ไอซีที เดินหน้า สร้างความรู้การเก็บข้อมูลจราจรทางคอมฯ
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า จากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เรี่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 51 ปรากฏว่าผู้ให้บริการในกลุ่มที่ต้องจัดเก็บข้อมูลจราจรตามประกาศฯ บางราย ยังขาดความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวอยู่ กระทรวงฯ จึงดำเนินโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนการบังคับใช้พรบ.คอมฯ

ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวต่อว่า เป้าหมายการทำโครงการดังกล่าว คือการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันการทำลาย การแก้ไข การเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยมิชอบ และแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติฯ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว

“โครงการดังกล่าวจะใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส โดยการใช้งานผ่านโปรแกรมลีนุกส์ ให้บริการดาวน์โหลดฟรี ผ่านทางเว็บไซต์ www.crc.mict.go.th ในช่วงต้นเดือน ม.ค.52 อย่างไรก็ตามซอฟต์แวร์ที่จะใช้ ได้มาจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวแล้วในการเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการทางภาคเหนือ สำหรับการประเมินผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวจะเป็นการประเมินจากการติดตั้งและการใช้งานระบบดังกล่าวของผู้เข้าอบรม” นายสือ กล่าว

นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที กล่าวว่า กระทรวงฯมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินโครงการฯดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มผู้ให้บริการประเภท 5(1)ค 5(1)ง และ5(2) ตามประกาศกระทรวงฯ เพื่อให้ผู้ดูและระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละหน่วยงานเข้าใจวิธีการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ Traffic Data ที่ถูกต้องตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.คอมฯ ที่ถือเป็นการเสริมสร้างความตระหนัก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐทราบถึงวิธีดำเนินการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตราฐานเดียวกัน

“การดำเนินโครงการฯนั้นจะมีการสัมมนาเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ สำหรับผู้ดูแลระบบ Basic Radius Configuration การติดตั้งใช้งาน Authentication Gateway นอกจากนี้ยังมีการจัดระดมสมองเกี่ยวกับ Sever Log Management / Log Redirect / Log Rotate และ Centralize log Management โดยผลจากการระดมสมองในครั้งนี้ จะนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงประยุกต์ใช้กับภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี โดยการสัมมนานี้จะจัดครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดตรัง ภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นและหนองคาย ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการสัมมนา คือ ผู้ให้บริการภาคเอกชนและผู้ให้บริการภาครัฐ”ผอ.สำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที กล่าว

ด้านนางสาวถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯมีความพร้อมทั้งในด้านตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านวิชาการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการวิชาการ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าว จะสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ ที่จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เก่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันป้องปรามภัยทางคอมพิวเตอร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“ทางเรามีความพร้อมทางด้านเครื่องมือ ประสบการณ์ เราเคยมีการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการทางภาคเหนือมาก่อน โดยโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น 2.9 ล้านบาท ในการจัดอบรมสัมมนาทั้งหมด 8 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นละ 150 คน โดยคัดเลือกจากตัวแทนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง” น.ส.ถนอมพร กล่าว

http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03b&content=115012