและเกิดความสะดวกมากขึ้น การพิจารณาค่าตอบแทนจะใกล้เคียงราคาตลาด โดยคำนึงถึงทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานของแต่ละคน เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหา “สมองไหล” ได้

ถือเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน ด้วยระยะเวลาอันสั้นนี้ คงยากทำความเข้าใจกับข้าราชการที่เช้าชามเย็นชาม รากงอกฝังลึก จึงเป็นหน้าที่ของ ก.พ. ต้องเร่งประชาสัมพันธ์กับเพื่อนข้าราชการในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้ทั่วถึงโดยเร็ว เพราะเมื่อ “ระบบ” เปลี่ยน “คน” ก็ต้องปรับตัวตาม มีความพร้อมในทุกระดับชั้น จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในภารกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ข้าราชการไทยก็จะมีคุณภาพ คุณธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดี มิเช่นนั้นผลเสียทั้งหลายจะตกอยู่กับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

นสพ.เดลินิวส์