นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชอายุสั้น ในสวนยางพาราใหม่ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เนื่องจากต้นยางพาราที่ปลูกใหม่จะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี จึงจะกรีดน้ำยางได้ เกษตรกรจำเป็นจะต้องมีรายได้จากพืชชนิดอื่นที่ปลูกเสริมทดแทน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า มีพืช 4 ชนิด คือ สับปะรดผลสด ถั่วลิสง ถั่วหรั่ง และข้าวโพดหวานลูกผสม ที่เป็นพืชที่มีศักยภาพในการปลูก โดยจะให้ผล ผลิตสูง และไม่ต้องดูแลรักษามากนัก

ทั้งนี้ในส่วนของสับปะรดผลสดนั้น เป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 1 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 4-6 ตันต่อไร่ สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ถึง 32,000-48,000 บาทต่อไร่ ซึ่งขณะนี้มาเลเซีย มีความต้องการสับปะรดผลสดมาก โดยกรมวิชาการเกษตรจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกรดี ที่เหมาะสมตามเทคโนโลยี Good Agricultural Practice (GAP) สำหรับปลูกสับปะรด พร้อมกับมีพันธุ์ที่ปลอดโรคใบเหี่ยวให้เกษตรกร

สำหรับถั่งลิสง เป็นพืชที่นิยมบริโภคมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-150 วัน สามารถปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง ให้ผลผลิตประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ จำหน่ายได้ในราคาประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 8,000-12,000 บาทต่อไร่ต่อครั้ง โดยกรมวิชาการเกษตรมีเทคโนโลยี GAP สำหรับการปลูกถั่วลิสง และเมล็ดพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจเช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนของถั่วหรั่ง หรือ ถั่วปันหยี ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองมีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมบริโภคในภาคใต้นั้น กรมวิชาการเกษตรมี ถั่วหรั่งพันธุ์ดี คือพันธุ์สงขลา 1 ที่จะนำไปส่ง เสริมให้เกษตรกรปลูก จะให้ผลผลิตสูงประมาณ 600 กิโลกรัมต่อไร่ มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นมาก เพียง 120 วัน และกรมวิชาการเกษตรกำลังจะปรับปรุงพันธุ์ให้มีอายุการเก็บเกี่ยวเหลือเพียง 85 วัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรปลูกได้ปีละ 3-4 ครั้ง จำหน่ายได้ในราคา 14-15 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 8,400 บาทต่อ ไร่ต่อครั้ง

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า สำหรับข้าวโพดหวานลูกผสม เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความ เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหาก ปลูกในพื้นที่สวนยางแล้วจะให้ผลผลิตประมาณ 2,400 กิโลกรัมต่อไร่ มีอายุการเก็บเกี่ยว 75 วัน จำหน่ายได้ในราคา 6-10 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ประมาณ 14,400-24,000 บาทต่อไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตที่ พร้อมจะถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่สนใจเช่นกัน.


ที่มา นสพ.เดลินิวส์