ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเจรจาความเหมาะสมของตัวชี้วัด เป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนนตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของ ศธ.และส่วนราชการในสังกัด ประจำปีงบประมาณ 2552 กับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามา ดังนั้นทิศทางและจุดเน้นที่เสนอจึงเป็นภาพในระดับกระทรวง เพื่อให้รัฐบาลและ รมว.ศธ.พิจารณาให้ข้อ คิดเห็นเพิ่มเติม โดยที่ประชุมได้เห็นด้วยในหลักการยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มี 7 ตัวชี้วัด ซึ่ง 5 ตัวชี้วัดแรก เป็นเรื่องของอัตราการเข้าเรียนในแต่ละระดับ เริ่มตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา กลุ่มอายุ 3-5 ปี ประถมศึกษา 6-11 ปี ม.ต้น 12-14 ปี ม.ปลายหรือเทียบเท่า 15-17 ปี และอุดมศึกษา 18-21 ปี ซึ่งได้ทำเป็นปลายเปิดไว้ เพราะเรื่องโอกาสทางการศึกษาน่าจะเป็นจุดเน้นที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีว่าจะดำเนินการจัดอย่างไรโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ส่วนตัวชี้วัดที่ 6 และ 7 เป็นจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน กลุ่มอายุ 15-39 ปี จะเร่งให้มีการศึกษาเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป และ กลุ่มอายุ 40-59 ปี ควรให้มีการศึกษาเฉลี่ย 7 ปีขึ้นไป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มีตัวชี้วัดเดียว คือ การจัดอันดับการศึกษาของไทย โดยสถาบันไอเอ็มดี ที่จะต้องสูงขึ้น จากปีที่ผ่านมา เพราะการจัดอันดับมีเจตนาจะเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันและช่วยให้ต่างชาติมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปี 2549 ไทยอยู่อันดับที่ 35 ปี 2550 อันดับที่ 38 และ ปี 2551 อันดับที่ 24 ที่ประชุมจึงตั้งเป้าหมายว่าใน 3-5 ปีข้างหน้าไทยจะอยู่ใน 15 อันดับแรกของโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยใช้ความรู้เป็นฐาน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จะจัดทำตัวชี้วัดต่อไป ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงของรัฐ จะใช้ตัวชี้วัดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้สอนอิสลามศึกษา และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการ มีตัวชี้วัดเป็นสัดส่วนผู้เรียนระหว่างภาครัฐ เอกชน และอื่น ๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะต้องการลดสัดส่วนภาครัฐให้น้อยลง เป็นต้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กพร.ได้แจ้งให้ทราบว่าการให้คะแนนจะมี 5 ระดับ หากประเมินได้ระดับ 3 จะถือว่าเป็นระดับที่ทำได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังทราบว่าการจัดสรรโบนัสไม่ได้ขึ้นอยู่กับคะแนนที่สูงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางาน เพราะบ่อยครั้งหน่วยงานจะเลือกตัวชี้วัดที่มั่นใจว่าจะทำได้ จึงทำให้หลาย ๆเรื่องที่น่าจะทำไม่ได้รับการบรรจุในแผน กพร.
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/default.aspx?newsid=185576&newstype=1&template=1