ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ปีใหม่ที่ผ่านมาฅนภูไทมีโอกาสไปเยี่ยมเสี่ยวที่สุพรรณบุรี อยู่อำเภอ เดิมบางนางบวช บ้านหมู่ อยู่บ่ไกลจากบึงฉวากเลยเอามาสู่พี่น้องเบิ่ง เพื่ออยากไปเที่ยว แต่ฅนภูไทกะบ่ได้เก็บภาพมาหลายดอก เนื่องจากคนหลายคักมาเบิ่งกันเลยครับ

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

บึงฉวาก

บึงฉวากอยู่ในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ที่เกิดการทับถมของตะกอนดินโคลน จึงถูกแยกตัวออกมาเป็นบึงใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศอันหลากหลาย ภายในพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ อุดมไปด้วยพรรณไม้น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะบัวแดง ในยามเช้าจะชูช่อบาน อวดโฉมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มาตั้งแคมป์พักได้
ด้วยสภาพแวดล้อมของบึงที่มีความเหมาะสมและสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้น้ำนานาชนิด เช่น บัว กก อ้อ ธูปฤาษี ผักตบ สาหร่ายหลากชนิด เป็นต้น จึงเป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำนกทุ่งประมาณ 70 ชนิด มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพที่ผ่านมาอาศัยหรือพักพิงชั่วคราว อาทิ อีโก้ง นกกาบบัว และนกอพยพอย่างนกเป็ดแดงที่มาในช่วงฤดูหนาว นกปากห่างที่มาในช่วงเดือนตุลาคม นกคูท และเป็ดเปียที่จัดเป็นนกอพยพที่หาดูได้ยากก็เคยพบเห็นที่นี่ รวมถึงเป็ดแดงจำนวนนับหมื่นๆ ตัวในช่วงฤดูหนาว นอกนั้นก็มีเป็ดคับแค เป็ดผี นกอีโก้ง นกอีแจว นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกระยาง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทางการจึงประกาศให้พื้นที่ของบึงฉวากเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
นอกจากนี้บึงฉวากยังเป็นแหล่งรวมปลานานาพันธุ์ เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสลิด ฯลฯ ปัจจุบันบึงฉวากได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามสนธิสัญญาแรมซาร์ เมื่อปี พ.ศ. 2541 และประกาศเป็นเขตห้ามล่าเมื่อปี พ.ศ. 2525 บึงฉวากจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางเกษตร ทั้งยังได้จัดสรรพื้นที่โดยรอบบึงฉวากเพื่อการศึกษาและวิจัย อาทิ สวนรวมพันธุ์ไก่ บ่อจระเข้น้ำจืด อุทยานผักพื้นบ้าน สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ฯลฯ
นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนยังสามารถพบเห็นวิถีของชาวบ้านในละแวกพื้นที่ที่ออกมาหาปลาตามบริเวณบึงน้ำด้วยการใช้อุปกรณ์แบบพื้นบ้าน เช่น เบ็ดตกปลา วางเบ็ดราว วางอวน เพื่อจับสัตว์น้ำเหล่านั้นไปบริโภคหรือจำหน่ายแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราหาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงการเก็บฝักบัวที่มีอยู่อย่างดาษดื่นตามหนองบึง
บึงฉวากเป็นศูนย์รวบรวมความรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มาเที่ยวกันได้ทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะมา ดูนก ชมปลา ปิกนิก รับประทานอาหาร ชิมผักพื้นบ้าน หรือมาตกปลาซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่พบเห็นได้รอบบึง
นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถโดยสารภายในที่จะแวะ 3 จุดหลัก คือ สถานีที่1 นำชมกรงสัตว์ต่างๆ มีทั้งกรงเสือ ซึ่งภายในตกแต่งเป็นถ้ำและเนินหินให้คล้ายกับธรรมชาติของสถานที่ที่เสืออยู่เพื่อให้สามารถชมพฤติกรรมของเสือ ตลอดจนกรงเสือขนาดต่างๆ เพื่อศึกษาและขยายพันธุ์ กรงนกน้ำ ที่นำเอานกน้ำหลากหลายชนิดในธรรมชาติที่มีทั้งนกกระเรียน นกอีโกง นกเป็ดเทามาให้ชม กรงไก่ฟ้าและกรงสัตว์ปีก ที่มีนกตระกูลไก่ฟ้า อาทิ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าพญาลอ นกเงือกหัวแรด ฯลฯ สถานีที่ 2 นำชมอุทยานพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการเกษตร และสถานีที่ 3 คือสถานแสดงพันธุ์ปลาของกรมประมง ซึ่งจัดเป็นสถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดภายในแหล่งน้ำภาคกลาง มีบ่อเลี้ยงจระเข้ในสภาพธรรมชาติ มีสะพานล้อมรั้วให้เดินชมได้อย่างใกล้ชิด
อุทยานผักพื้นบ้าน ผักพื้นบ้านมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยมาแต่โบราณ นอกจากจะปลอดภัยจากสารเคมียังใช้เป็นยารักษาสุขภาพและใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ห่อ รัด มัด ร้อย ย้อมผ้า เป็นต้น ด้วยคุณประโยชน์มากมายของผักพื้นบ้าน ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดพื้นที่ 26 ไร่ ของบึงฉวากเป็นอุทยานผักพื้นบ้าน โดยการนำเอาผักพื้นบ้านของทุกภาคทั้งที่พบได้ทั่วไปและหายากมาเพาะปลูกเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ อาทิ ผักทำมังที่มีกลิ่นเหมือนแมงดา นำมาใช้แทนแมงดาได้ งิ้วดอกแดงที่นำดอกไปทำแกงแค ตลอดจนผักชื่อแปลกๆ อย่างพ่อค้าตีเมีย ที่เป็นพืชตระกูลเฟินสามารถนำมารับประทานเป็นผักสด
ด้วยการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้วิธีการทางชีวภาพคือ การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน กบเขียดในการกำจัดแมลง รวมทั้งการใช้สารสะกัดจากสะเดาในการกำจัดแมลงต่างๆ โดยมีการจัดสรรพื้นที่ให้ผักพื้นบ้านเป็นไม้ประดับสวนหย่อมแทน และปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของพืช อาทิ พืชที่ต้องการความชื้นมากจะจัดให้อยู่ในบริเวณที่ชื้น พืชน้ำจะจัดให้อยู่ในบึงน้ำ ส่วนพืชผักในกลุ่มของพริก กระเพรา หรือกลุ่มพืชตระกูลคล้า จะจัดให้อยู่กลางแจ้ง ตลอดจนการจัดสวนที่นำผักพื้นบ้านมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่พาชมพร้อมคำอธิบาย
ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 สถานี คือ สถานีที่ 1 มีการบรรยายและชมนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและวัตถุประสงค์ แผนผังอุทยาน ห้องสมุด ห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที สถานีที่ 2 นำชมพันธุ์ไม้น้ำนานาชนิด อาทิ ดอกบัวนานาพันธุ์ ชมพรรณไม้ระหว่างทาง พร้อมทั้งแนะนำพืชผักที่สำคัญ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที สถานีที่ 3 จะเป็นการปลูกพืชในโรงเรือนระบบระเหยน้ำ แสดงการปลูกพืชแบบใช้ดินและไม่ใช้ดิน ฯลฯ ที่นี่มีการทดลองปลูกพริกหวาน แคนตาลูป ผักเมืองหนาว (ยังอยู่ในขั้นทดลอง) สถานีที่ 4 ซุ้มไม้เลื้อยเล็กและใหญ่ ซุ้มสามเหลี่ยม ลายไทย ซุ้มด้านหน้า ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

การเดินทางและที่ตั้ง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0-3552-4736 ,0-3552-4740
อุทยานผักพื้นบ้าน โทร.0-1948-9214 เดินทางโดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอเดิมบางนางบวชจะสามารถเข้าได้ 2 เส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 เมื่อถึงสี่แยกทางเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนตรงไปจนพบสามแยกตัดกับถนนเลียบคลองชลประทาน เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคลองชลประทานจะถึงบึงฉวาก
เส้นทางที่ 2 จากอำเภอเมืองสุพรรณบุรี มาตามทางหลวงหมายเลข 340 หลักกิโลเมตรที่ 147 ด้านซ้ายมือจะเห็นโรงเรียนวัดเดิมบางนางบวช ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงเรียนแล้วข้ามแม่น้ำตรงไป เมื่อถึงสามแยกตัดกับถนนเลียบคลองชลประทานให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคลองชลประทานจนพบสะพานข้ามคลองชลประทานด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วตรงไปเรื่อยๆ จะถึงบึงฉวาก
การเปิดให้เข้าชม ทุกวัน เวลา 8:30-16:00 น. ส่วนการนำชมตามสถานีต่างๆ ของอุทยานผักพื้นบ้าน ต้องมาเป็นหมู่คณะไม่ต่ำกว่า 20 คน และต้องแจ้งล่วงหน้า
อัตราค่าเข้าชม - สิ่งอำนวยความสะดวก มีรถพ่วงบริการชมภายในบึงฉวาก รถจะออกทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อนั่งชมภายในบริเวณสวน โดยจะเริ่มต้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สถานีที่ 1 นำชมกรงสัตว์ต่างๆ ของกรมป่าไม้ สถานีที่ 2 นำชมอุทยานผักพื้นบ้าน ของกรมส่งเสริมการเกษตร สถานีที่ 3 นำชมสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ และบ่อเลี้ยงจระเข้ ของกรมประมง ค่าบริการคนละ 20 บาท


ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

ฅนภูไท พาไปเยี่ยมเสี่ยวเที่ยวบึงฉวาก

เนื่องจากคนหลายคัก เลยเก็บภาพบ่ได้เต็มที่ เดี๋ยวมีโอกาสสิเอามาเพิ่มเติมใหม่เด้อครับ ฅนภูไทไปดู๊อยู่