เครื่องแยกน้ำมันดินออกจากน้ำส้มควันไม้

นวัตกรรมผลงานที่มีประโยชน์ต่อชุมชน

เป็นผลงานของ ผศ.ดร.จันทิมา ชั่งสิริพร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี และทีมงาน ประกอบด้วย นายสมคิด จีนาพงศ์ และ นางจรรยา อินทมณี ของภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ได้รางวัลผลงานที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ประจำปี 2551 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในปัจจุบันการผลิตน้ำส้มควันไม้เริ่มเป็นที่รู้จักและนำไปใช้ประโยชน์กัน อย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศไทย จึงได้มีกลุ่มชุมชนหลายกลุ่มทำการผลิตน้ำส้มควันไม้เพื่อขาย โดยมีวิธีการผลิตโดยทั่วไป คือ การนำเศษไม้มาเผาเพื่อ ให้เกิดควันไม้และทำการควบแน่นควันไม้ผ่าน กระบอกไม้ไผ่ยาว 4-5 เมตร เพื่อให้เกิดการถ่ายเทความร้อนกับอากาศและควบแน่นเป็นหยดของเหลวไหลออกมา เป็นผลิตภัณฑ์น้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้ เป็นสารเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติที่เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ในเตาเผา ภายใต้สภาวะจำกัดอากาศ น้ำส้มควันไม้มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองถึงสีน้ำตาลแดง ใส มีกลิ่นควันไม้ มีรสเปรี้ยว มี pH 1.5-3.7 ประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ ได้แก่ ใช้กันมอดแมลงในการเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ยารักษาโรค เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เคลือบผิวงานไม้ และใช้ทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตรายบางชนิดได้

นวัตกรรมผลงานที่มีประโยชน์ต่อชุมชน

วิธีการทั่วไปที่กลุ่มชุมชนใช้ในการผลิตน้ำส้มควันไม้นี้มีข้อเสีย คือ ใช้เวลาในการผลิตนาน มีประสิทธิภาพในการควบแน่นควันไม้ต่ำ ทำให้เกิดการสูญเสียสารสำคัญซึ่งเป็นกรดอินทรีย์บางชนิด ซึ่งพบว่าน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตได้มีค่า pH 3.4-4.0 สูงกว่าน้ำส้ม ควันไม้ที่มีคุณภาพโดยทั่วไป นอกจากนั้นวิธีการนี้ยังทำให้ได้น้ำส้มควันไม้ที่มีน้ำมันดิน ( tar ) ผสมอยู่ในปริมาณสูง ไม่สามารถนำน้ำส้มควันไม้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีหลังการผลิต จะต้องผ่านการแยกน้ำมันดินด้วยการวางน้ำส้มควันไม้ทิ้งไว้เป็นเวลา 45-90 วัน เนื่องจากน้ำมันดินจะก่อให้เกิดการอุดตันที่รูใบของพืชทำให้พืชตายได้และ น้ำมันดินเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคนและสัตว์ ผู้ผลิตน้ำส้มควันไม้จึงต้องใช้เวลานานในการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตและขายน้ำส้มควันไม้ได้ทันกับความต้องการของตลาด

เครื่องแยกน้ำมันดินออกจากน้ำส้มควันไม้ จึงเป็นเครื่องมือที่ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำ ส้มควัน ไม้ เพื่อการผลิตน้ำส้มควันไม้พร้อมใช้ที่ สามารถแยกน้ำมันดินออกจากควันไม้ก่อนการ ควบแน่นของควันไม้เป็นน้ำส้มควันไม้ โดย อาศัยหลักการพื้นฐานจากกระบวนการกลั่น (distillation) ที่มีการถ่ายโอนมวลและความร้อนของสาร อันจะทำให้เกิดการแยกของสารตามที่ต้องการ ประกอบกับการมีระบบควบแน่นของควันไม้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ได้น้ำส้มควันไม้ที่ไม่ปนเปื้อนน้ำมันดิน ได้น้ำส้มควันไม้ที่มีคุณภาพสูง คือ มีค่า pH 2.6-3.0 และช่วยลดระยะเวลาในการผลิตน้ำส้มควันไม้ได้เป็นอย่างมาก

เครื่องแยกน้ำมันดินออกจากน้ำส้มควันไม้ได้ผ่านการดำเนินการศึกษาวิจัยที่ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทำการติดตั้งใช้งานเป็นเครื่องแรกที่ชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านนายกรอย อ.ป่าบอน จ.พัทลุง.



ที่มา เดลินิวส์ ออนไลน์