สวทช.ขึ้นบัญชี 11 โรคอุบัติใหม่ที่ต้องจับตา




สวทช.ขึ้นบัญชี 11 โรคอุบัติใหม่ที่ต้องจับตา




สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเวทีวิชาการ "ระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่พึงประสงค์ของประเทศไทย" โดย พ.อ.นพ.ราม รังสินธุ์ นักวิจัยโครงการระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า จากการประเมินความเสี่ยงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบ 11 โรคที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในไทย

ประกอบด้วย ซาร์ส ไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบ (Japanese B Encephalitis) นิปาห์ไวรัส (NippaH Virus) ฮานตาไวรัส (Hanta Virus) เวสต์ไนล์ไวรัส (West Nile Virus) ไข้กาฬหลังแอ่น มือเท้าปาก โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ลิซมาเนีย (Leishmania) และอุจจาระร่วงจากเชื้ออี.โคไล O157 นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังโรคใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย

"นักวิทยาศาสตร์คาดว่าโรคอุบัติใหม่อาจจะระบาดขึ้นมาอีก โดยเฉพาะโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่ซับซ้อนและยากต่อการจัดการ จึงจำเป็นต้องมีระบบเฝ้าระวังและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ" พ.อ.นพ.ราม กล่าว

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่น่าเป็นห่วงมากสุด โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาแพร่ระบาดในไทย ทั้งยังมีโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์จากที่เคยระบาดครั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ไทยมีความก้าวหน้าในวิธีการตรวจวินิจฉัยทั้ง 11 โรค ไม่จำเป็นต้องพัฒนาชุดตรวจเฉพาะ อีกทั้ง สวทช.ก็มีฐานข้อมูลโมเลกุลของเชื้ออุบัติใหม่แต่ละชนิด สามารถนำไปอ้างอิงหรือต่อยอดศึกษา เพื่อดูการกลายพันธุ์รวมถึงพัฒนาวิธียับยั้งการทำงานของเชื้อ

ด้าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวเน้นความสำคัญกับระบบเฝ้าระวังว่า ไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยเน้นไปที่ 3 ปัจจัยหลักที่ต้องทำงานประสานกันคือ แหล่งความรู้ สังคม และการเมือง

"ภาคความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยวิชาการ ต้องสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ภาคสังคมต้องช่วยกันเอาใจใส่ สอดส่องดูแลความผิดปกติ ขณะที่ภาคการเมืองต้องรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อให้เห็นภาพทั้งระบบ ก่อนที่จะวางนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"