‘ครัว’คนตาพิการ





ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กันไป 3 ด้านแล้ว วันนี้ขอตบท้ายที่รางวัลด้านพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งผลงานที่คว้ารางวัลดีเยี่ยมได้แก่ “ครัวสำหรับคนพิการทางการเห็น” ของ ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฏอินทร์ และคณะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยาลัยราชสุดา
มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นหรือผู้สูงอายุที่ตาพร่ามัวก็สามารถใช้ได้ เรียกว่าทำให้คนกลุ่มนี้สามารถช่วยตัวเองได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยการลดการพึ่งพาบุคคลอื่น หรือช่วยผ่อนคลายภาระให้กับผู้ดูแลลงได้บ้างแล้ว ยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองอีก

ทั้งนี้ ครัวจริงใช้วัสดุเป็นโครงไม้แผ่น mdf แผ่นโฟเมก้า หินแกรนิตสังเคราะห์ และอุปกรณ์ต่างๆ นำมาประกอบกันเข้าเป็นบานตู้เคาน์เตอร์ที่เป็นบานเลื่อน ทำให้เปิด-ปิดง่าย มีความปลอดภัย ไม่กีดขวางการทำครัว มีมือจับบานเลื่อนเป็นแบบเซาะร่อง ช่วยให้บานตู้เปิดกว้างไม่ติดขัดกับมือจับของบานตู้อีกด้านหนึ่ง มือจับลิ้นชักเป็นมือจับแบบตัว c มีลักษณะโค้งมน ทำให้ไม่เกี่ยวหรือกระแทกเวลาใช้งาน

นอกจากนี้ความสูงของตู้ลอยอยู่ในระยะที่สามารถเอื้อมหยิบได้สะดวก ชั้นวางของบนตู้ลอยมีการยกขอบเพื่อกันของตกหล่น ขอบผิวบนเคาน์เตอร์มีการลบมุมลบคม ทำให้ลดอันตรายที่เกิดจากการกระแทก ขณะเดียวกันยังใช้คู่สีตัดกันสำหรับคนสายตาเลือนราง เพื่อช่วยให้เห็นชัดเจนขึ้น ส่วนสวิทซ์เปิด-ปิดของเครื่องใช้ไฟฟ้ามีพื้นผิวต่างสัมผัส และใช้คู่สีตัดกันเพื่อให้คนตาบอดและคนสายตาเลือนรางใช้ได้

ส่วนพื้นหน้าตู้เตี้ยหรือเคาน์เตอร์เก็บของ ออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับก้มหรือนั่ง ใช้ได้งานสะดวกและปลอดภัย สำหรับวัสดุปูพื้นและผนังในห้องครัวได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยและทำความสะอาดง่าย ที่สำคัญคือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้สามารถซื้อหาได้ทั่วๆไป

ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานดีๆสำหรับ “ครัวสำหรับคนพิการทางการเห็น” เพราะเท่ากับมีส่วนช่วยให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสใช้ครัวร่วมกับคนปรกติได้อย่างสบายๆ เพราะการที่ออกแบบมาให้ใช้ได้กับคนทุกคน






จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ประจำวัน ที่ 23 มกราคม 2009