13 สมุนไพร 'ไม่อันตราย'


เล่น เอาสะเทือนกันทั้งแผ่นดิน ตั้งแต่ผู้ปลูกยันผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข



ส่วน ใหญ่เป็นสมุนไพรคู่ครัว หลายรายการนำไปใช้ทำสารกำจัดศัตรูพืชได้ แม้ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะถอยไปทบทวน ทำประชาพิจารณ์ก่อน แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อความรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ผลิตสินค้าด้านสมุนไพร มีผู้สอบถามเข้าไปกันมากว่าจะยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เหมือนเดิมหรือไม่



เรื่องนี้ต้องฟังคำยืนยันให้มั่นใจจากแพทย์และเภสัชกรของโรงพยาบาลดังกล่าวกัน



นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ กล่าวว่าของเหล่านี้เราใช้กันมานานแล้วจนรู้ว่าจะใช้อย่างไร การมาอ้างว่าจะควบคุมคุณภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับความเป็นอันตราย ที่จริงสมุนไพรเหล่านั้นไม่ใช่วัตถุอันตราย จะกินเป็นอาหารก็ดีหรือเพื่อรักษาโรคบางอย่างก็ดี เพื่อสร้างเสริมสุขภาพก็ไม่มีปัญหา เราอาจต้องเรียน รู้สักหน่อยว่าต้องกินมากน้อยแค่ไหน ตัวไหนเหมาะสำหรับโรคอะไร แต่ส่วนที่ว่าจะเข้ามาดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะในการขจัดศัตรูพืชนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นอันตรายเลย แต่กลัวด้อยคุณภาพ คนแค่ฟังก็กลัว ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบพอสมควรแล้ว ถ้าไม่ได้แก้ไขให้เกิดความเข้าใจก็จะอยู่ยาว



ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า ประกาศฉบับนี้เป็นการตีตราสมุนไพรไทยว่าเป็นอันตราย ส่งผลต่อประชาชนที่มีความรู้น้อยเกี่ยวกับสมุนไพร และความรับรู้ของคนรุ่นหลังต่อสมุนไพรไทยจะเป็นไปในทางลบ ขอเสนอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวโดยเร่งด่วน ขอให้มีมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของสังคมทุกระดับถึงความปลอดภัยของพืช สมุนไพรตามความเป็นจริงให้กลับมาอย่างเร่งด่วน และขอให้มีการส่งเสริมการผลิตสมุนไพรเกษตรอินทรีย์รวมถึงพัฒนาการใช้สมุนไพร ทดแทนสารพิษอย่างจริงจัง


สรุปว่าคนที่ยังลังเลก็ขอให้เข้าใจกันว่ายังกินใช้สมุนไพรต่างๆ ได้อยู่ ขิงข่า ก็ยังใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขมิ้นชัน ก็ยังแก้อาการท้องเดินที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวา ตกโรคได้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราเคยกินใช้กันมา อย่าได้ตื่นตระหนกไป.

โค้ด PHP:
http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology&content=124480