ในโลกของ IT มักจะมีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ ๆ ในรูปภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่เจ้าของเทคโนโลยีเป็นผู้ใช้ จากนั้นผู้รับเทคโนโลยีจะนำคำใหม่ ๆ เหล่านั้น ไปประยุกต์ใช้กับภาษาของผู้รับ

Web ออกเสียงว่า เว็บ และ WAP ออกเสียงว่า แว็ป เป็นอีก ๒ คำใหม่ที่น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ใช่คำศัพท์ที่เกิดขึ้น อย่างใหม่เอี่ยมถอดด้ามก็ตาม

Web มีคำแปล จากคำศัพท์ดั้งเดิม คือ ใยแมงมุม คำนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับ ระบบเครือข่าย ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ที่เรียกว่า Internet ( หรือ International Network) โดยอิงกับรูป ใยแมงมุม ที่แผ่ตัวเป็นข่ายอย่างกว้างขวาง และเจ้าของเทคโนโลยีได้กำหนดคำเต็มไว้ว่า World Wide Web โดยมีตัวย่อคือ WWW ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยแบบตรงไปตรงมาได้ว่า ตาข่ายใยแมงมุมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก แต่คำแปลนี้คงจะไม่สามารถสื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Internet เข้าใจความหมายว่า เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของโลกได้ จำเป็นที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นคำที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ดังกล่าว

คำโฆษณาจูงใจ ของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ว่า เครือข่ายทั่วไทย โยงใยทั่วโลก นั้น ผู้เขียนเห็นว่า เป็นคำแปล ของ WWW ได้อย่างเหมาะสม โดยหมายถึง เครือข่ายโทรคมนาคมที่โยงใยถึงกันทั่วโลก ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ที่ เครือข่ายโทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อกันได้ทั่วโลกอยู่แล้วเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระบบการโทรคมนาคมนานาชนิด ซึ่งรวมถึง Internet ด้วย

หมายเหตุ Worldwide เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ทั่วโลก ทั้งโลก ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่กระจายหรือแผ่ขยายไปทั่วโลก

WAP เป็นคำที่เกิดจากการนำอักษรตัวแรก ของคำ ๓ คำ มาเรียงต่อกัน ให้เป็นคำที่จำได้ง่ายขึ้น คำเต็มคือ Wireless Application Protocol ซึ่งอาจจะแปลแบบตรงไปตรงมา ว่า ข้อกำหนดของการประยุกต์ใช้เครื่องมือไร้สาย แต่ผู้อ่านก็คงจะเข้าใจได้ยาก เช่นเดียวกัน จึงต้องใช้คำอธิบายว่า เกี่ยวข้องกับอะไร และอย่างไร เช่นเดียวกับ WWW ที่กล่าวมาแล้ว ดังนี้

WAP ในความหมายของผู้เขียน คือเทคโนโลยีใหม่ ที่เป็นบริการแก่ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (โทรศัพท์มือถือ ) ให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน Internet และบริการทางด้านโทรคมนาคมรูปแบบอื่น ๆได้ โดยไม่ต้องนำโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใด ๆ ให้ยุ่งยาก แต่ผู้ใช้ ต้องจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการ นอกเหนือจากค่าบริการปกติ สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่

ตัวอย่างของบริการใน WAP ได้แก่ บริการด้านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ บริการด้านข่าวสารทางธุรกิจ บันเทิง กีฬา การท่องเที่ยว สภาพอากาศ สภาพการจราจร และบริการด้านเกมต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้ง Web และ WAP ต่างมีแหล่งข้อมูล และบริการ ที่ผู้ใช้ต้องการมากมาย แหล่งดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Sites ซึ่งแปลว่า ที่ตั้ง หรือ ทำเล จึงเป็นที่มาของ Web Sites กับ WAP Sites ให้พิจารณาเพิ่มเติม ตามลำดับ ดังนี้

Web Sites แปลว่า ที่ตั้งของใยแมงมุม ซึ่งคงจะทำให้คนไทยที่อยู่กับธรรมชาติที่เห็นใยแมงมุมอยู่เป็นประจำ สงสัยได้ว่า ใยแมงมุม นั้น ขึงอยู่ระหว่าง กิ่งไม้ หรือ ต้นไม้ แล้วทำไมถึงเรียกว่าที่ตั้ง ของใยแมงมุม การเข้าใจแบบนี้นั้น ย่อมไม่ตรงกับความหมายที่ใช้ในโลก Internet ที่หมายถึงที่ตั้งของ ผู้ให้บริการข้อมูลในระบบ Internet เช่น tv5.co.th ซึ่งตั้งอยู่ที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ที่สนามเป้า หรือ rta.mi.th ซึ่งตั้งอยู่ที่กองบัญชาการ กองทัพบก ข้างตึกองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เป็นต้น

Web Sites จึงเป็น นามธรรม ที่ระบุว่ามีแหล่งข้อมูลอยู่ในระบบ Internet ณ ที่ตั้งต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจจะมองอย่างรูปธรรมว่า ที่ตั้งนั้นคือ จุดที่ตัดกันของ ใยแมงมุม ระหว่างเส้นหลักที่ขึงจากจุดศูนย์กลาง กับ เส้นที่โยงระหว่างเส้นหลักเหล่านั้น เช่นนี้จะเห็นว่า ใยแมงมุมทุกเส้น เป็นสื่อที่ทำให้ติดต่อถึงกันได้ ระหว่างจุดตัดที่เป็นที่ตั้งของแหล่งข้อมูลทั้งมวล

WAP Sites มีความหมายโดยอนุโลม เช่นเดียวกับ Web Sites คือ หมายถึงที่ตั้งของ แหล่งบริการข้อมูลของระบบ WAP ที่ผู้รับบริการ สามารถเข้าไปรับบริการได้ ด้วยระเบียบพิธีการ หรือข้อกำหนดที่ผู้ให้บริการตั้งไว้