มีเพื่อนสมาชิกต่างแดนบางท่าน อยากทราบผลได้ผลเสียของการสละสัญชาติไทย กรณีสมรสกับคนต่างด้าว แล้วอยากเปลี่ยนสัญชาติตามสามี กะเลยเอามาฝาก ซั่นดอกวา..

ผลได้ผลเสียของการขอสละสัญชาติไทยกรณีสมรสกับคนต่างด้าว

ถ้าคุณแต่งงานกับคนต่างด้าว และมีความประสงค์จะทำเรื่องขอสละสัญชาติไทย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งควรนำมาพิจารณาให้เข้าใจเงื่อนไขโดยถ่องแท้ก่อนที่จะตัดสินใจ

ข้อดี
ข้อดีของการสละสัญชาติไทยคือ ทำให้สามีภรรยาเป็นบุคคลสัญชาติเดียวกันทั้งครอบครัว และคุณได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายของประเทศของคู่สมรส เช่นสามารถทำพาสปอร์ตของประเทศนั้นๆ ได้ และได้สิทธิในการตรวจลงตราวีซ่าในบางประเทศ ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลทำไว้

ข้อเสีย
ตามกฏหมายสัญชาติของบางประเทศ ไม่ยินยอมให้คุณถือสองสัญชาติ ดังนั้นคุณต้องทำเรื่องสละสัญชาติไทยก่อน เพื่อดำเนินการแปลงสัญชาติตามคู่สมรส แต่หลายประเทศไม่มีข้อห้ามเรื่องการถือสองสัญชาติ ดังนั้นคุณก็ยังคงสัญชาติไทยไว้ได้ ไม่ต้องทำเรื่องขอสละสัญชาติแต่อย่างใด

การสูญเสียสัญชาติไทยนั้น จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นสถานภาพของคุณก็จะกลายเป็น “คนต่างด้าว” ในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลดังนี้คือ

• กระทรวงมหาดไทยจะคัดรายชื่อคุณออกจากฐานทะเบียนราษฏร์ คุณก็จะไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ไทย พาสปอร์ตไทยอีกต่อไป
• เวลาคุณเดินทางเข้าประเทศไทย คุณต้องทำตามข้อกำหนดเรื่องวีซ่าที่ไทยมีกับประเทศที่คุณถือสัญชาติเขา เช่น ต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวถ้าจะอยู่เกินกำหนด ฯลฯ คุณไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ทีละนานๆ ตามใจฉันอีกต่อไป
• หากคุณไปตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน คุณไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ เพราะคุณไม่ใช่คนไทยแล้ว คุณต้องไปขอความช่วยเหลือ จากสถานกงสุลของประเทศที่คุณถือสัญชาติเขาเท่านั้น
• คุณไม่มีสิทธิในออกเสียงการเลือกตั้ง หรือกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง
• การประกอบอาชีพอิสระในประเทศไทย มีข้อจำกัดว่าคนต่างด้าวทำอะไรได้แค่ไหน เมื่อคุณเป็น “คนต่างด้าว” แล้ว คุณก็จะถูกจำกัดสิทธิเรื่องนี้ด้วย ดูรายละเอียดจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2551
• การถือครองที่ดิน ต้องเป็นไปตามประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งกำหนดว่า คนต่างด้าวที่ต้องการถือครองที่ดินในประเทศไทย จะต้องนำเงินมาลงทุนในไทย ไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท และต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจะสามารถถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกินหนึ่งไร่ หากคุณได้รับมรดกเป็นบ้านหรือที่ดิน คุณไม่สามารถถือครองได้ ต้องขายออกไปภายในหนึ่งปี
• การถือครองอาคารชุด ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด
นอกจากนั้นสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวในเรื่องอื่นๆ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฏหมาย


การขอคืนสัญชาติไทย
กฏหมายสัญชาติของไทยได้กำหนดให้ชายหรือหญิงที่มีสัญชาติไทย และได้ทำเรื่องขอสละสัญชาติไทยในกรณีที่สมรสกับคนต่างด้าว ถ้าการสมรสนั้นสิ้นสุด ย่อมมีสิทธิขอคืนสัญชาติไทยได้ โดยให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งหลักฐานประกอบคำร้อง ถ้าคุณยื่นคำร้องในไทย ให้ยื่นต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ถ้าคุณยื่นคำร้องในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อกงสุลไทยในประเทศที่คุณอยู่

สรุปว่า
ถ้าหากประเทศที่คู่สมรสของคุณถือสัญชาติอยู่นั้น ไม่มีข้อห้ามเรื่องการถือสองสัญชาติ คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขอสละสัญชาติไทย แต่ถ้าหากประเทศที่คุณไปอยู่นั้นมีข้อบังคับว่า คุณต้องทำเรื่องสละสัญชาติไทยก่อน จึงจะแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติของเขาได้ อย่างนี้ก็ต้องพิจารณานะครับ ทีนี้ถ้าหากคุณมีลูก ควรทำการแจ้งเกิดและขอสัญชาติไทยให้ลูกไว้ก่อน เด็กจะสามารถถือสองสัญชาติได้จนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ จากนั้นจะต้องเลือกว่าจะถือสัญชาติใด ถ้าเลือกที่จะสละสัญชาติไทยก็ค่อยทำตอนนั้น ทั้งนี้ผลดีของการขอสัญชาติเอาไว้ตั้งแต่ต้นคือ มีหลักฐานว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศแล้ว หากจะขอคืนสัญชาติไทยในภายหลัง ก็จะทำได้ง่ายกว่า คนที่ไม่เคยมีหลักฐานการแจ้งเกิดเลย