เล็กกว่าไวรัสก็ไม่รอดสายตา'เอ็มอาร์ไอ'



เล็กกว่าไวรัสก็ไม่รอดสายตา'เอ็มอาร์ไอ'




เอ็มอาร์ไอ หรือเครื่องถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารุ่นล่าสุด ให้ความละเอียดภาพเหนือกว่าเอ็มอาร์ไอที่ใช้ตามโรงพยาบาลทั่วไปถึง 100 ล้านเท่า
เครื่องเอ็มอาร์ไอที่ให้ภาพความละเอียดสูงขึ้น ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ไขความลี้ลับของโครงสร้างและอันตรกิริยาของโปรตีน ปูทางไปสู่การรักษาโรคเฉพาะบุคคลมากขึ้น รวมถึงการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์เฉพาะกับเป้าหมายที่กำหนด อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อวงการวัสดุศาสตร์ด้วย ทำให้เข้าใจโครงสร้างระดับอะตอม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

เครื่องเอ็มอาร์ไอความละเอียดสูง สำเร็จได้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า กล้องจุลทรรศน์คลื่นแม่เหล็ก หรือเอ็มอาร์เอฟเอ็ม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับแรงแม่เหล็กที่แผ่วเบามาก
ปัจจุบัน ทีมวิจัยของไอบีเอ็มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเอ็มอาร์เอฟเอ็ม ให้ตรวจจับได้ละเอียดยิ่งขึ้น และเมื่อนำไปรวมกับเทคนิคประกอบภาพสามมิติที่ล้ำหน้า ช่วยให้ทีมวิจัยสาธิตการใช้เอ็มอาร์ไอสแกนวัตถุชีวภาพที่เล็กระดับนาโนเมตรได้ เทคนิคนี้ถูกนำไปใช้กับไวรัสก่อโรคต้นยาสูบ และได้ภาพที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (1 นาโนเมตร = 1/1,000 ล้านเมตร ส่วนไวรัสยาสูบมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 นาโนเมตร)

เอ็มอาร์ไอรูปแบบใหม่ทำงานต่างจากเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอทั่วไป ที่ใช้ขดลวดเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยนักวิจัยไอบีเอ็มเปลี่ยนมาใช้เอ็มอาร์เอฟเอ็มตรวจจับกำลังคลื่นแม่เหล็กขนาดเล็ก ขณะที่วางไวรัสตัวอย่างไว้บนคานจิ๋ว ซึ่งทำจากซิลิโคนรูปร่างคล้ายกระดานกระโดดสระน้ำ





ข้อมูล หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552