ครู เป็นผู้มีพระคุณควรแก่การเคารพบูชา เป็นปูชนียบุคคล มีความสำคัญเป็นลำดับที่สอง รองบิดามารดา วิธีแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อครูที่เห็นได้ชัดก็คือ การแสดงความเคารพ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การไหว้ครู"
การไหว้ครูจัดเป็นพิธีใหญ่ถือเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปีสืบทอดกันมาช้านาน โดยเฉพาะวิชาศิลปะ โขน ละครดนตรีปี่พาทย์ มีการประกอบพิธีเป็นตอน กระทั่งยึดถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน
การบรรเลงปีพาทย์ในพิธีไหว้ครูก็เช่นกัน โบราณาจารย์ท่านได้กำหนดเพลงและระเบียบวิธีบรรเลงไว้แล้วอย่างเหมาะสมมีหลักมีเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตของศิษย์ ซึ่งได้รักษาและสืบทอดกันต่อ ๆมา
เพลงหน้าพาทย์
เพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครู
เพลงที่กำหนดใช้ในพิธีไหว้ครูเรียกว่า " เพลงหน้าพาทย์ " ในวงการโขนละครดนตรีปีพาทย์เขามักจะทำการคารวะด้วยความนอบน้อมก่อนทุกครั้งไป เทพแต่ละองค์จะมีเพลงประจำองค์เทพนั้น ๆ และกำหนดหมายรู้จากเพลงที่กำลังบรรเลงว่าองค์เทพนั้น ๆ กำลังเสด็จมา ณ บริเวณพิธีแล้ว
เมื่อมาวิเคราะห์โครงสร้างของเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงอย่างถ่องแท้จะพบว่า ท่านผู้รจนาเพลงได้สร้างสรรค์ทำนองเพลงเพื่อบทเฉพาะกาล จากแรงบันดาลใจด้วยความสำนึกในความกตัญญูเป็นพื้นฐานเพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูจึงมีท่วงทำนองที่ไพเราะ มีลีลาแช่มช้อยเนิบนาบแต่เต็มไปด้วยความสำนึกในความโอ่อ่า องอาจ สง่างาม เหมาะกับสภาวะแห่งเทพ แห่งครู
พิธีไหว้ครูโขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์นั้น วงปี่พาทย์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่ง แม้จะมีกล่าวไว้ในตำราบางเล่มว่า พิธีไหว้ครูดนตรี ไม่ต้องมีวงปี่พาทย์ก็ได้ แต่เท่าที่ปฏิบัติกันมาก็เห็นมีวงปี่พาทย์เป็นแกนสำคัญทุกครั้ง ที่เป็นเช่นนี้พอจะอนุมานมูลเหตุสำคัญได้ว่า น่าจะมาจากต้องการให้เสียงดนตรีปี่พาทย์ช่วยประกาศให้ทราบทั่วกันว่า เวลานั้น ณ สถานที่นั้นกำลังกระทำพิธีไหว้ครูอยู่ อีกประการหนึ่งคงเพื่อน้อมเป็นเครื่องบูชาครูผลที่ตามมาของการที่มีปี่พาทย์ประโคมคือ ทำให้พิธีความศักด์สิทธิ์ดูโอ่อ่าภาคภูมิ สมกับเป็นพิธีที่สำคัญ
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ศิลปินผู้บรรเลงปี่พาทย์ในพิธีไหว้ครูจึงรับบทบาท และหน้าที่สำคัญเพราะต้องเป็นผู้ที่แสดงออก ซึ่งความสามารถในการใช้เสียงเพื่อสื่อความหมายให้ตรงจุดประสงค์และบังเกิดประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ของพิธีกรรม
มีคำกล่าวว่า " ฟังเพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูแล้วขนลุกและมีความรู้สึกที่บอกไม่ถูก แต่ชอบฟังจริง ๆ บางเพลงฟังแล้วรู้สึกเหมือนว่า ตนเองอยู่ในสถานที่ที่โอ่อ่า มีเสาใหญ่ ๆ ดุจท้องพระโรงมีผู้คนมากมายแต่ทว่าเงียบกริบ " นั่นแสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของท่านผู้รจนาเพลง เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและสมบูรณ์ควรแก่การดำรงรักษาไว้ให้คงสภาพเหมือนเช่นเดิม โบราณาจารย์ของเราท่านตระหนักในเรื่องนี้เป็นอ่างดี จึงได้พยายามรักษาทำนองเนื้อเพลงของเดิมไว้ โดยการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เคารพทำนองเพลงเป็นครู ทั้งได้กำหนดลักษณะวิธีการบรรเลงไว้เป็นพิเศษซึ่งแตกต่างจากการบรรเลงในรูปแบบอื่นโดยสิ้นเชิง
โดยทั่วไปแล้ว วิธีการบรรเลงของไทยนั้น ผู้บรรเลงแต่ละเครื่องมือทุกคนจะต้องเรียนรู้และจดจำทำนองฆ้องนั้นมาเป็นทางของตน (เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในวงการของผู้สนใจดนตรีไทย) โบราณาจารย์ท่านได้กำหนดลักษณะวิธีการบรรเลงการแปรทำนองของเพลงประเภทต่าง ๆ ไว้แล้วอย่างครบครัน ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จะยกตัวอย่างเพลงประเภทที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ คือเพลงประเภทเพลงเถาหรือเพลงสามชั้น เพลงประเภทนี้ผู้บรรเลงสามารถดำเนินทำนองไว้ได้อย่างอิสระเสรีจะใช้สำนวนพลิกแพลง ยอกย้อนลูกสะบัดขยี้ หรือจะใส่อารมณ์ความรู้สึกของผู้บรรเลงไปในทำนองเพลงและกาลเทศะด้วย สิ่งที่ต้องระวังก็คือต้องระวังเสียงลูกตกให้ตรงกับเสียงลูกตกของลูกฆ้อง ( ใหญ่ ) เป็นสำคัญ
ถ้าเป็นประเภทเพลงบังคับทาง หรือที่เรียกกันว่า ทางกรอ ทางหว่าน เช่น เพลงเขมรไทรโยคผู้บรรเลงเพลงอาจตกแต่งทำนองเพลงได้บ้างเล็กน้อย ต้องยึดทางฆ้องไว้เป็นสำคัญ ถ้าเป็นเพลงประเภทเพลงเรื่อง เช่น เรื่องเพลงพระฉัน ซึ่งเป็นประเภทเพลงโบราณ มีทำนองลูกฆ้องห่าง ๆ เป็นเพลงประเภทความคิดผู้บรรเลงมีโอกาสใช้ความสามารถทั้งในด้านความคิดและฝีมือที่มีอยู่ได้อย่างกว้างขวางและมีอิสระเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงลูกตกของเสียงลูกฆ้อง เช่น ถ้าลูกฆ้องแตกเสียงสูงผู้ดำเนินทำนองอาจดำเนินทำนองไปตกที่ลูกฆ้องเสียงต่ำก็ได้ ( แต่ต้องเป็นคู่เสียงเดียวกัน) เพลงประเภทนี้ ถ้าเป็นระนาดเอกด้วยแล้ว ผู้บรรเลงต้องใช้ความคิดอย่างมาก เพราะต้องพยายามที่จะร้อยกลอนให้สัมผัสผูกพันกันเป็นลูกโซ่ ทั้งผู้ฟังก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องเพลงอยู่บ้างพอสมควรจึงจะฟังอย่างมองเห็นความคิดความสามารถของผู้บรรเลงได้ เพราะการบรรเลงประเภทนี้เป็นเพลงที่นักดนตรีเขาบรรเลงอวดฝีมือ อวดความคิดอวดความรู้กัน
ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า เพลงหน้าพาทย์นั้นแต่งเพื่อบทเฉพาะกาลเพื่อบูชาครูท่านผู้รจนาเพลงจึงบรรจงแต่งอย่างพิเศษ ได้เลือกเฟ้นท่วงทำนองเพลงที่ดีที่สุด ไพเราะที่สุด โอ่อ่าที่สุด เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นศิริมงคลทั้งแก่ตนและผู้ฟัง จึงเคารพว่าเป็นเพลงครูสำหรับวิธีการบรรเลงนั้นกำหนดให้ดำเนินทำนองโดยรักษาโครงสร้างของลูกฆ้องใหญ่เป็นสำคัญความสง่างามของเพลงอยู่ที่การวางแนวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลุกลน แต่ก้ไม่ช้าจนอืดอาดถ้าจะเปรียบให้เกิดมโนภาพจะเหมือนอยู่ในท้องพระโรงที่มีเสาต้นใหญ่ ๆ ตั้งเรียงรายมีระยะห่างเท่า ๆ กัน มีระเบียบ มั่นคง ทั้งโอ่อ่าและสวยงาม ผู้ที่จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ต้องตั้งสมาธิจัดให้แน่วแน่สำรวมกาย วาจา ใจ แล้วกำหนดกระแสแห่งความคารวะ ความสำรวมให้กระจายไปในท่วงทำนองของเพลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือสำนวนกลอนจะบ่งบอกถึงความเรียบร้อยนุ่มนวล แต่ทว่ามีพลังหนักแน่น และเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งศัพท์ทางดนตรี เรียกว่า " ตีให้เรียบ " ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง) ท่านใช้คำว่า " พื้น" ทางพื้นของท่านคือบรรเลงโดยรักษาท่วงทำนองให้เดินไปอย่างเรียบร้อย จะไม่มีสะบัด ขยี้ ฉลัดเฉวียน ฯลฯ เข้ามาสอดแทรกไม่ว่าจะเป็นแนวในการบรรเลงเสียงที่สื่อออกมา ต้องรักษาให้สม่ำเสมอตั้งแต่ต้นจนจบ ฉะนั้นในการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครู จึงไม่เป็นการบังควรที่จะใส่อารมณ์ส่วนตัวของผู้บรรเลง เช่น กระซิบกระซาบ เดี๋ยวค่อย เดี๋ยวดัง หรือสอดแทรกลุกสะบัด ขยี้ โครมครามแผลงอิทธิฤทธิ์ หรืออวดความมีน้ำอดน้ำทน (ปัจจุบันมักจะได้พบได้เห็นการบรรเลงเช่นนี้กันมาก เห็นได้ชัดในเพลงบาทสกุณี เพลงพราหมณ์เข้า และเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ)
การบรรเลงโดยรักษาโครงสร้างของเพลง คือการพยายามหาวิธีการดำเนินทำนองให้เห็นทำนองฆ้องเด่นชัด แต่ในขณะเดียวกันก็รักษาหน้าที่ของเครื่องดนตรีด้วย ยกตัวอย่าง ระนาดเอกตามลักษณะวิธีการบรรเลงกำหนดไว้ว่าต้องตีสองมือพร้อมกันเป็นคู่แปด มีหน้าที่แปรทำนองร้อยเป็นกลอนที่เรียกเป็นศัพท์สังคีตรู้จักกันทั่วไปว่า " ตีเก็บ " ฉะนั้นในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินทำนองตามลูกฆ้องได้ (เสียงที่ตีลูกระนาดซ้ำกัน คือ การรักษาเนื่องฆ้องตามศัพท์เรียกว่า กลอนสับ) เนื่องจากมีระยะห่างมากก็อนุโลมให้ดำเนินทำนองตีเก็บเป็นกลอนได้บ้าง เพื่ออาศัยเป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่เสียงตกของลูกฆ้อง มิใช่นำมือฆ้องมาบรรเลงเสียเลยอย่างที่ทำกันทุกวันนี้
ด้วยเหตุที่เกรงว่าศิษย์รุ่นหลังจะปฏิบัติได้ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ปรมาจารย์ทางดนตรีไทยท่านจึงได้กำหนดไว้ว่า " ผู้ที่จะต่อเพลงหน้าพาทย์สำคัญในพิธีไหว้ครู ต้องเป็นผู้ที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป " ข้อกำหนดนี้วิเคราะห์ได้ว่า เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผู้ใหญ่พอ มีสติ รู้ผิด รู้ถูก นั้นเอง
อีกเพลงหนึ่งที่ยากจะขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ คือเพลงสาธุการ ซึ่งเป็นเพลงที่บรรเลงเป็นพุทธบูชา เพื่อแสดงความคารวะต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้บรรเลงต้องปฏิบัติด้วยความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งสื่อออกมาให้สัมผัสได้ทางเสียงและสำนวนกลอนที่นุ่มนวลเรียบร้อย มีสง่าเป็นระเบียบเหมือนกันหมดทุกเครื่องมือ แต่ในปัจจุบันนี้เท่าที่สังเกตเห็น ดูเหมือนว่านักดนตรีจะพาลละเลย ขาดความสำรวมเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะเนื่องมากจากความไม่รู้เพราะเคยได้ยินได้เห็นมาอย่างนั้นก็เลยปฏิบัติตาม ๆ กันไป โดยไม่ทราบว่าถูกที่ควรนั้นเป็นอย่างไร จึงได้ถือแบบแผนทางดนตรีไทยที่ท่านปรมาจารย์ได้กำหนดไว้แล้วให้สืบทอดต่อไปสมตามเจตนารมณ์ของท่าน ทั้งยังจะเกิดศิริมงคลต่อตัวของผู้ปฏิบัติตนเข้าถึงหลักมงคลในพุทธศาสนาถึง 3 ข้อได้แก่
ข้อหนึ่ง พาหุสัจจะ คือความใฝ่หาความรู้ ความเป็นผู้คงแก่เรียน

ข้อสอง คือ ศิลปะ หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกถึงความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาและนำไปใช้ได้อยางถูกต้องสมควรแก่กาลเทศะ

ข้อสาม คือ วินัย หมายถึงการบังคับตนให้อยู่ในระเบียบไม่แสดงออกนอกลู่นอกทาง( หลักธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากการสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณพระเมธีวราลังการวัดชนะสงคราม เรื่องมงคล คือเหตุที่ทำให้เจริญก้าวหน้า)

ครูย่อมปรารถนาเห็นศิษย์เจริญก้าวหน้า จึงได้อบรมสั่งสอนศิษย์ ให้ทั้งวิชาการและแนวปฏิบัติตนล้วนแล้วแต่เป็นศิริมงคลจึงหวังว่า ศิษย์ทั้งหลายจะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูได้ไพเราะสมตามเจตนารมณ์ของท่านผู้รจนาเพลง เพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาครู
หน้าก่อน

© ลิขสิทธิ์ของ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม