เคมีสมองเพิ่มฤทธิ์ตั๊กแตน





นิตยสารไซเอินซ์รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย ที่พบเคมีกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของตั๊กแตนในทะเลทราย จากที่ชอบอยู่ตามลำพัง ไร้พิษสง ให้กลายเป็นฝูงตั๊กแตนที่มีศักยภาพสูง ทำลายพืชไร่ของเกษตรกรให้วอดวายได้อย่างรวดเร็ว พฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากการกระตุ้นของเคมีสมองที่เรียกว่าซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในมนุษย์ว่าเป็นสารสื่อประสาทอย่างหนึ่ง และเป็นเป้าหมายของยาต้านโรคซึมเศร้า

การค้นพบครั้งนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรจนเสียหายในพื้นที่ 20% ของโลกได้ เพราะตั๊กแตนจะบินกันมาเป็นฝูงใหญ่หลายพันล้านตัว และสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ของแอฟริกา จีนและอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วแมลงดังกล่าวมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ตามลำพังและไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่จากการขาดแคลนอาหาร ทำให้มันค่อยๆเข้ามารวมกลุ่มกันและกลายเป็นฝูงที่ดุร้ายรุนแรงขึ้น ซึ่งก่อนที่จะรวมตัวกันนั้นตั๊กแตนทะเลทรายนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้วย โดยมีสีสันลำตัวเข้มขึ้นและกล้ามเนื้อแข็งแรงกำยำขึ้นกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นที่สงสัยของเหล่านักวิจัยมากว่า 90 ปี นักวิจัยทีมล่าสุดจึงได้พยายามค้นหาสัญญาณเคมีที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในห้องทดลอง โดยสะกิดเบาๆที่ขาหลังของตั๊กแตนเพื่อกระตุ้นความรู้สึกเหมือนอยู่เบียดเสียดกันเป็นฝูงใหญ่ พบว่ามีการหลั่งสารซีโรโทนินในระบบประสาทออกมามากถึง 3 เท่าของตั๊กแตนตัวที่อยู่ตามลำพัง

การค้นพบนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์ควบคุมตั๊กแตนได้ เช่น การพัฒนาเคมีที่ยับยั้งซีโรโทนินและเปลี่ยนฝูงตั๊กแตนให้กลายเป็นเหมือนอยู่ตัวเดียวโดดๆ ซึ่งต่างจากในมนุษย์ที่การรักษาระดับซีโรโทนินไว้ที่ระดับสูงเป็นเป้าหมายของยาต้านโรคซึมเศร้า ลดความกังวล และช่วยผ่อนคลาย