เครื่องปอกกระเทียม..หนึ่งเดียวในไทย



เครื่องปอกกระเทียม..หนึ่งเดียวในไทย




สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัวเทคโนโลยีปอกเปลือกกระเทียม 1 ชั่วโมงได้ผลผลิตเท่าแรงงาน 100 คน ลดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคจากมือสัมผัส

นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ นักวิชาการประจำฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า เครื่องปอกเปลือกกระเทียมเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานปอกเปลือกกระเทียม โดยเครื่องต้นแบบมีกำลังผลิต 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ทดแทนแรงงานได้ 100 คน เครื่องปอกเปลือกกระเทียมดังกล่าว สามารถแยกเปลือกและเนื้อจากกันได้อย่างสิ้นเชิง โดยที่เนื้อกระเทียมไม่ช้ำ ไม่แตกหักเสียหายและที่สำคัญลดโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคจากการสัมผัส จึงเหมาะใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และอุตสาหกรรมเครื่องเทศ ที่ต้องการความสะอาดมากเป็นพิเศษ นักวิจัยใช้เวลาพัฒนาเครื่องต้นแบบประมาณ 1 ปี ควบคุมการทำงานด้วยระบบนิวเมติกแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ ตัวเครื่องประกอบขึ้นด้วยวัสดุสเตนเลส จึงไม่เป็นพิษต่ออาหาร แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนของเครื่องสูงถึง 1.5 - 2.0 แสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาปรับลดขนาดจากเครื่องต้นแบบ ที่เน้นใช้ในภาคอุตสาหกรรม มาเป็นเครื่องขนาดเล็กสำหรับครัวเรือน และที่มีราคาอิงกับเครื่องปั่นบดอาหารในท้องตลาด รวมทั้งเครื่องปอกเปลือกขนาดกลางสำหรับภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ในราคาประมาณ 5 - 6 หมื่นบาท เพื่อครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มในอนาคต หลักการทำงานของเครื่องอาศัยแรงลมแบบกระแสลมแปรปรวน ทำให้เกิดการขัดสีระหว่างกลีบกระเทียมด้วยกัน รวมทั้งระหว่างกลีบกระเทียมกับผนังด้านใน กระทั่งเปลือกร่อนออกจากเนื้อ จากนั้นเปลือกจะถูกลมเป่าไปยังภาชนะที่เตรียมไว้ ทั้งนี้ ความแรงลมที่ออกแบบไว้ผ่านการศึกษาและคำนวณไว้แล้ว จึงไม่ทำให้เนื้อกระเทียมเสียหาย นางอัญชลี กมลรัตนกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า เครื่องปอกเปลือกกระเทียมนี้พร้อมจะต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งแบบผลิตเครื่องจำหน่าย หรือขายต่อสิทธิบัตรการผลิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการกระเทียมเจียวและน้ำพริกสำเร็จรูป ที่สนใจใช้งานเครื่องโดยตรง เครื่องปอกเปลือกกระเทียมดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ





ข้อมูล หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552