ลูกหนังผู้ดีเตรียมถกเพิ่มเวลาระหว่างพักครึ่ง




ลูกหนังผู้ดีเตรียมถกเพิ่มเวลาระหว่างพักครึ่ง




คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (ไอเอฟเอบี) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของสมาคมฟุตบอล (เอฟเอ) จากประเทศในสหราชอาณาจักรคือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) เตรียมประชุมกันในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับ

กฏระเบียบต่างๆวงการฟุตบอล โดยมีประเด็นอื้อฉาวที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปคือข้อเสนอจะเพิ่มเวลาพักครึ่งจาก 15 นาที เป็น 20 นาที ซึ่งเป็นการผลักดันของ ฟีฟา องค์กรใหญ่ที่กังวลว่าผู้เล่นและกรรมการไม่มีเวลาพักมากพอในการเดินจากสนามกลับเข้าสู่ห้องแต่งตัว

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่าการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ทำไปเพื่อผลประโยชน์แก่วงการโทรทัศน์ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของประเทศอังกฤษที่ได้ค่าโฆษณาเมื่อช่วงฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดถึงนาทีละ 300,000 ปอนด์ (ประมาณ 15 ล้านบาท) และยิ่งเกมเป็นเกมที่ "สิงโตคำราม" ลงสนามก็ได้เงินเพิ่มเป็นนาทีละ1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 53 ล้านบาท) ดังนั้นจึงชัดเจนว่า ฟีฟา คำนึงถึงเชิงพาณิชย์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลโลกปี 2010 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ต้องทำการตลาดในประเทศแถบทวีปยุโรปเนื่องผลกระทบจากความแตกต่างกันของเวลา

มัลคอล์ม คลาร์ก ประธานสหพันธ์แฟนบอลแห่งเมืองผู้ดี ออกมากล่าวโจมตีข้อเสนอดังกล่าวว่า "หากการพิจารณาเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานเชิงพาณิชย์ แฟนบอลส่วนใหญ่จะต่อต้านแน่นอน" พร้อมกล่าวอีกว่า "เมื่อหลายปีก่อนเคยเป็นเวลาเพียง 10 นาที ต่อจากนั้นก็เพิ่มเป็น 15 นาที แล้วสุดท้ายจะสิ้นสุดลงตรงจุดใด" ขณะที่ประเด็นอื่นที่จะมีการหารือกันและพิจารณากันได้แก่การนำเทคโนโลยีวิดีโอภาพมาใช้บริเวณเส้นประตูเพื่อตัดสินจังหวะปัญหา ข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพิ่มเป็นรายที่ 4 เมื่อเข้าสู่ช่วงของต่อเวลาพิเศษและการระบุอย่างชัดเจนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันต่อจังหวะการล้ำหน้า เป็นต้น โดยข้อเสนอที่ยื่นเข้ามาพิจารณาจะได้รับการรับรองต่อเมื่อมีเสียงเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 2 จาก 4 สมาคมของแต่ละประเทศยกเว้นจาก ฟีฟา

อย่างไรก็ตาม แผนการที่จะใช้กล้องตรวจจับบริเวณเส้นประตูก็เคยไม่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของ ฟีฟา ในการประชุมเมื่อปีก่อน แต่การนำเรื่องมาพิจารณาอีกครั้งในปีนี้ทำไปเพื่อหารือกันมากกว่าการลงมติเห็นชอบ โดยบางฝ่ายต้องการให้มีการใช้เทคโนโลยี "ฮอว์กอาย" (HawkEye) เช่นเดียวกับวงการเทนนิสและคริกเก็ต