หนาวและเครียด กระตุ้นโรคผื่นกลีบกุหลาบ!!
หนาวและเครียด กระตุ้นโรคผื่นกลีบกุหลาบ

ผู้ป่วยเสี่ยงโรคภูมิแพ้-สิว-รังแค สูงกว่าคนทั่วไป

โรคที่มากับฤดูหนาวนั้นมีด้วยกันหลายโรค เมื่ออากาศหนาวเย็นลงจะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน และอาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ รวมถึงโรคปอดบวมด้วย

นอกจากโรคดังที่กล่าวมาแล้ว ยังพบการระบาดและการกำเริบทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ “โรคกลีบกุหลาบ” ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่มีผื่นลักษณะเฉพาะ เริ่มแรกจะมีผื่นปฐมภูมิเรียกว่า ผื่นแจ้งข่าว ต่อมาอีก 1-2 สัปดาห์ จะมีผื่นลักษณะเฉพาะกระจายทั่วไป

ผื่นที่เกิดตามมานี้มักเป็นตามแนวลายเส้นของผิวหนัง จึงทำให้รอยโรคที่หลัง อาจเรียงตัวดูคล้ายต้นคริสต์มาส ผื่นเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-6 สัปดาห์

พบโรคนี้บ่อยที่สุดในคนกลุ่มอายุ 15-40 ปี อาจมีอาการนำมาก่อนผื่นขึ้น ได้แก่ อาการเหนื่อยเมื่อยล้า, คลื่นไส้, เบื่ออาหาร, ไข้, ปวดข้อ, ต่อมน้ำเหลืองโต และปวดศีรษะ และอาจเกิดในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนนำมา ก่อน

อาการเหล่านี้อาจนำมาก่อนการเกิดของผื่นแจ้งข่าว ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบ มีอาการคัน ซึ่งร้อยละ 25 อาจคันรุนแรงมาก เชื่อว่า เชื้อไวรัส human herpesvirus 6 (HHV-6) และ HHV-7 น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้

แต่จากการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนยังไม่พบอนุภาคของไวรัสที่คล้าย herpesvirus เป็นที่น่าสนใจว่า ไข้ออกผื่นในเด็กที่ชื่อ ไข้ผื่นกุหลาบ หรือไข้หัดกุหลาบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ มีไข้นำมาก่อน 3 วัน พอไข้ลงจะมีผื่นขึ้น

มีรายงานว่าเกิดจาก HHV-6 นอกจากนั้น พบว่า ยาบางตัวทำให้เกิดโรคกลีบกุหลาบได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (metronidazole), ยารักษาสิว (isotretinoin), ยาลดไข้แก้ปวด (aspirin), ยาฆ่าเชื้อรา (terbinafine) ผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้, โรคเซ็บเดิร์ม, โรคสิว และรังแคสูงกว่าคนทั่วไป และพบว่ามักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้น ในคนที่มีความเครียดสูงอีกด้วย

ผู้ป่วยที่เป็นผื่นกลีบกุหลาบควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ, การมีเหงื่อออกและการสัมผัสสบู่ เพราะทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง ผื่นจึงมีอาการกำเริบ อาจใช้ยาทาลดอาการคันในกรณีที่เป็นมาก หรือเป็นทั่วตัวควรพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ยารับประทานแก้คัน หรือให้สเตียรอยด์ในรูปยาทาตามความเหมาะสม

โดยมากเราจะพบผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบได้ตลอดปี แต่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ในฤดูหนาวและฤดูฝน ในฤดูหนาวโรคกลีบกุหลาบมักมีอาการคันอย่างรุนแรง เพราะมีแนวโน้มที่จะมีผิวแห้งอยู่แล้ว จึงควรดูแลไม่ให้ผิวแห้งด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งความเครียดและอากาศหนาวเย็นที่ทำให้ผิวแห้งล้วนก่อให้เกิดการกำเริบและ อาการคันอย่างรุนแรงในโรคกลีบกุหลาบ จึงทำให้ระยะนี้พบการกำเริบและการระบาดของโรคนี้สูงขึ้น


หมายเหตุ: ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์