ใครที่รู้ตัวว่าเป็นโรคตาแห้ง วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์มีวิธีการรักษาโรคตาแห้งมาฝาก...

ตาแห้ง คือ การที่ปริมาณน้ำตาที่มาหล่อเลี้ยง ให้ความชุ่มชื่นกับดวงตา เคลือบกระจกตาดำไม่พอ พบในผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัย แต่พบบ่อยมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

การรักษาโรคตาแห้ง

1. ลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี คือ หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแดดและลม โดยสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือแอร์เป่าใส่หน้า

2. กระพริบตาถี่ ๆ ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิวน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่ง ตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตาเพียง 8-10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้นจึงควรพักสายตา โดยการหลับตา กระพริบตา หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง

3. สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้าง แว่นชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลมด้วย หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่ใสบางและนุ่ม นำมาตัดให้เข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber

4. ใช้น้ำตาเทียม หรือ ยาหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง น้ำตาเทียมมี 2 ชนิด คือ

- น้ำตาเทียมชนิดน้ำ เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียว และไม่ทำให้ตามัว แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องหยอดตาบ่อย
- น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียว หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ แต่จะทำให้ตามัวชั่วขณะหลังป้ายยา จึงควรใช้ป้ายตาแต่น้อยก่อนเข้านอน

การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง หากวันใดไม่ถูกลม แล้วรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก ก็หยอดบ่อย ๆ ได้ตามความต้องการ
ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม

ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย หยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดขวดที่มีสารกันบูดได้ กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด (Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็ก เมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้ อาจะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค

5. การอุดรูระบายน้ำตา สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นาน ๆ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไป เหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นเก็บกักน้ำไว้ใช้

วิธีและขั้นตอนในการอุดรูระบายน้ำตามี 2 วิธี คือ

- การอุดแบบชั่วคราว จักษุแพทย์จะสอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น โดยคอลลาเจนจะสลายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์

- สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำตาแห้งมาก จักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้ จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคตาแห้งจะดีกว่า.

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.เดลินิวส์ การรักษาโรคตาแห้ง มุมสุขภาพ