แสงซินโครตรอนวิเคราะห์สเต็มเซลล์




“เซลล์ต้นกำเนิด” หรือ “สเต็มเซลล์” (stem cells) เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ทั่วโลกเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และความเคลื่อนไหวเมื่อเร็วๆนี้ของผู้นำสหรัฐคนใหม่ ที่สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำเก่า จึงทำให้สเต็มเซลล์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

ในกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดและกระตุ้นให้เป็นเซลล์ประสาท หรือขั้นตอนที่ต้องเลือกเซลล์ประสาทเพื่อนำไปใช้ในการศึกษา จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบคัดเลือกเซลล์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อไม่เกิดความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งปัจจุบันการคัดเลือกเซลล์ประสาทใช้เทคนิคการย้อมเซลล์ด้วยแอนติบอดีที่ติดกับสารเรืองแสง (Immuno-hisotchemical Staining)

เวลานี้นักวิจัยไทยนำเทคนิคด้านแสงซินโครตรอนมาใช้กับงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์แล้ว เป็นทีมงานของ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิจัยของสถาบันแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) ผศ.ดร.รังสรรค์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโมนาร์ชของออสเตรเลีย ได้ทดลองและพัฒนาเทคนิคการตรวจจำแนกเซลล์ประสาทที่พัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดของหนู โดยอาศัยแสงซินโครตรอนในย่านรังสีอินฟราเรดเรียกว่า เทคนิคเอฟที-ไออาร์ (Synchotron FT-IR microspectroscopy) ซึ่งปรากฏว่าช่วยคัดแยก หาปริมาณ วิเคราะห์ได้เร็วกว่า ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณสำหรับซื้อเคมี และไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมตัวอย่าง