น้ำทะเลขึ้น1ม.สูงเกินคาดการณ์




นักวิทยาศาสตร์ทีมศาสตราจารย์คอนราด สเตฟเฟน แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ศึกษาน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกบริเวณขั้วโลกเหนือมาเป็นเวลา 35 ปี และเข้าร่วมการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในนครโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก เปิดเผยว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ipcc) ขององค์การสหประชาชาติ (un) เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์สเตฟเฟนชี้ว่า ไอพีซีซีคาดการณ์ในรายงานการประเมินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกครั้งที่ 4 ปี 2007 ว่าระดับน้ำทะเลจะปรับขึ้นเพียง 59 เซนติเมตรภายในปี 2100 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ไม่ได้รวมผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกและการแตกตัวของน้ำแข็งเข้าไปด้วย ในขณะที่การศึกษาใหม่ๆที่เจาะลึกถึงการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์แสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาน้ำแข็งละลายลงไปอย่างรวดเร็วและทำให้คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 0.9-1.2 เมตรภายในปี 2100 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายและจำเป็นต้องเร่งรีบหาทางรับมือ โดยเตือนว่าจะส่งผลให้ประชากรหลายล้านคนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ต่ำและใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของประชากรโลกหรือประมาณ 600 ล้านคน

ด้านจอห์น เชิร์ช แห่งศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า การวิจัยล่าสุดพบว่าระดับน้ำทะเลปรับเพิ่มขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปีมาตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ผลลัพธ์นี้ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่ไอพีซีซีแสดงให้เห็นว่าไม่ควรจะมองข้ามการละลายและปริมาณน้ำแข็งที่ลดลงไป และพบว่าธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และขั้วโลกใต้เป็นสาเหตุทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่าและเร็วกว่าที่เคยคิด ขณะที่ศาสตราจารย์สเตฟาน แรมสตอร์ฟ แห่งสถาบันวิจัยผลกระทบของสภาพภูมิอากาศพอตส์แดม คาดว่าระดับน้ำทะเลจะยิ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่โลกร้อนขึ้น